"รพ.เอกชน" ยอมถอย "ประกันสังคม" ยอมรับการันตีค่ารักษา 12,000 ตลอดปี

"รพ.เอกชน" ยอมถอย "ประกันสังคม" ยอมรับการันตีค่ารักษา 12,000 ตลอดปี

รพ.เอกชน รับได้หากประกันสังคมการันตีค่ารักษาพยาบาล 12,000 บาทตลอดปี ไม่ปรับลดลงช่วงปลายปี ขณะที่ปลัดแรงงานย้ำตั้งอนุฯ(เฉพาะกิจ) พิจารณาอัตราที่จ่ายเพียงพอ เป็นธรรม เหมาะสม

จากกรณีที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สะท้อนค่ารักษาพยาบาล ระบบประกันสังคมที่บางหมวดไม่มีการปรับเพิ่มแล้ว 5 ปี และค่ารักษาพยาบาลกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2  ถูกปรับลดลงจาก 12,000 บาท เหลือราว 7,000 บาท และมีข้อเสนอให้ปรับเป็น 15,000 บาท

โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) ให้มีการวิเคราะห์ศึกษาแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่า แนวทางแก้ปัญหาจะเป็นการการันตีค่ารักษากลุ่มโรคนี้อยู่ที่ 12,000 บาท ตลอดทั้งปี

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า มีข้อสังเกตของรพ.เอกชนจำนวนมาก แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพื่อประโยชน์ในการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่เป็นธรรม เท่าเทียม ทั้งรัฐ และเอกชน จึงตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจมาพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 90 วัน ว่าอัตราที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันนั้นเพียงพอ เป็นธรรม เหมาะสมหรือไม่
\"รพ.เอกชน\" ยอมถอย \"ประกันสังคม\" ยอมรับการันตีค่ารักษา 12,000 ตลอดปี

สำหรับกรณีที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่าจะการันตีค่ารักษากลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่ 12,000 บาท ตลอดทั้งปี ในขณะที่ทางสมาคม รพ.เอกชนขอ 15,000 บาท นั้น นายบุญสงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการ การแพทย์ ได้การันตี 12,000 บาททั้งปีอยู่แล้ว แต่ในช่วงโควิด ปรากฏว่า มีการเบิกจ่ายค่อนข้างมาก ทำให้เงินกองทุนดังกล่าวลดลง ช่วงปลายปี 2566 เดือนต.ค.- ธ.ค. จึงลดเหลืออยู่ 7,000 พันบาท ต่อ 1 ดีอาร์จี

“ที่เรียกร้อง 15,000 บาท นั้น ก็ต้องดูที่ความเหมาะสม อยู่ที่คณะอนุกรรมการจะพิจารณาอย่างไร แล้วเสนอมาที่คณะกรรมการ การแพทย์ สปส. ว่าเป็นธรรมเหมาะสมหรือไม่ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน” นายบุญสงค์ กล่าว 

ด้าน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า  สมาคม รพ.เอกชน เคยทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอชี้แจง และช่วยเหลือปัญหานี้ไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567  ซึ่งข้อเสนอหลักๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของอนุกรรมการฯ เฉพาะกิจ คือ ขอให้มีการการันตีหรือประกันการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในขั้นต่ำที่ 12,000 บาทต่อหน่วย หรือ AdjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน) โดยมีเพดานที่ 15,000 บาทต่อหน่วย

“การการันตีการจ่ายเงินผู้ป่วยในจะช่วยให้ รพ.เอกชน มั่นใจว่า จะไม่ถูกลดเงินลงอีกเหมือนปี 2566 ที่ถูกลดงบผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงเหลือเพียงเดือนละ 7,200 บาทต่อหน่วย หากไม่มีการประกันการจ่ายขั้นต่ำก็มีความเสี่ยงถูกปรับได้เรื่อยๆ ที่สำคัญควรมีการตั้งงบประมาณที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป เช่น อัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่มีเงินเท่าไร ก็จ่ายเท่านั้น และการที่รพ.เอกชน ลงนามกว่า 70 แห่ง ไม่ได้เป็นการขู่ แต่เพื่อขอความชัดเจนประกอบการพิจารณาว่า ประกันสังคมจะมีการการันตีการจ่ายขั้นต่ำค่าบริการผู้ป่วยใน 12,000 บาทต่อหน่วย  ซึ่งรพ. ต้องการนำข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณาว่า จะลงนามเป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต่อหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการขู่แต่อย่างใด” นพ.ไพบูลย์ กล่าว

นพ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบัน รพ.เอกชนมีประมาณ 400 แห่ง เป็นคู่สัญญาของประกันสังคม 93 แห่ง ซึ่งมองว่าสามารถที่จะควบคุมต้นทุนได้ ทำให้ตกลงเป็นคู่สัญญา และให้บริการผู้ประกันตนมาตลอด พวกเราไม่ได้อยากถอนตัว เพราะอยู่ด้วยกันมานาน แต่หากคุมต้นทุนต่อไปไม่ได้แล้ว ก็ทำให้ต้องกลับมาคิดพิจารณาอีกครั้ง ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ เฉพาะกิจ ที่แต่งตั้งขึ้นควรพิจารณาเรื่องนี้เป็นสำคัญ และ สปส.ควรมีการพิจารณาปรับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวในทุกหมวดให้สอดคล้องกับค่าเงินเฟ้อของประเทศ 

\"รพ.เอกชน\" ยอมถอย \"ประกันสังคม\" ยอมรับการันตีค่ารักษา 12,000 ตลอดปี

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเสนอทางเลือกให้โอนกลุ่มไม่เปราะบางจากสิทธิบัตรทอง 30 บาท มาอยู่ประกันสังคม นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า  เรื่องระบบสาธารณสุข หากสามารถตั้งงบประมาณสอดคล้องกับความเป็นจริงก็จะเหมาะสม อย่างไรก็ตาม จริงๆในต่างประเทศ ทุกคนที่มีรายได้จะต้องจ่ายเงินในเรื่องการรับบริการรักษา เพียงแต่ประเทศไทยไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่าต้องแก้ไขอย่างไรในเรื่องงบประมาณด้านสุขภาพ ตรงนี้ รพ.คงพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะอยู่ในฐานะ Provider ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ส่วนข้อเสนอให้รวมระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุนเป็นกองทุนเดียว นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ถึงขั้นนั้น ที่สำคัญที่มาของ 3 กองทุนก็แตกต่าง สวัสดิการก็แตกต่าง อย่างบัตรทอง ก็จะเป็นงบของภาครัฐ สิทธิสวัสดิการข้าราชการก็จะมีสิทธิที่แตกต่างกันไปอีก ขณะที่ประกันสังคม ก็จะมีการจ่ายสมทบ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์