ไทย ‘ความเป็นพ่อแม่’ ต่ำ ผลประเมินได้เพียง 20 คะแนน

ไทย ‘ความเป็นพ่อแม่’ ต่ำ ผลประเมินได้เพียง 20 คะแนน

ผลประเมินระดับนานาชาติพบไทยมีคะแนนด้านความเป็นพ่อแม่ต่ำได้เพียง 20 คะแนน เหตุกฎระเบียบไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร -ระบบช่วยแบ่งเบาภาระไม่ครอบคลุมและเพียงพอ ขณะที่ “หนี้ครัวเรือน”กระทบโดยตรงต่อการมีบุตร หนุนแก้ 4 มิติ สร้างสังคมเอื้อมีบุตร

KEY

POINTS

  • ไทยเผชิญวิกฤติโครงสร้างประชากร “เด็กเกิดน้อย” อัตราเจริญพันธุ์รวมลดฮวบ จากมีบุตร 6  คนต่อสตรี 1 คน  เหลือบุตร 1 คนต่อสตรี 1 คน
  • ผลประเมินระดับนานาชาติพบไทยมีคะแนนด้านความเป็นพ่อแม่ต่ำได้เพียง 20 คะแนน เหตุกฎระเบียบไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร -ระบบช่วยแบ่งเบาภาระยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอ
  • ขณะที่ “หนี้ครัวเรือน”กระทบโดยตรงต่อการมีบุตร หนุนแก้ 4 มิติ เวลา-เงิน-ระบบช่วยเลี้ยงลูก-กฎหมาย สร้างสังคมเอื้อมีบุตร

ดังที่ทราบกันดี ประเทศไทยกำลังเผชิญ “วิกฤติโครงสร้างประชากร” เป็นสังคมผู้สูงอายุ ขณะที่เด็กเกิดน้อยลง ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ระดับเจริญพันธุ์หรือการเกิดลดลงอย่างรวดเร็วมากเมื่อพิจารณาจากอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate :TFR) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิง 1 คนจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ พบว่า

  • ปี 2503 - 2507  อยู่ที่  6  คนต่อสตรี 1 คน
  • ปีิ 2527 - 2530 อยู่ที่ 2.23 คนต่อสตรี 1 คน 
  • ปี 2539  อยู่ที่ 2 คนต่อสตรี 1 คน
  • ปี 2542 - 2544  อยู่ที่ 1.80 คนต่อสตรี 1 คน 
  • ปี 2557 - 2559 อยู่ที่ 1.64 คนต่อสตรี 1 คน 
  • ปี 2565  อยู่ที่ 1 คนต่อสตรี 1 คน

และยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึง มีความแตกต่างกันระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท  โดยเขตเมือง อยู่ที่  0.9 คนต่อสตรี 1 คน และเขตชนบท อยู่ที่ 1.2 คนต่อสตรี 1 คน

นับว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก และระดับต่ำกว่าประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว เช่น ปี 2565  ญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.3 คน ต่อสตรี 1 คน และเกาหลีใต้ อยู่ที่ 0.78 คนต่อสตรี 1 คน

นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว

การขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว (Family-friendly policies) เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว (พ.ศ. 2565-2580) ซึ่งมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างและคุณลักษณะของประชากร ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาประชากรไปสู่การ เกิดดี อยู่ดี และแก่ดี โดยเฉพาะการเกิดดี ที่มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงดูบุตร 
ไทย ‘ความเป็นพ่อแม่’ ต่ำ ผลประเมินได้เพียง 20 คะแนน

นอกจากนี้ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ระบุถึงแนวทางสำคัญในมติเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของ ด้วยการสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตรและดูแลบุตรใน 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านเวลา มิติด้านการเงิน มิติระบบสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร และมิติด้านกฎหมาย

ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวน้องกับการส่งเสริมการมีบุตร อาทิ การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปี 600 บาท/เดือน/คน ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ,การปรับกฎหมายเพื่อให้สิทธิวันลาคลอดมารดา (maternity leave) สูงสุด 98 วัน ,สิทธิประโยชน์เรื่องการมีบุตรของประกันสังคม ,การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก

ส่วนภาคเอกชนร่วมส่งเสริมให้มีนโยบายการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ เช่น อนุญาตให้พนักงานลาคลอดได้ถึง 6 เดือน การปรับเวลาการทำงานของพ่อแม่ให้มีความยืดหยุ่นในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายครอบครัว เป็นต้น

ไทยคะแนนความเป็นพ่อแม่ต่ำ

อย่างไรก็ตาม ในเวทีประชุมสนทนาเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว  จัดโดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน เมื่อเร็วๆนี้ น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสศช. กล่าวว่า  จากการประเมินในระดับนานาชาติในรายงาน Women, Business and the Law 2020 พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนด้านความเป็นพ่อแม่ (parenthood) ต่ำที่สุด ซึ่งได้คะแนนเพียง 20 คะแนนจาก 100 คะแนน

"เนื่องจากกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร/สนับสนุนพ่อแม่ให้มีเวลาได้อยู่กับบุตร ประกอบกับระบบสนับสนุนต่างๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อและแม่ยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอ"น.ส.วรวรรณกล่าว

“หนี้ครัวเรือน”ผลกระทบโดยตรง ต่อการมีบุตร

ขณะที่ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบข้อสังเกตสำคัญว่า การออกแบบสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัวควรต้องคำนึงถึงสภาพปัญหาที่พนักงานเผชิญด้วย โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความเข้มแข็งของครอบครัวและการตัดสินใจมีบุตร

ทั้งนี้ ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบคนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 65 สูงถึง 47,000 บาท สาเหตุจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย 14% ค่าครองชีพสูงขึ้น 12% ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 11.2%

ไทย ‘ความเป็นพ่อแม่’ ต่ำ ผลประเมินได้เพียง 20 คะแนน

ปรับ 4 มิติเอื้อมีบุตร

สสส. ร่วมกับ สศช. พัฒนานโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตรและดูแลบุตรของพนักงาน/ลูกจ้าง ผ่าน 4 มิติ

1.เวลา ส่งเสริมให้เกิดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นสำหรับพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูก เพิ่มสิทธิการลาเพื่อดูแลบุตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้ พนักงานชายสามารถลาเพื่อดูแลครอบครัวได้

2.การเงิน ศึกษาความเป็นไปได้ของการให้เงินอุดหนุนค่าคลอดบุตร และการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดรายเดือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่มือใหม่

3.ระบบสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร พัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยา

4.กฎหมาย ผลักดันกฎหมายให้เอื้อต่อการสร้างครอบครัวสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกฎหมายที่อนุญาตให้ครอบครัว LGBTQ+ สามารถจดทะเบียนสมรสและรับอุปการะบุตรได้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญ และการกำหนดให้การมีบุตรยากเป็นโรคและสามารถใช้สิทธิรักษาได้

ทว่า ในระดับ "นโยบาย"นั้น  การขับเคลื่อน "การส่งเสริมการมีบุตร" ดูจะขึ้นอยู่กับว่า "รัฐมนตรี" ที่มานั่งในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องจะเห็นความสำคัญ และหยิบยกมาเป็นประเด็นใหญ่มากน้อยแค่ไหน อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สมัย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข ผลักดันเรื่องนี้อย่างมากถึงขั้นจะเสนอให้กำหนดเป็น "วาระแห่งชาติ"