"สารสกัดกัญชากัญชง" อนุญาตผลิต-ครอบครอง 4 กรณี ร่างกฎสธ.ฉบับเพิ่งผ่านครม.
อนุญาตผลิต-ครอบครองสารสกัดกัญชากัญชง 4 กรณี เจาะร่างกฎกระทรวงสธ.ฉบับครม.เพิ่งผ่าน อย.ย้ำชัดเจนขึ้นในแนวทางการใช้เชิงอุตสาหกรรม แยกการควบคุมสารสกัดไม่ใช่ยาเสพติด-ยาเสพติด
KEY
POINTS
- เจาะร่างกฎกระทรวงสธ.ฉบับครม.เพิ่งผ่าน อนุญาตผลิต-นำเข้า ส่งออก จำหน่ายครอบครองสารสกัดกัญชากัญชง 4 กรณี
- อย.ย้ำอุตสาหกรรมขับเคลื่อนได้ชัดเจนขึ้น สารสกัดกัญชากัญชงที่มีสารTHC เกิน 0.2 % ควบคุมแบบยาเสพติด ขณะที่หากมีสารTHCไม่เกิน0.2 % ไม่ใช่ยาเสพติด พิจารณาอนุญาตามกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ
- ส่งออกสารสกัดกัญชากัญชง อย.อนุญาตแล้ว 2 ครั้ง ส่วนผลิตภัณฑ์กัญชากัญชงขออนุญาตจากอย.ที่ผ่านมา 2,906 รายการ เครื่องสำอาง 2,121 รายการ อาหาร 596 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 189 รายการ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ตค.2567 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เสนอ และให้ส่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายลูกที่ออกตามประมวลกฎหมายกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เนื่องจากสารสกัดกัญชากัญชงที่มีสารTHCเกิน 0.2 % ยังเป็นยาเสพติด
กฎกระทรวงฉบับนี้จะกำหนดเรื่องการขออนุญาต ให้บุคคลทั่วไป และเอกชนสามารถดำเนินการได้ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะให้หน่วยงานของรัฐ รวมถึง วัตถุประสงค์เดิมใช้ในทางการแพทย์ การวิจัย ฉบับนี้ก็เพิ่มใช้ทางอุตสาหกรรมเข้ามาให้มีความชัดเจนมากขึ้น เท่ากับกฎกระทรวงฉบับนี้มีบทบาทในการส่งเสริมภาคธุรกิจด้วย เพราะจะมีแนวทางพิจารณาการอนุญาตแยกอย่างชัดเจนระหว่างสารสกัดที่THCเกินและไม่เกิน 0.2 %
ในส่วนของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง อาหาร มีความชัดเจนขึ้นว่าสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ สนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตามกฎหมายเฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น พ.ร.บ.อาหาร ,พ.ร.บ.เครื่องสำอาง และพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ ไม่สะดุดในแง่ของอุตสาหกรรม
“จะมีที่เป็นความลังเลกรณีที่สารสกัดมีTHCเกิน 0.2 %จะใช้อย่างไรนั้น ตอนนี้ก็ชัดเจนว่าส่วนนี้เป็นยาเสพติด แต่ก็ยังขออนุญาตในการใช้ประโยชน์ได้ โดยจะมีการขออนุญาตและควบคุมแบบยาเสพติดประเภท 5 ”นพ.สุรโชคกล่าว
สารสกัดกัญชากัญชงอนุญาต 4 กรณี
สำหรับสาระสำคัญในร่างกฎกระทรวงนี้ ในเรื่องการขออนุญาต กำหนดให้การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสารสกัดกัญชากัญชง จะพิจารณาออกใบอนุญาตเฉพาะ 4 กรณี คือ
1.เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์
2.เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม
3.เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์
4.เพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
ส่วนลักษณะของผู้ขออนุญาต ได้แก่
- บุคคลธรรมดา มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
- นิติบุคคล จดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51 % ของจำนวนหุ้งทั้งหมด
- วิสาหกิจชุมชน
- หน่วยงานของรัฐ
- สภากาชาดไทย
- สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
สารสกัดกัญชากัญชงอนุญาตส่งออก
ขณะที่การขออนุญาตผลิตภัณฑ์กัญชากัญชงจากอย.ที่ผ่านมา 2,906 รายการ แยกเป็น
- เครื่องสำอาง 2,121 รายการ เป็น การใช้น้ำมัน/สารสกัดเมล็ดกัญชง 1,381 รายการ ,การใช้ส่วนของกัญชง 62 รายการ ,การใช้ส่วนของกัญชา 166 รายการ ,การใช้สาร CBD 691 รายการ, สถานที่ 296 สถานที่ ,ผู้ประกอบการ 293 ราย
- อาหาร 596 รายการ เป็นน้ำมัน โปรตีน เมล็ดกัญชงและผลิตภัณฑ์ 43 รายการ,ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง 428 รายการ ,ผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD 125 รายการ ,สถานประกอบการ 173 แห่ง
- ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 189 รายการ , ยาแผนไทย 80 รายการ,ยาพัฒนาจากสมุนไพร 5 รายการ, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ 10 รายการ,ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิตโดยหน่วยงานรัฐ 74 รายการ, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ปรุงสำหรับคนไข้เฉพาะรายในสถานพยาบาล 20 รายการ
- อนุญาตส่งออกสารสกัดกัญชากัญชง 2 ครั้ง โดยส่งไปเกาหลีใต้เพื่อทำการวิจัยเนื่องจากในประเทศไม่สามารถปลูกได้ และประเทศแถบแอฟริกาเพื่อเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์