ค่ารักษาพยาบาลไทยพุ่งพรวด ทำระบบสวัสดิการรัฐ และเอกชน ส่อวิกฤติ

ค่ารักษาพยาบาลไทยพุ่งพรวด ทำระบบสวัสดิการรัฐ และเอกชน ส่อวิกฤติ

สื่อออนไลน์พาดหัวข่าวว่า โรงพยาบาลเอกชน 70 แห่ง ขู่ถอนตัวจากระบบประกันสังคม หากไม่ปรับปรุงค่าใช้จ่ายให้ ขณะที่มีข่าวผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง ออกมาโวยเป็นระยะว่า โรงพยาบาลเริ่มขาดสภาพคล่อง จากการที่ต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่างบประมาณที่ได้รับ

แถมมีข่าว บริษัทประกันชีวิตหลายแห่ง ประกาศปิดแผนกรับประกันหมู่ที่ให้บริการการประกันสุขภาพสำหรับพนักงานบริษัทต่างๆ  เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าสินไหมการเบิกค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจาก ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 10% สูงกว่าการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และบริษัทประกันชีวิต ที่คาดว่ามันควรจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 4-5% ล้อไปกับภาวะเศรษฐกิจ

ขนาดบริษัทประกันชีวิต ที่เปิดขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับการประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ยังต้องถอยทัพ ส่วนบริษัทที่ยังเปิดให้บริการประกันสุขภาพหมู่อยู่ ก็ขายให้เฉพาะบริษัทลูกค้าที่มีจำนวนพนักงาน 50 คนขึ้นไป และต้องใช้ประวัติการเรียกร้องสินไหม 2 ปีที่ผ่านมา เป็นฐานในการคำนวณเบี้ยประกันสุขภาพในปีต่ออายุเสมอ

บริษัทประกันชีวิตหลายแห่ง ยังยกเลิกการรับประกันสุขภาพสำหรับเด็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 10 ขวบ เพราะการเบิกสินไหมที่ไม่สามารถควบคุมได้ จนไม่คุ้มกับการทำธุรกิจ

มีข่าวว่าเฉพาะปีนี้ปีเดียว ค่าสินไหมรวมที่บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายนั้น พุ่งสูงทำลายสถิติของทุกปีที่ผ่านมา ทั้งที่เพิ่งผ่านมา 9 เดือนเท่านั้นเอง

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะนโยบายที่ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลแบบไม่อั้น ตามสิทธิที่ได้รับ หรือที่เรียกว่าเบิกได้แบบบุฟเฟ่ต์นั่นเอง

คำว่าบุฟเฟ่ต์ เป็นที่เข้าใจกันหรือว่า หมายถึง การรับประทานอาหารกันอย่างไม่อั้น ในราคาที่เหมามาแล้ว ผู้บริโภคจึงรับประทานกันอย่างฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น  

แต่พอเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล แพทย์ และผู้ป่วยต่างยินยอมพร้อมใจกันเบิกค่ารักษาพยาบาลแบบไม่อั้น ตราบใดที่เราสามารถใช้สิทธินั้น โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

ไม่ว่าสิทธิของข้าราชการ หรือสิทธิของประชาชนในโครงการบัตรทองที่รัฐให้สิทธิเบิกฟรี  ดังนั้น คนไข้จึงพยายามที่จะใช้บริการในระดับที่สูงที่สุด หรือใช้สิทธิให้นานที่สุด เพราะไม่ต้องจ่ายเพิ่มแม้แต่บาทเดียว 

ในเวลาเดียวกัน แพทย์บางคนก็อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการส่งเสริมการขายของบริษัทยา ได้อัดยาให้ลูกค้าจนเกินความจำเป็น เพื่อรับค่าคอมมิชชั่นเป็นการตอบแทน

ในส่วนของประกันสุขภาพ ที่ประชาชนทำไว้กับบริษัทประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแผนประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย เบิกได้ในวงเงินถึงครั้งละ 1 ล้านบาท บางแผนสูงขึ้นไปถึง 30 ล้านบาทนั้น

ถือเป็นหมูในอวยที่ทำให้โรงพยาบาลยัดเยียดการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ เพราะอย่างไร คนไข้ก็ไม่บ่น ตราบใดที่ยังไม่เกินวงเงินในสิทธิของเขา นี่ตัวการสำคัญที่ทำให้ภาพรวมของค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น

มีกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โรงพยาบาลหลายแห่งบอกกับลูกค้าว่าถ้าเป็นลูกค้าเก่าจะให้สิทธิส่วนลด 10% ใน package การผ่าตัดบางอย่าง หลังจากการรักษาเสร็จแล้ว เมื่อลูกค้าบอกว่ามีประกันสุขภาพวงเงินสูงกับบริษัทประกันชีวิต โรงพยาบาลก็เปลี่ยนคำพูดว่าเมื่อคุณเบิกได้ บริษัทก็จะไม่มีส่วนลดให้ เพราะคนที่จ่ายคือ บริษัทประกันชีวิตไม่ใช่ลูกค้าจ่าย 

แต่ในความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะถูกเก็บไว้เป็นข้อมูลในภาพรวม เพื่อเป็นค่าเฉลี่ยในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันสุขภาพในอนาคต ซึ่งจะย้อนกลับมาทำร้ายผู้บริโภคในที่สุด

มีสถิติจากประเทศสิงคโปร์ บอกว่า ค่ารักษาพยาบาลที่เบิกได้ฟรี มักจะมีอัตราที่สูงกว่าค่ารักษาพยาบาลที่คนไข้ต้องร่วมจ่ายประมาณ 30% สำหรับการรักษาโรคเดียวกันเสมอ

เพราะการที่คนไข้ต้องออกค่ารักษาพยาบาลเองนั้น เขาจะมีสติในการยั้งคิด และช่วยกันตรวจสอบว่า มีรายการไหนที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น ก็จะได้ตัดออก ทำให้ช่วยลดค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น

ประเทศสิงคโปร์ จึงมีการกำหนดเป็นกฎหมาย ในปี ค.ศ.1990 ให้ทุกคนต้องทำประกันสุขภาพกับรัฐบาล (MediShield Life) ด้วยเบี้ยประกันที่ไม่เน้นการทำกำไร

แต่เมื่อประชาชนป่วย สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยต้องจ่ายค่ารักษาเบื้องต้นก่อน 2,000 เหรียญสิงคโปร์ (50,000 บาท) แล้วยังต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลืออีก 10% ด้วยเสมอ หรือที่เรียกว่า Co-payment (หากเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องจ่าย)

เราคงพอจะนึกภาพออกว่า ถ้าเป็นฉากทัศน์แบบนั้น ทุกคนจะพยายามดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นจริงๆก็จะไม่ไปนอนที่โรงพยาบาล เพราะนอนเมื่อไหร่ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายก่อนแน่นอน อย่างน้อยก็ 50,000 บาทแล้ว

แต่รัฐบาลที่ดี ย่อมกล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ถึงแม้สิ่งนั้นจะฝืนความเข้าใจของประชาชน ส่วนประชาชนที่มีคุณภาพ ย่อมเข้าใจว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นก็เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐ โดยรัฐสามารถนำเงินที่ประหยัดได้ไปสร้างสาธารณูปโภคอย่างอื่นขึ้นมาชดเชยให้กับสังคม

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังออกกฎหมายบังคับให้บริษัทประกันชีวิตทุกแห่ง เมื่อออกแผนประกันสุขภาพใดๆ ต้องเป็นแผนที่บังคับให้ผู้เอาประกันต้องจ่ายทั้งค่ารักษาเบื้องต้น (deductible) 2,000 เหรียญ และร่วมจ่ายค่ารักษาส่วนที่เหลือ (co-pay) อีก 5% ด้วยเสมอ ซึ่งมีส่วนทำให้เบี้ยประกันลดลงมามากตามการเรียกร้องสินไหมที่ลดตามไปด้วย

ถามว่า ทำไม ก็ในเมื่อเงินที่จะจ่ายเบี้ยประกันเป็นของประชาชน ทำไมรัฐบาลจึงเข้าก้าวก่ายบังคับให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาด้วย 

ก็อย่างที่กล่าวมาว่า เมื่อประชาชนมีส่วนร่วมในการจ่าย เขาจะช่วยกันตรวจสอบว่า การรักษาพยาบาลที่แพทย์แนะนำนั้น จำเป็นหรือไม่ เช่น เรามีอาการท้องเสียบ่อยๆ หากไปที่โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเห็นว่าเราสามารถ เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในวงเงินสูง ก็อาจจะเสนอให้มีการตรวจสอบด้วยวิธีพิเศษ เช่น การส่องกล้องหรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหามะเร็ง 

ตราบใดที่คนไข้ไม่ต้องควักเงิน คนไข้ก็จะรู้สึกว่าให้รักษาเต็มที่เลย แต่ถ้าคนไข้ต้องร่วมจ่ายด้วย 5% คนไข้ก็อาจจะตั้งคำถามว่ามันจำเป็นไหม ลองใช้วิธีกินยาก่อน ถ้าไม่หายค่อยใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีชั้นสูงก็ได้ เพราะมันไม่มีข้อบ่งชี้ที่เร่งด่วนว่ามีอาการหนัก ต้องรีบรักษาแบบซับซ้อนขนาดนั้น

อีกประเด็นสำคัญ ที่เป็นผลเสียจากการให้เบิกค่ารักษาแบบบุฟเฟ่ต์ คือ การเข้าพักรักษา(นอน)ในโรงพยาบาลโดยที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์เพียงพอ

มีข้อมูลจากบริษัทประกันชีวิต แจ้งว่า ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นนั้น มีถึง 40% ที่เป็นการเบิกค่ารักษาจาก Simple diseases ซึ่งไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่มากพอ

Simple diseases หมายถึง การป่วยเล็กน้อยทั่วไป ที่สามารถรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) รับยา และดูแลตัวเองที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล หรือ รับการตรวจรักษาที่ซับซ้อน

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีแนวทางถึงโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งให้ช่วยกันกลั่นกรอง ไม่ให้คนไข้นอนโรงพยาบาล เพื่อสงวนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับคนไข้ที่จำเป็นจริงๆ 

แต่สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งขึ้นมาแสวงหากำไร และตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ทั้งหมดจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าโรงพยาบาลจะพยายามให้คนไข้นอนโรงพยาบาลมากที่สุด หรือใช้เครื่องมือที่โรงพยาบาลซื้อมาในราคาหลักหลายสิบล้านบาท เพื่อให้โรงพยาบาลถึงจุดคุ้มทุนในการซื้อเครื่องมือชิ้นนั้นเร็วที่สุด

มันจึงปรากฏออกมาในรูปที่ผู้เอาประกันจำนวนมาก ต้องนอนโรงพยาบาลโดยที่ไม่รู้ว่ามันมีความจำเป็นทางการแพทย์หรือไม่ เมื่อหมอแนะนำให้นอนโรงพยาบาล คนไข้ก็เชื่อตามหมอเพราะเราไม่รู้จริงว่ามันจำเป็นหรือไม่

บางโรคอาจต้องตรวจสอบให้แน่ใจ แพทย์จึงขอสังเกตอาการเสียก่อน แต่โรคจำนวนมาก เช่น ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ หรือแม้กระทั่งโรคโควิด เดี๋ยวนี้ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลแล้ว แค่ให้ยาแล้วกลับไปกักตัวที่บ้าน

ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข จะกล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง โดยการบังคับให้การเบิกค่ารักษาพยาบาลที่มีต่อรัฐ ผู้ป่วยในต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 10% เสมอ แล้วนำ 10% ที่หายไปจากค่ารักษาพยาบาลในปีที่ผ่านมา มาเพิ่มเป็นเงินเดือนหรือเงินบำนาญให้กับข้าราชการ

สำหรับบริษัทประกันชีวิตประกันภัย ที่ออกแผนประกันสุขภาพไม่ว่าแผนใดก็ตาม ควรจะมีแผนให้ลูกค้าร่วมจ่าย 10% เสมอโดยบริษัทประกันชีวิตอาจจะลดเบี้ยประกันให้ 15 ถึง 20%

ซึ่งผู้เขียนมีความเชื่อว่า วงเงินในการเรียกร้องสินไหมจะลดลงไม่ต่ำกว่า 30% และบริษัทประกันภัยหรือประกันชีวิตแห่งไหนเริ่มก่อน ก็จะได้เปรียบ เพราะลูกค้าที่มีสุขภาพดีซึ่งมั่นใจว่าตัวเองมีโอกาสป่วยน้อย จะตัดสินใจทำประกันแบบนี้เพื่อประหยัดเบี้ยประกันปีละ 15%

สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแบบมีส่วนร่วมในการจ่าย หรือ co-payment นี้ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการจากรัฐหรือสวัสดิการจากบริษัทประกันภัย เมื่อเริ่มดำเนินการได้จริง เชื่อว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

ไม่ว่าค่ายาหรือการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท แล้วนำรายจ่ายเหล่านี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่าการพัฒนาไฟฟ้า น้ำดื่ม หรือการป้องกันน้ำท่วมให้กับประชาชน

"นักการเมือง" คือ คนที่ทำงานแล้วหวังคะแนนเสียงในวันนี้ แต่ "รัฐบุรุษ" คือ คนที่กล้าทำในสิ่งที่ฝืนใจประชาชนแต่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ในวันข้างหน้าผมอยากรู้จริงๆ ว่า จะมีนักการเมืองจากพรรคไหน ที่กล้านำแนวคิดแบบรัฐบุรุษ มาบังคับใช้บ้างครับ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์