‘วิ่งจ็อกกิง’ ลดความเสี่ยง ‘ข้อเข่าเสื่อม’ คนเนือยนิ่งยิ่งเพิ่มเสี่ยง
มีข้อมูลที่น่าสนใจ จากการศึกษาติดตามคน 3 กลุ่ม พบว่า “คนเนือยนิ่ง” กลับมีความเสี่ยงเกิด “ข้อเข่าเสื่อม”มากกว่าคนจ็อกกิง
KEY
POINTS
- ผลการศึกษาพบข้อมูล “คนพฤติกรรมเนือยนิ่ง” เสี่ยง “ข้อเข่าเสื่อม” มากกว่าคนที่วิ่งจ็อกกิง แต่คนวิ่งมาราธอน นักวิ่งอาชีพเสี่ยงที่สุด
- แนวโน้มพฤติกรรมเนือยนิ่งคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปี ไม่เพียงข้อเข่าเสื่อม แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงสารพัดโรค จากการไม่ขยับร่างกาย
- ประเทศไทยควรเร่งผลักดัน “กิจกรรมทางกาย” ให้เป็นวาระสำคัญระดับชาติและสร้างความร่วมมือ เพื่อลดช่องว่าการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเสมอภาค
ผศ.นพ.กุลพัชร จุลสำลี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ให้ข้อมูลกรุงเทพธุรกิจว่า มีรายงานการศึกษาจากการติดตามคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่มีภาวะเนือยนิ่ง ไม่วิ่งเลย กลุ่มที่วิ่งในระดับออกกำลังกายทั่วไป และกลุ่มที่วิ่งอาชีพ นักกีฬาวิ่ง จนถึงตอนมีอายุมากเพื่อดูว่ามีคนเป็น ข้อเข่าเสื่อม กี่เปอร์เซ็นต์ พบว่า
- กลุ่มที่วิ่งแบบออกกำลังกายทั่วไป หรือวิ่งจ็อกกิง วิ่งไม่เกิน 96 กิโลเมตรต่อสัปดาห์จะเจอน้อยที่สุดเพียง 3-4 %
- ส่วนกลุ่มที่วิ่งอาชีพเกิน 90 กิโลเมตรต่อสัปดาห์จะมีความเสี่ยงมากที่สุดอยู่ที่ 13-14 %
- แต่กลุ่มที่ไม่วิ่งเลยหรือคนที่เนือยนิ่งจะมีความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม 7-8 % ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่วิ่งแบบออกกำลังกายทั่วไป
“คนที่มีภาวะเนือยนิ่ง ลักษณะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ความแข็งแรงของมวลกระดูกน้อยกว่ากลุ่มที่แบ่งเวลามาออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างชัดเจน เพราะโครงสร้างกระดูกจะมีความแข็งแรง ต้องมีแรงกระทำ ที่เรียกว่าชีวกลศาสตร์บริเวณกระดูกและข้อ คนที่เนือยนิ่งจึงมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะบาดเจ็บง่าย กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบง่าย น้ำหนักตัวมากมีโอกาสทำให้บาดเจ็บข้อต่อต่างๆ” ผศ.นพ.กุลพัชรกล่าว
ผศ.นพ.กุลพัชร กล่าวด้วยว่า คนที่เป็นข้อเข่าเสื่อมแล้วแต่ไม่มากก็แนะนำให้ออกกำลังกาย เดิน เดินเร็ว หรือวิ่งจ็อกกิง จะทำให้การขัดในข้อดีกว่า ส่วนการรักษาข้อเข่าเสื่อมขึ้นกับภาวะของโรคหากน้อยมาก หรือกลาง จะเน้นดูแลตัวเอง ให้มีการปรับพฤติกรรม ลดกิจกรรมที่ให้เข่าแย่ การใช้ยา เสริมสร้างข้อเข่า เป็นต้น และมากที่สุด ที่มีเข่าผิดรูป เข่าโกง เก งอ เหยียดได้ไม่สุด พับเข่าได้นิดหน่อย มีความผิดปกติของโครงสร้างข้อเข่าไปมาก ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
10 ปีคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง
ขณะที่จากรายงานของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับ “จำนวนเวลาการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งของประชากรไทยต่อวันระหว่างปี 2555-2566” กลับพบว่า คนไทยมีแนวโน้มพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น
- ปี 2555 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.29 ชั่วโมง
- ปี 2556 พฤติกรรมเนือยนิ่ง13.15 ชั่วโมง
- ปี 2557 พฤติกรรมเนือยนิ่ง13.42 ชั่วใมง
- ปี 2558 พฤติกรรมเนือยนิ่ง14.08 ชั่วโมง
- ปี 2559 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.48 ชั่วโมง
- ปี 2560 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.33 ชั่วโมง
- ปี 2561 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 14.15 ชั่วโมง
- ปี 2562 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.47 ชั่วโมง
- ปี 2563 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 14.32 ชั่วโมง
- ปี 2565 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 15.05 ชั่วโมง
- ปี 2566 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 14.33 ชั่วโมง
และการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ได้ส่งผลต่อโรคกระดูกและข้อเท่านั้น แต่การนั่งมีผลเสียมากกว่าที่คิดหากมีการสะสมมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะซึมเศร้า 47 %
หากมีติดต่อกันเกินกว่า 2 ชั่วโมงจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก 10 % มะเร็งลำไส้ 8 % และ มะเร็งปอด 6 % ,ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นวิถี เพิ่มโอกาสที่จะนำไปสู่การเป็น โรคเบาหวาน 112 %
หากมีการติดต่อกันนานกว่า 90 นาทีเป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึง 2 เท่าตัว และหากมีสะสมมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 147 %
“กิจกรรมทางกาย”ควรเป็นวาระสำคัญระดับชาติ
ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า กิจกรรมทางกายของคนไทยยังแกว่งตัว รวมถึงยังคงมีข้อท้าทายเพื่อไปถึงเป้าหมายทางสุขภาพในทุกกลุ่มวัย ในเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอน้อย จำเป็นต้องได้รับการให้ความสนับสนุนเป็นพิเศษ และสถานการณ์การเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชากรไทย การดำเนินนโยบายในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของไทยที่มีคะแนนต่ำที่สุด 3 อันดับแรก คือ
- การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน(Workplace)
- การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ(Whole-of-school approach)
- และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐานCommunity-wide Programmes
นโยบายหลายประการจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างและบูรณาการความร่วมมือให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน และสถานที่ทำงาน หรือการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทั่วถึง เป็นต้น
“จากที่ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก(WHO) เห็นว่าควรเร่งผลักดันกิจกรรมทางกายให้เป็นวาระสำคัญระดับชาติและสร้างความร่วมมือ เพื่อลดช่องว่าการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเสมอภาค”นพ.ไพโรจน์กล่าว