กำลังผลิตยาเพิ่ม 1 เท่า 160 ชนิด โรงงานผลิตยาขององค์การเภสัชกรรม รังสิต เฟส 2

กำลังผลิตยาเพิ่ม 1 เท่า 160 ชนิด โรงงานผลิตยาขององค์การเภสัชกรรม รังสิต เฟส 2

องค์การเภสัชกรรมเผยโรงงานผลิตยารังสิต เฟส 2 ใกล้เสร็จ ขยายกำลังผลิตยาเพิ่มขึ้น 1 เท่า ขณะที่ปี 67  กำไรสุทธิราว 2,100 ล้านบาท  นำส่งรายได้รัฐ 820 ล้านบาท  และช่วยภาครัฐประหยัดงบได้กว่า 4.6 พันล้าน

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ที่ห้องประชุมองค์การเภสัชกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม(อภ.)ว่า  องค์การเภสัชกรรมเป็นทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิต จำหน่าย และสั่งซื้อวัสดุ มาจำหน่าย เป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการให้ประชาชนหรือองค์กรของรัฐได้ใช้ยาและเวชภัณฑ์ราคาไม่สูง มีหลายสิ่งที่ได้ลงทุนไปแล้ว แต่จะต้องปรับปรุงเสมอ เพราะสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไป เชื้อโรคบางชนิดก็ลดลงไป  บางชนิดก็มีมาใหม่ อย่างโควิด-19 ในอดีตเคยมีความรุนแรงวันนี้ก็เบาบางลงไป

“ได้ให้นโยบายว่า องค์การเภสัชกรรมจะต้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่ราคาถูก เนื่องจากที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรมมีกำไรเพียงพออยู่แล้ว  และให้องค์การเภสัชกรรมศึกษาเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ผลิตออกมาแล้วไม่ว่าจะขาย หรือทำการประชาสัมพันธ์ ทั่วโลกให้การยอมรับหรือมีความปลอดภัยหรือไม่”นายสมศักดิ์กล่าว  

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม เร่งดำเนินการโครงการโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่องค์การเภสัชกรรม (คลอง10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ให้แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้โดยเร็ว

มีการผลิตกลุ่มยารักษาโรคเรื้อรัง ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาจำเป็น ได้แก่ ยารักษาโรคเอดส์ เบาหวาน ความดัน ลดไขมันในเส้นเลือด วัณโรค ยาช่วยชีวิต ยาชา ยาฆ่าเชื้อ วิตามิน ยาน้ำ ยาฉีด ยาครีม/ขี้ผึ้ง และยาเม็ด ทั้งยาเก่าและยาใหม่ ประมาณ 160 รายการ จะทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตยาเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งจะช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาได้มากกว่ามูลค่าในปัจจุบันที่ประหยัดได้มากกว่าถึงปีละ 7,500 ล้านบาท 

“องค์การเภสัชกรรมในวันนี้ มุ่งหวังที่จะให้องค์การฯสร้างความมั่นคงทางยา   มียาใช้เพียงพอ  พร้อมทั้งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการรักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อสังคมไทยเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รวมทั้งสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องของการส่งเสริมสมุนไพรไทย โดยองค์การเภสัชกรรมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและตลาดต่างประเทศอย่างตรงจุด ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
อนึ่ง ในการประชุมมีการนำเสนอจำนวนเงินที่ภาครัฐประหยัดได้เมื่อมีการซื้อยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรม ปี 2567 มูลค่า 4,650 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ อยู่ที่ราว 2,100 ล้านบาท และรายได้นำส่งภาครัฐ 820 ล้านบาท เมื่อดูข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีตั้งแต่ปี 2557-2567  มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 1,264 ล้านบาทต่อปี รายได้นำส่งภาครัฐเฉลี่ยราว 807 ล้านบาทต่อปี