“หนี้คู่แฝด”ยิ่งหนัก ผลพวงสังคมสูงวัย สรรพสามิตดันภาษีอุตฯ 0 %
สังคมสูงวัยสะเทือนเศรษฐกิจ รายได้ลด-รายจ่ายเพิ่ม ทำ“หนี้คู่แฝด”หนักขึ้น ลดยาก ชงยุทธศาสตร์รับมือมิติเศรษฐกิจ ขยายอายุทำงาน สร้างแรงจูงใจทางภาษีส่งเสริมจ้างงานผู้สูงอายุ กรมสรรพสามิตเตรียมเสนอภาษี 0 %ให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องดูแลสูงวัย นำร่องการประกอบรถยนต์
KEY
POINTS
- สังคมสูงวัยสะเทือนเศรษฐกิจเติบโตช้า รายได้ลด ภาระทางการคลังจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการของผู้สูงอายุที่สูงขึ้น ทำ“หนี้คู่แฝด”หนักขึ้นและลดยาก
- สังคมสูงวัย ชงยุทธศาสตร์รรับมือมิติเศรษฐกิจ ขยายอายุทำงาน สร้างแรงจูงใจทางภาษีส่งเสริมจ้างงาน กรมสรรพสามิตเตรียมเสนอภาษี 0 %ให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องดูแลสูงวัย นำร่องการประกอบรถยนต์
- สังคมสูงวัย ขนาดเศรษฐกิจสูงวัย มูลค่ารวมของการใช้จ่ายของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี 2566 1.5 ล้านล้านบาท ประมาณการรายจ่ายของผู้สูงอายุในปี 2576 อยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 6.5% ต่อปี เผชิญ 7 โจทย์ความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจสูงวัย
สังคมสูงวัยข้อมูลของสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ รายงานโครงสร้างประชากรในปี 2567 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี รวมทั้งสิ้น 13.2 ล้านคนคิดเป็น 20 % ของประชากรทั้งหมด และแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น28 %ในปี 2576
และ ในปี 2583 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น31 %หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่การเกิดใหม่ของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราเจริญพันธุ์ (TFR) ของไทยลดลงจาก 2.0 ในปี 2538 เหลือ 1.53 ในปี 2563 และคาดว่าเหลือ 1.3 ในปี 2583
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน (มสผ.) และองค์กรเจ้าภาพอีก 10 องค์กร ร่วมกันจัดเวที “สานพลังไทย รับมือสูงวัย ไปด้วยกัน” (Smart Aging Society, Together we can)” ครั้งที่ 1 มิติเศรษฐกิจ โดยระดมสมองจากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวกับการรับมือสังคมสูงวัยกว่า 50 องค์กร
สังคมสูงวัย ส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. เห็นความสำคัญกับสถานการณ์สังคมสูงวัย ซึ่งไม่ใช่มีแค่เรื่องผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่ใหญ่ส่งผลกระทบวงกว้าง ซึ่งมีประเด็นที่ต้องขบคิดในหลายแง่มุม ซึ่งโครงสร้างประชากรไทยตอนนี้ ส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ
อีกไม่นานประชากรวัยแรงงานลดลง รายได้และเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตช้าลง ขณะที่ภาระทางการคลังจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการของผู้สูงอายุที่สูงขึ้น การออมและการลงทุนลดลง อุปสงค์ในสินค้าและบริการบางอย่างน้อยลง มีความต้องการสินค้าเฉพาะมากขึ้น และอีกหลายเรื่องที่เป็นความท้าทายว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้และต้องเตรียมการกันอย่างไร ทั้งภาคนโยบายและภาคปฏิบัติการ
สังคมสูงวัย ความท้าทายมิติเศรษฐกิจ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า สังคมสูงวัยเรื่องมิติเศรษฐกิจ มีข้อท้าทายหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. การส่งเสริมนวัตกรรมและธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคภายใต้สถานการณ์สังคมสูงวัย 2.การสร้างทักษะและทัศนคติที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่ 3.ปรับโครงสร้างตลาดแรงงานให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
4.สร้างความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออม 5.ออกมาตรการดึงดูดแรงงานและส่งเสริมแรงงานแฝง 6.วางระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีความมั่นคงทางการเงิน โดยแต่ละหน่วยงานองค์กรนำเสนอบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย และนำข้อมูลความรู้ ประสบการณ์มาเรียนรู้ร่วมกัน และจะทำให้เกิดการสานพลังรับมือสังคมสูงวัยไปพร้อมๆ กัน
สังคมสูงวัย “หนี้คู่แฝด”หนักขึ้น
ขณะที่ ดร.เอกนิติ นิติทัณห์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะนักศึกษาวปอ.รุ่น 66 ที่ทำวิจัยเรื่องสังคมสูงวัย กล่าวเรื่องยุทธศาสตร์การรับมือเศรษฐกิจไทยในยุคสังคมสูงวัยว่า อีกราว 6 ปีจำนวนประชากรสูงวัยของไทยจะเป็น 30 % ซึ่งสังคมสูงวัยส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักมาก 1.เมื่อรายได้คนลดลงจากการเป็นผู้สูงอายุ ทำให้การบริโภคลดลง การลงทุนลดลง ศักยภาพการผลิตในหมวดกำลังคนลดลง ซึ่งเดิมไทยGDPโต 4-5 % ฉะนั้นเศรษฐกิจไทยจะไม่มีทางโตกลับไปที่ 4-5 %ถ้ายังเป็นแบบนี้
และ2.ภาระพึ่งพิงรัฐหนักมาก จากที่ทุกคนจะกลับมาพึ่งภาระการคลัง แต่ฐานรายได้จะหายไป ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินรายได้บุคคลธรรมดาจะลดลง แต่รายจ่ายเพื่อดูแลประชาชนจะเพิ่มขึ้นมาก เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ค่ารักษาพยาบาล ไม่นับรายจ่ายประชานิยม จะส่งผลให้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น ส่วนครัวเรือนก็เช่นเดียวกันรายได้ลดลง แต่รายจ่ายสูงขึ้น สุดท้ายจะเป็นหนี้มากขึ้น จะเกิดปัญหา “หนี้คู่แฝด” คือหนี้รัฐและหนี้ครัวเรือนจะหนักขึ้นเรื่อยๆ และลดยากลงเรื่อยๆ
ลดภาษีอุตฯเพื่อสูงวัยเป็น 0 %
ยุทธศาสตร์การรับมือเศรษฐกิจไทยในยุคสังคมสูงวัย จะต้องมี 4 สานพลัง ได้แก่ 1.พลังเศรษฐกิจ ต้องมีการขยายอายุการทำงานแน่นอนอย่างไม่มีทางเลือก เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน ส่งเสริมการทำงานอาจจะมีแรงจูงใจด้านภาษีในการจ้างงานผู้สูงอายุ และรีสกิล ต้องให้ผู้สูงอายุมีทักษะใหม่ๆ เช่น AI ทักษะดิจิทัล และดาต้า ต้องเทรนเป็นทักษะแห่งโลกอนาคตที่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ นอกจากนี้ เรื่องแรงงาน ประเทศไทยจะต้องเปิดรับแรงงานที่มีทักษะในโลกยุคใหม่จากต่างชาติมากขึ้น
และเรื่องการลงทุนรองรับสังคมผู้สูงอายุ อย่างเช่น กรมสรรพสามิตกำลังทำเรื่องอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ลดภาษีให้เตรียมเสนอเป็น 0 % เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเกิดขึ้นมารองรับสังคมผู้สูงอายุ และต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ดาต้า เพราะจะนำไปสู่เรื่อง telehealth
ขยายเงินสมทบ-บังคับออม
2.พลังสังคม มีปัญหาหนักเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนข้างบนที่มีเงิน มีRTF มีสำรองเลี้ยงชีพดูแลตัวเองได้ คนตรงกลางมนุษย์เงินเดือน มีกองทุนประกันสังคมแต่ไม่พอ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คนที่อยู่ระบบราว 15 ล้านคน จะต้องมีการขยายเงินสมทบให้มากขึ้น และไม่ควรจำกัดแค่เงินเดือน 15,000 บาท และคนฐานรากที่ไม่มีอะไรดูแลเลย จำเป็นจะต้องมีการออมภาคบังคับ
สังคมสูงวัย มองหาธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ
3.พลังท้องถิ่น ต้องกระจายอำนาจให้ดูแลผู้สูงอายุโดยจับมือกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งประเทศไทยมีโรงเรียนจำนวนมาก แต่อัตราการเกิดลดลงมากเพราะฉะนั้นเด็กเรียนจะน้อย โรงเรียนจะว่างมาก จึงควรเปลี่ยนโรงเรียนเด็กเป็นโรงเรียนดูแลผู้ใหญ่ เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุโดยเทรนอสม.มาช่วยดูแล
และ4.พลังธุรกิจ แบ่งเป็น 3 หมวด เกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยในหมวดเกษตร สัดส่วนGDPอยู่แค่ 6 % แต่ใช้กำลังคน 30 % จึงต้องทำเรื่อง “เกษตรแม่นยำ” ใช้เทคโนโลยีเข้าไปคำนวณว่าต้องใช้คนเท่าไหร่ ปลูกเมื่อไหร่ ผลผลิตต่อไร่เท่าไหร่ เพื่อให้ไทยเป็นเจ้าการผลิตต่อไป
ภาคอุตสาหกรรม ยังพึ่งอุตสาหกรรมเก่ามาก ดังนั้น ต้องเน้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล ดาต้า และต้องใช้แรงงานมีทักษะจากต่างประเทศ และภาคบริการ ประเทศไทยมีกำลังคนอยู่ 50 % จะต้องเน้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Wellness ดึงต่างชาติเข้ามาและเชื่อมต่อไปถึงท้องถิ่นให้ได้ รวมถึงสมุนไพรไทย และอสังหาริมทรัพยสำหรับผู้สูงอายุ
สูงวัยมูลค่าค่าใช้จ่ายรวม 1.5 ล้านล้าน
ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวเรื่องเศรษฐกิจสูงวัยว่า เศรษฐกิจสูงวัย หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้สูงอายุใช้จ่ายโดยตรง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงานของผู้สูงอายุ จึงมีบทบาททั้งในฐานะผู้บริโภคและ ผู้ผลิต
ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจสูงวัย เมื่อคำนวณมูลค่ารวมของการใช้จ่ายของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี 2566 พบว่า มีจำนวน 13.5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าค่าใช้จ่ายรวม 1.5 ล้านล้านบาท ประมาณการรายจ่ายของผู้สูงอายุในปี 2576 อยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 6.5% ต่อปี โดยแยกเป็น 3.1% จากการเพิ่มของประชากร และ 3.3% จากการบริโภคต่อหัว
โจทย์ความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจสูงวัย ได้แก่ 1.ในอนาคต ขนาดของเศรษฐกิจสูงวัยจะเติบโตขึ้นอีกมาก ในด้านความต้องการสินค้าและบริการ
2.รายได้ของผู้สูงอายุอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากการขาดการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน และข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมใน ตลาดแรงงานของผู้สูงอายุ
3. ผู้สูงอายุอาจจะต้องหันไปพึ่งพาครอบครัว หรือพึ่งพาภาครัฐ
4. การผลิตสินค้าและบริการ ต้องมีคุณภาพ เข้าถึงผู้สูงอายุหมู่มาก ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ เพิ่มความหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการทางด้านสุนทรีย์ที่มากขึ้น การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านการเงิน และการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม
5.การทำงาน เกษตรกรผู้สูงอายุต้องทำงานจนแก่ แรงงานในระบบต้องไม่ออกจากการทำงานก่อนวัยอันควร แรงงานที่เป็น gig worker ต้องได้รับสิทธิสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รัฐต้องสร้างโอกาสและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุออกมาทำอาชีพอิสระมากขึ้น
6. นโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ค่าแรงผู้สูงอายุ/ค่าแรงงานรายชั่วโมง การขยายอายุเกษียณ สินค้าและบริการควบคุมสำหรับผู้สูงอายุ
และ7.นโยบายเศรษฐกิจ ควรคิดถึงการดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ เช่น Soft Power, BCG, Entertainment Complex เป็นต้น