"Future Food" ไม่ใช่ "Future Health" บางอย่างมีอันตรายซ่อนอยู่
นักกำหนดอาหารเตือน Future Food ไม่ใช่ Future Health เสมอไป บางอย่างกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมมีเติมแต่งสารอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ขณะที่มีข้อมูลคนไทยเลือกอาหารจากรสชาติเป็นหลัก
KEY
POINTS
- Future Food หรืออาหารแห่งอนาคต ไทยส่งออกเติบโตสูง ปี 2566 มูลค่ามากกว่า 144,000 ล้านบาท คาดการณ์ในปี 2570 ส่งออกราว220,000 ล้านบาท
- Future Food มี 4 กลุ่มหลัก บางชนิดมิใช่จะเป็น Future Health หรืออาหารที่ดีต่อสุขภาพ นักกำหนดอาหารห่วงกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เติมแต่งสารอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- เมื่อ Future Food อาจมิใช่ Future Health เทคนิคการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ ต้องเน้นความหลากหลาย และสมดุล ขณะที่มีข้อมูลคนไทยเลือกอาหารจากรสชาติเป็นหลัก ส่วนทั่วโลกปลูกพืชกว่า 6,000 ชนิด แต่ 66 % ของอาหารมาจากพืชเพียง 9 ชนิด
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคให้ความสนใจกับ เทรนด์ Future Food หรืออาหารแห่งอนาคตอย่างมาก จนอาจเข้าใจไปว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งแท้จริงแล้วใม่ใช่ Future Food ทุกประเภทจะดีต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ จากการสำรวจเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีข้อมูลว่า คนไทยเลือกอาหารจากรสชาติเป็นหลักดังนั้น ในการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ จึงควรเน้นบริโภคอาหารหลากหลายและสร้างสมดุลของอาหารแต่ละชนิดด้วย
4 กลุ่ม Future Food
Future Food ประกอบด้วยอาหาร 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) เป็น ผลิตภัณฑ์อาหารที่เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย แล้วจะสามารถทำหน้าที่อื่นๆ ให้กับร่างกาย นอกเหนือจากความอิ่มและความอร่อย ให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบและสภาพการทำงานของร่างกาย
แบ่งย่อยเป็น กลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหารหรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อย เพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เสริมด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ ไข่ไก่เสริม โอเมก้า-3 เป็นต้น และกลุ่มอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ถั่วเหลือง กระเทียม มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดสารอาหารอื่นๆ
2. อาหารใหม่ (Novel Food) การผลิตรูปแบบใหม่ที่ได้จากพืชหรือสัตว์ที่ ไม่ได้ใช้เทคนิคการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ มีการปรับแต่งกระบวนการผลิตแบบใหม่ การใช้นาโนเทคโนโลยี เช่น โปรตีนจากพืช เนื้อจากพืช นมจากพืช เป็นต้น
3.อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ทดแทนยาห รือ อาหารเสริมภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อโรค รูปแบบทาน หรือดื่มแทนอาหารหลักบางมื้อ หรือให้ทาง สายยาง เช่น เจลลี่ โดยเป็นสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เหมาะสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ทารก หรือผู้ที่มีระบบเผาผลาญผิดปกติ
4. อาหารอินทรีย์ (Organic Food) ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ผลิตหรือแปรรูป โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่สังเคราะห์ทางเคมี ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยที่มาจากกากของระบบบำบัดน้ำเสีย
มูลค่าการส่งออก Future Food
การส่งออก Future Food ของไทย ในปี 2564 พบว่ามีมูลค่ารวมกว่า 94,000 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา จีน และเวียดนาม ขณะที่ปี 2566 มูลค่ามากกว่า 144,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น(CAGR )8.2%
89% เป็นอาหารเชิงฟังก์ชัน อย่างผลิตภัณฑ์ลดหวาน มันเค็ม สารประกอบเชิงฟังก์ชัน เช่น สารสกัด วิตามิน โพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ และอาหารเสริม) ,5% เป็นโปรตีนทางเลือก ,4% เป็นอาหารทางการแพทย์ และอาหารเฉพาะบุคคล และ 2% เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และอาหารไม่ปรุงแต่ง ซึ่งภาพรวมสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 11% เติบโตสูง และคาดการณ์ว่าภายปี 2570 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารอนาคตจะมีมูลค่าถึง 220,000 ล้านบาท
Future food อาจไม่ใช่ Future Health
อย่างไรก็ตาม ในการเสวนาประเด็น “สิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อการเข้าถึงอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ภายในเวทีบูรณาการเครือข่ายอาหารสู่การบริโภคที่สมดุลด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน เนื่องในวันอาหารโลก 2567 เมื่อเร็วๆนี้
สมิทธิ โชติศรีลือชา กรรมการและประธานวิชาการ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาหารแห่งอนาคตหรือ Future food จะเป็นเทรนด์แน่นอน เพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพในอนาคต แต่ Future food ที่ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมบางอย่างอาจจะมีการเติมแต่งสารบางอย่างที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ จะเป็น Future Health หรือไม่
“ โจทย์ของอุตสาหกรรม จะต้องทำให้ Future food กลายเป็น Future Healthด้วย และผู้บริโภคจะต้องตระหนักรู้ว่าไม่ใช่ Future food ทั้งหมดจะต้องดี และ Future foodที่ดีต่อสุขภาพจะต้องทำให้คนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม สร้างความมั่นคงทางอาหาร”สมิทธิกล่าว
เทคนิคกินอาหารเพื่อสุขภาพ
ในฐานะนักกำหนดอาหาร แนะนำว่า ประชาชนควรที่จะต้องกินอาหารสมดุล หรืออาหารสุขภาพดี ที่รับประทานแล้วมีสารอาหาร พลังงานที่เพียงพอ หลากหลาย ปลอดภัย เข้าถึงได้ รับประทานได้ระยะยาว ไม่ทำให้เกิดโรคในอนาคต ส่งเสริมสุขภาพดี ซึ่งจะช่วยทั้งการป้องกันและบำบัดรักษาโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)
การเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ หากเป็นกลุ่มที่ทำอาหารเอง หากซื้อวัตถุดิบมาแล้วมีความเสี่ยงเรื่องสารตกค้างก็หาวิธีที่จะลดปริมาณสารตกค้างลง เลือกอาหารหลากหลาย อาหารในท้องถิ่น ลดการปรุง ลดเค็ม ลดหวาน ลดมันลง แต่ยังมีรสชาติอร่อย
ส่วนคนเมืองที่ไม่ได้ทำอาหารเอง อาจจะต้องดูฉลากโภชนาการมากขึ้นในการเลือกซื้อ แล้วเลือกที่มีน้ำตาล โซเดียม ไขมันน้อยลง รวมถึง เลือกกินให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย และสร้างสมดุลในการทาน เช่น จับคู่อาหารที่เหมาะสม แทนที่จะเป็นแกงกะทิกับไข่เจียว ก็เปลี่ยนเป็นแกงกะทิกับไข่ต้ม เป็นต้น
“สรุปแล้วอะไรก็ทานได้ แต่หลักสำคัญจะต้องรับประทานอาหารอย่างหลากหลายและสร้างสมดุลของอาหารแต่ละวัน อย่างเช่น มื้อเย็นทานขาหมูในวันต่อไปขอเลือกเป็นอาหารไขมันต่ำแทน ซึ่งจะทำให้สามารถรับประทานอาหารอร่อยอย่างสนุกควบคู่ไปกับโภชนาการได้ แต่จะต้องกินให้พอ ไม่ก่อโรคและไม่ทำลายโลก”สมิทธิกล่าว
คนไทยเลือกอาหารจากรสชาติเป็นหลัก
ขณะที่ นวรัตน์ เฉลิมเผ่า ผู้ช่วยผู้แทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) ประจำประเทศไทย (ฝ่ายโครงการ) กล่าวว่า เมื่อ 3-4 ปีก่อนสำนักงานสถิติแห่งชาติมีการสำรวจ พบว่า คนไทยเลือกซื้ออาหารและรสชาติเป็นหลัก ทั้งที่ควรจะเลือกจากโภชนาการเพื่อสุขภาพมาก่อนเลือกอาหารปลอดภัย มีประโยชน์ ไม่เลือกอาหารที่จะทำให้เกิดโรค ไม่เลือกอย่างเหลือทิ้งเหลือขว้าง และต้องมีความหลากหลาย
“มีข้อมูลว่าทั่วโลกมีการปลูกพืชประมาณ 6,000 ชนิด แต่ 66 %ของอาหารมาจากพืชเพียง 9 ชนิด จะเห็นว่าความเปราะบางเรื่องความหลากหลายของอาหารมีมาก จึงไม่แปลกใจที่คนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะกินอาหารหลากหลายต่ำ”นวรัตน์กล่าว
นวรัตน์ บอกว่า FAO ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนปฏิบัติการปฏิรูประบบอาหารประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ที่ปรับตัวได้ในสภาพภูมิอากาศที่มีการปลี่ยนแปลงได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และทำให้ร่างกายแข็งแรงประกอบด้วย 1.อาหารปลอดภัย 2.ความยั่งยืน ประชากรต้องไม่กินทิ้งกินขว้าง 3.การผลิตอาหารที่รักษาสิ่งแวดล้อม 4.การกระจายรายได้ในระบบอาหารอย่างเท่าเทียมตั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้ประกอบการ และ5.การจัดการอาหารในภาวะวิกฤต