เปิดมูลค่าใช้ยาในรพ.รัฐปี 2567 เป็นยาสมุนไพร 2 % สธ.เพิ่มการใช้ 10 กลุ่มอาการ
เปิดมูลค่าใช้ยาในรพ.รัฐปี 2567 กว่า 70,000 ล้านบาท เป็นยาสมุนไพร 1,500 ล้าน คิดเป็นเพียง 2 % สธ.มุ่งอัปไซด์มูลค่าการใช้เป็น 7,000 ล้านในปี 72 กำชับบริการผู้ป่วยนอกในรพ.ใช้ยาสมุนไพร 10 กลุ่มอาการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 %
KEY
POINTS
- เปิดมูลค่าใช้ยาในรพ.รัฐปี 2567 กว่า 70,000 ล้านบาท เป็นยาสมุนไพร 1,500 ล้าน คิดเป็นเพียง 2 % ใช้มากที่สุดในระดับปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 783 ล้าน
- สธ.มุ่งอัปไซด์มูลค่าการใช้ยาสมุนไพรเป็น 3,000 ล้านในอีก 2 ปี และเป็น 7,000 ล้านบาทในปี 2572 เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ เบิกจ่ายจาก สปสช. -ใช้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 %
- 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อยและการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมี 32 รายการ บริการผู้ป่วยนอกใน รพ.ใช้ได้
การนำ“ฟ้าทะลายโจร”มาเป็นยาสมุนไพรในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อยในช่วงของการแพร่ระบาดใหญ่ที่ผ่านมา เปรียบเสมือนการจุดประกายให้คนไทยรวมถึงนานาประเทศหันมาสนใจ “ยาสมุนไพรไทย”มากขึ้น
เช่นเดียวกับ “ระบบสาธารณสุขไทย”ที่จะมุ่งไปในทิศทาง “Western – Oriental medicine integrated” การให้การดุแลแบบผสานความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์และภูมิปัญญาไทย หรือผสมผสารการแพทย์ตะวันตกและตะวันออกมากขึ้น
ตามนโยบายรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร”ที่มีการแถลงต่อรัฐสภา เรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและบริการทางการแพทย์” หนึ่งในแนวทาง คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์แผนไทย รวมถึง ยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร
และ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในยุคที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”เป็นรมว.สาธารณสุข มีนโยบายสำคัญ “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ”
ตำรับยาแผนไทย 16 กลุ่มโรคอาการ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และเครือข่ายได้มีการกบริหารจัดการ รวบรวม ปริวรรต ถ่ายถอด สังคายนา ใช้ตำรับยาแผนไทยในอดีตมาใช้ในทางการแพทย์ การสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในส่วนตำราการแพทย์แผนไทยและตำรับยาแผนไทย ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 36 ฉบับ ประกอบด้วย ตำราการแพทย์แผนไทย จำนวน 850 รายการ 536 แผ่นศิลา ตำรับยาแผนไทย 54,979 ตำรับ
และนำเข้าระบบฐานข้อมูลภูมิปัญญาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร Herbal Medicinal Products Information System : HMPIS 38,776 ตำรับ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
ปัจจุบันมีการคัดเลือกและกลั่นกรองตำรับยาแผนไทย จากตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ หมอพื้นบ้าน และบัญชียาหลักแห่งชาติ มีมติเห็นชอบตำรับยาแผนไทย 16 กลุ่มโรคอาการ คือ กลุ่มโรคเด็ก 25 ตำรับ กลุ่มโรคลม 80 ตำรับ กลุ่มอายุวัฒนะ 2 ตำรับ กลุ่มโรคปาก คอ 19 ตำรับ กลุ่มริดสีดวง 15 ตำรับ กลุ่มกษัย กร่อน 28 ตำรับ กลุ่มโรคผิวหนัง แผล โรคเรื้อน 25 ตำรับ กลุ่มโรคทางเดินปัสสาวะ กามโรค 5 ตำรับ
กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน บิด ป่วง 9 ตำรับ กลุ่มโรคหอบ ไอ หืด 4 ตำรับ กลุ่มโรคสตรี 16 ตำรับ กลุ่มยาบำรุง 15 ตำรับ กลุ่มโรคฝี 18 ตำรับ กลุ่มไข้ 24 ตำรับ กลุ่มโรคท้องมาน 5 ตำรับ กลุ่มอื่นๆเช่น ยาถ่าย ยาหยอด ยาประคบ จำนวน 34 ตำรับ รวมทั้งสิ้น 324 ตำรับ
เป็นการนำองค์ความรู้ในตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์แผนไทย เป็นฐานข้อมูลหลักฐานในการตรวจสอบอ้างอิง การขึ้นทะเบียน ตำรับยาไทย กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้โรงพยาบาลนำไปใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน และจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
ปี 67 มูลค่าใช้ยาสมุนไพรไทยแค่ 2 %
จากรายงานภาพรวมมูลค่าการใช้ยาในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่ารวม 70,542 ล้านบาท เป็นยาแผนปัจจุบัน 68,983 ล้านบาท คิดเป็น 97.79 % และยาสมุนไพร1,560 ล้านบาท คิดเป็น 2.21 %
- มูลค่าการใช้ยาสมุนไพร จำแนกตามระดับหน่วยบริการได้เป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)783 ล้านบาท
- โรงพยาบาลชุมชน(รพช.)หรือรพ.ประจำอำเภอ 545 ล้านบาท
- โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)หรือรพ.ประจำจังหวัด 151 ล้านบาท
- โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) 80 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการใช้ยาสมุนไพร เป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2569 และเป็น 7,000 ล้านบาท ในปี 2572
บัตรทอง 30 บาท เบิกจ่ายยาสมุนไพร 106 รายการ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนสมุนไพรในระดับประเทศ ว่า 1.เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ รวม 106 รายการ เบิกจ่ายจาก สปสช. แบบ Fee Schedule และ 2.ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายยาของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร 32 รายการในผู้ป่วย 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 % ช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
10 กลุ่มอาการ ใช้ยาสมุนไพรบัญชยาหลักฯ
สำหรับ 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อยและการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมี 32 รายการ ได้แก่ 1.กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ ใช้ครีมไพล, ยาเถาวัลย์เปรียงยาประคบ, ยาสหัศธารา,ยาพริก
2.ไข้หวัด/ไอ/เสมหะ/โควิด 19 ใช้ยาปราบชมพูทวีป, ยาฟ้าทะลายโจร/สารสกัด, ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม,ประสะมะแว้ง,ยาเขียวหอม
3.ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้ยาธาตุอบเชย, ยาขมิ้นชัน,
4.ท้องผูก/ริดสีดวงทวารหนัก ใช้ยามะขามแขก,ยาผสมเพชรสังฆาต
5.วิงเวียน/คลื่นไส้ อาเจียน ใช้ยาขิง, ยาหอมนวโกศ
6.ชาจากอัมพฤกษ์-อัมพาต ใช้ยาทำลายพระสุเมรุ,ยาแก้ลมแก้เส้น,
7.ผิวหนัง/แผล ใช้ ยาว่านหางจระเข้, ยาเปลือกมังคุด, ยาพญายอ, ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง
8. นอนไม่หลับ ใช้ยาศุขไสยาศน์, ยาน้ำมันกัญชา (THC) 2.0 mg/ml,ยาหอมเทพจิตร,ยาน้ำมันกัญชาทั้งห้า, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา (THC) ไม่เกิน 0.5 mg/drop /ไม่เกิน 3 mg/drop, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา CBD:THC ในอัตราส่วน 1:1
9. ท้องเสีย (ไม่ติดเชื้อ) ใช้ยากล้วย, ยาเหลืองปิดสมุทร
10.เบื่ออาหาร ใช้ ยาน้ำมันกัญชา (THC) 2.0 mg/ml ,ยามะระขี้นก,ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา (THC) ไม่เกิน 0.5 mg/drop /ไม่เกิน 3 mg/drop, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา CBD:THC ในอัตราส่วน 1:1