น่าห่วง! เด็กไทยเคลื่อนไหวร่างกายไม่พอ ‘นั่งนาน’เสี่ยง’ซึมเศร้า’47 %
5 กลุ่มคนเผชิญความเหลื่อมล้ำกิจกรรมทางกาย น่าห่วง! เด็กไทยเคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอ กระทบพัฒนาการ ผู้หญิง 16 ล้านมาไม่กล้าออกกำลังกาย เพราะถูกตีตรา-ไม่มั่นใจรูปร่าง ภาพรวมคนไทย “เนือยนิ่ง”เพิ่ม นั่งต่อวันเทียบเท่าเวลาจากกรุงเทพ-ยะลา ชี้สารพัดผลเสีย “นั่งนาน”
KEY
POINTS
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงสถานการณ์ “12 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย” เพื่อสะท้อนสถานการณ์และการขับเคลื่อนการมีกิจกรรมทางกาย รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการออกแบบและกำหนดทิศทางการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างระบบกลไกการสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง นำไปสู่การผลักดันนโยบายระดับประเทศ
เด็กเคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอ
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์ TPAK กล่าวว่า ประชากร 5 กลุ่มที่กำลังเผชิญความเหลื่อมล้ำทางโอกาสเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกาย
- กลุ่มผู้สูงอายุ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 60%
- กลุ่มที่มีรายได้น้อย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 59%
- กลุ่มผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพหรือไม่ทำงาน มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 46.5%
- กลุ่มผู้หญิง มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 40% ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วง เนื่องจากตกอยู่ในภาวะขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกว่า 16 ล้านคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวและลูก ผู้หญิงที่มีรายได้น้อย ขาดความมั่นใจหรือกังวลเรื่องการถูกตีตราจากสังคม เช่น เล่นกีฬาไม่เป็น/ไม่เก่ง ไม่มั่นใจในรูปร่างหรือมีภาวะอ้วน มีอุปสรรคในการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะในเขตชนบท
- กลุ่มเด็ก มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 20% เทียบเท่ากับ 4 ใน 5 คน มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ กระทบต่อการเรียนรู้ในระยะยาว
ระดับกิจกรรมทางกายเพียงพอ แต่ละช่วงวัย
ทั้งนี้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(WHO) ล่าสุดออกเมื่อปี 2022 การมีกิจกรรมทางกายระดับที่หัวใจได้เต้นแรงมากขึ้นและรู้สึกเหนื่อยตามแต่ละช่วงวัย คือ กลุ่มผู้ใหญ่ อย่างน้อย 150นาทีต่อสัปดาห์ จะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคNCDsได้อย่างน้อย 4 %
ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ 75-150 นาทีต่อสัปดาห์ และกลุ่มเด็ก ต้อง60 นาทีต่อวัน แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยเคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอ ระหว่างอยู่่ที่โรงเรียนก็ต้องนั่งในห้องเรียนนาน เมื่อกลับถึงบ้านก็มีกิจกรรมอยู่ติดหน้าจอ
การที่แต่ละกลุ่มวัยมี “กิจกรรมทางกายเพียงพอ”จะเกิดประโยชน์ ในกลุ่มผู้ใหญ่ คือ ป้องกันความเสี่ยงของโรคNCDs ,เสริมสร้างสมรรถนะในการทำงาน และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและรูปร่างที่สวยงาม
กลุ่มผู้สูงอายุ ช่วยสร้างความสมดุลและป้องกันการหกล้ม ,เพิ่มความคล่องแคล่วและเสริมทักษะในการดูแลตัวเอง และเพิ่มความแข็งแรงของระบบหัวใจ ไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อและรูปร่างกระชับ ส่วนกลุ่มพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และสังคม,พัฒนาทักษะที่จำเป็นตามช่วงวัยและกระตุ้นการเรียนรู้ และเสริมความแข็งแรงและป้องกันภาวะโรคอ้วนในเด็ก
กิจกรรมทางกายพอ เสริมพัฒนาการ 5 มิติ
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า จากการศึกษา โครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น” ด้วยการติดตามนักเรียนตั้งแต่ป.4จนถึง ป.6 พบว่า “กิจกรรมทางกายช่วยเสริมพัฒนาการ 5 มิติ” ได้แก่ 1.ร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อและการเคลื่อนไหวที่ดี
2.อารมณ์/สังคม ความสามารถในการปรับตัว การนับถือตนเอง และมีความสุขกับชีวิต
3.การสื่อสาร/ทักษะชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสามารถในการแก้ปัญหา และความมั่นใจในตนเอง
4.การคิดวิเคราะห์ กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และพัฒนาการด้านการรู้คิด
5.วิชาการ ความสามารถทางวิชาการ การเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี
“ฝากถึงผู้ปกครองที่กังวลว่าหากปล่อยให้ลูกเล่นแล้วจะเรียนไม่เก่ง แต่การการศึกษาวิจัยชิ้นนี้พบว่าเด็กที่ได้เล่น เคลื่อนไหวร่างกาย 60 นาทีต่อวันมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี"รศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าว
พฤติกรรมเนือยนิ่งกลับสูงต่อเนื่อง
ขณะที่คนไทยมี “กิจกรรมทางกายเพียงพอ”ต่ำ สวนทางกับ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” กลับพบทิศทางสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนเวลาการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งของประชากรไทยต่อวันระหว่างปี 255-2566 พบว่า
ปี 2555 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.29 ชั่วโมง
ปี 2556 พฤติกรรมเนือยนิ่ง13.15 ชั่วโมง
ปี 2557 พฤติกรรมเนือยนิ่ง13.42 ชั่วใมง
ปี 2558 พฤติกรรมเนือยนิ่ง14.08 ชั่วโมง
ปี 2559 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.48 ชั่วโมง
ปี 2560 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.33 ชั่วโมง
ปี 2561 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 14.15 ชั่วโมง
ปี 2562 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.47 ชั่วโมง
ปี 2563 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 14.32 ชั่วโมง
ปี 2565 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 15.05 ชั่วโมง
ปี 2566 พฤติกรรมเนือยนิ่ง 14.33 ชั่วโมง
“เมื่อลองนำเวลาที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวันที่ ราว 14 ชั่วโมงมาเทียบกับGoogle map พบว่าเวลาเทียบได้กับการนั่งรถจากกรุงเทพฯไปถึงอ.รามัน จ.ยะลาในทุกๆวัน”รศ.ดร.ปิยวัฒน์กล่าว
การนั่งมีผลเสียมากกว่าที่คิด โดยหากมีการสะสมมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะซึมเศร้า 47 %
- หากมีติดต่อกันเกินกว่า 2 ชั่วโมงจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก 10 % มะเร็งลำไส้ 8 % และมะเร็งปอด 6 %
- ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นวิถี เพิ่มโอกาสที่จะนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน 112 %
- หากมีการติดต่อกันนานกว่า 90 นาทีเป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึง 2 เท่าตัว
- หากมีสะสมมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 147 %
3 มาตรการลดเหลื่อมล้ำกิจกรรมทางกาย
ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกายของคนไทยในรอบ 12 ปี (ปี 2555-2566) พบระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอต่ำกว่า 70% สะท้อนว่ายังมีคนไทยกว่า 30% ไม่สามารถมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์แย่ลง
เนื่องจากไม่สามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ จึงจำเป็นต้องเร่งสานพลังความร่วมมือส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตอบโจทย์เป้าหมายของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 เพิ่มอัตราการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยให้อยู่ที่ 85% ภายในปี 2573
สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนกลยุทธ์การส่งเสริมและการสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนเข้าถึงกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.รณรงค์ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง โดยออกแบบมาตรการให้เหมาะสมตามบริบทของชุมชน เช่น ‘Healthy city เมืองน่าอยู่ เมืองสุขภาพดี’, ‘ลานสร้างสุขภาวะชุมชน’
2.จัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ และพื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัย เช่น ‘พัก กะ Park พื้นที่สุขภาวะแบบมีส่วนร่วม’, ‘สวน 15 นาที สวนสาธารณะใกล้บ้าน’
3.จัดกิจกรรมและบริการด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและหลากหลาย เช่น ‘Healthy Organization องค์กรสุขภาพดี’, ‘Healthy+Active Meeting การประชุมสุขภาพดี’ ” เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง พัฒนานวัตกรรม และสร้างโอกาสในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน