รพ. 3 สังกัด สะท้อนต้นทุนจริง "ค่ารักษาประกันสังคม" นัดถกอีก 2 รอบปิดจบปัญหา

รพ. 3 สังกัด สะท้อนต้นทุนจริง "ค่ารักษาประกันสังคม" นัดถกอีก 2 รอบปิดจบปัญหา

วงถกปรับค่ารักษาประกันสังคมนัดแรก  รพ. 3 สังกัดสะท้อนต้นทุนจริงมากกว่าอัตราจ่าย รพ.เอกชนระบุปรับฐานเป็น 15,000 ยังขาดทุนบางรายการ นัดหารือใหม่อีก 2 ครั้ง สรุปผลปิดจบให้ได้ ก่อนถึงช่วงเซ็นสัญญา รพ.ประกันสังคมปี 68

จากกรณีที่มี รพ.เอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมมีการลงชื่อแล้ว 70 แห่ง จ่อที่จะถอนตัวออกจากประกันสังคม หากไม่มีการปรับอัตราค่าบริการ เนื่องจากบางส่วนไม่มีการปรับเพิ่มมา 5 ปี และบางรายการเงินลดในช่วงปลายปีนั้น ซึ่งคณะกรรมการ การแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ)เพื่อมาดำเนินการแก้ปัญหานั้น

 เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2567 นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ (เฉพาะกิจ)ว่า การหารือในวันนี้เป็นครั้งแรกเป็นการเสนอข้อมูลทั่วไป และสะท้อนต้นทุนของหน่วยบริการสังกัดต่างๆ  โดยในส่วนของกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือดีอาร์จี มากกว่า 2 พบว่า ปี 2567 มีอัตราการใช้บริการมากขึ้นกว่าปี 2566  ส่วนปี 2563-2564 อยู่ที่ 5 % กว่า ปี 2565 อยู่ที่ 5.64 % และปี 2566 อยู่ที่ 6.45 %  เพิ่มขึ้นมาเกือบ 1 % จึงทำให้เงินต่อหน่วยลดลงในช่วงปลายปี

สำหรับ ต้นทุนในกลุ่มโรคนี้ที่มีการสะท้อนจากหน่วยบริการสังกัดต่างๆ  คือ รพ.ของรัฐต้นทุนอยู่ที่ 13,800 ต่อ Adjusted RW ส่วน รพ.ของโรงเรียนแพทย์ อยู่ที่ ราว 30,000 บาท ต่อAdjusted RW ขณะที่ รพ.เอกชน แต่ละเครือข่ายจะไม่เหมือนกัน โดยอัตราจ่ายให้ 15,000 บาท ยังขาดทุนบางรายการ 

“ปกติวิธีการของประกันสังคมจะใช้อัตราต้นทุนของ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ซึ่งต่ำ และใช้อัตราของ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัยซึ่งสูง จะไม่ค่อยเอาตัวเลขของเอกชน  วันนี้จึงได้แจ้งไปว่าหากอยู่ดูต้นทุนที่แท้จริงของ รพ.เอกชนก็แจ้งมาได้ ทั้งนี้ เบื้องต้นสมาคม รพ.เอกชนก็อยากได้ฐานอัตราที่ 15,000 บาท รพ.ใหญ่จะแย่” นพ.เฉลิม กล่าว 

ถามถึงกรณีที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า จะให้ที่อัตรา 12,000 บาทต่อAdjusted RWการันตีได้อัตรานี้ตลอดปี นพ.เฉลิม กล่าวว่า ประกันสังคมรับรู้แล้วสิ่งที่จ่ายจะเป็นเช่นนี้ไม่ได้ พยายามไปดูต้นทุนกลุ่มโรคดีอาร์จี มากกว่า 2 ใน รพ.สังกัดต่างๆ ซึ่งล้วนเกิน 12,000 บาททั้งสิ้น และในหมวดอื่นๆ บางรายก็ไม่มีการปรับอัตราจ่ายมา 4-5 ปี อย่างเช่น 26 โรคเรื้อรัง แต่กลับบอกว่าอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์  (Medical Inflation)มีทุกปี ซึ่งประกันสังคมก็ยอมรับความเป็นจริงในเรื่องนี้ และมีการนำเสนอทางเลือกว่าจะปรับค่าหัวโรคค่าใช่จ่ายสูงที่มีดีอาร์จีมากกว่า 2 เดิมที่ 746 บาท แล้วจะปรับขึ้น 800 , 900 บาท เป็นต้น

 “ฝ่ายต่างๆ เข้าใจแล้วว่าจ่ายอัตรา 7,200 บาทเป็นไปไม่ได้ อัตรา 12,000 บาทยังแทบเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งประกันสังคมจะเพิ่มให้มากกว่านี้หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องไปดูวงเงินของประกันสังคมด้วย แต่ส่วนนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของคู่สัญญา จะขึ้นกับผู้บริหารกองทุนประกันสังคมกับกระทรวงมากกว่า” นพ.เฉลิม กล่าว   

นพ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า  จะมีการนัดประชุม ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 ต.ค.2567 จะลงลึกในอัตราค่าบริการแต่ละหมวด เช่น 26 โรคเรื้อรังที่จะต้องปรับเพราะคนเป็นกันมากขึ้น  ซึ่งประกันสังคมจะต้องไปหาวิธี แต่จะเน้นไปที่ค่าโรคดีอาร์จีมากกว่า 2 และประชุม ครั้งที่ 3 จะเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปผลว่าจะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่ รพ.เอกชนจะมีการเซ็นสัญญาเป็นคู่สัญญาประกันสังคมรอบใหม่ในปี 2568 แน่นอน    


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์