'3 ส.พลัส' หยุด! ที่ทำงานไม่ใช่ Safe Zone หัวหน้า Toxic
ที่ทำงานไม่ใช่ Safe Zone หัวหน้า Toxic จิตแพทย์แนะ “ 3 ส.พลัส” สานสัมพันธ์หัวหน้า - ลูกน้อง เตือนอย่างใช้ไลน์ - โซเชียลฯ เป็นช่องทางกระหน่ำสื่อสารทุกอย่าง อาจเกิดการตีความเข้าใจผิด
KEY
POINTS
- สุขภาพจิตวัยทำงาน เมื่อ“ที่ทำงานไม่ใช่ Safe Zone” หรือพื้นที่ปลอดภัย และหัวหน้าเป็นบุคคลToxic จิตแพทย์แนะ 6 ข้อ “ 3 ส.พลัส” สร้างสัมพันธ์ที่ดีหัวหน้า-ลูกน้อง
- 3 เรื่องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในที่ทำงาน เสริมสุขภาพจิตวัยทำงาน ย้ำสถานที่ทำงานที่ดีคนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี องค์กรก็จะได้ผลผลิตที่ดี
- กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ปลุกพลังคนไทย “อึด ฮึด สู้” เพื่อให้สามารถต่อสู้ และผ่านพ้นวิกฤติ ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตได้
ปรากฏเหตุขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ที่สะท้อนให้เห็นว่า “ที่ทำงานไม่ใช่ Safe Zone” หรือพื้นที่ปลอดภัย และหัวหน้ากลายเป็นบุคคลToxic ปัจจัยกระตุ้นสร้างปัญหาสุขภาพจิตให้กับลูกน้อง ทางกลับกัน ลูกน้องก็เป็นพิษกับหัวหน้าได้เช่นกัน
จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 2.9 ล้านคน
ขณะที่ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2566 - 22 เม.ย.2567 พบมีผู้เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.20% มีความเครียดสูง 15.48% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% หากพิจารณาตามช่วงวัย ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงา และโดดเดี่ยว ส่วนวัยทำงานต้องเผชิญกับภาระงานที่หนักเกินไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรม และบทบาททางสังคม
ล่าสุด เกิดกรณีเภสัชกรตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากมีความกดดันในเรื่องการทำงาน สาเหตุจากหัวหน้างานไม่เคยเปิดใจรับฟัง
ส่วนผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทย โดยองค์กรนิวกราวด์ เคยระบุว่า ของขวัญที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่ คือ การรับฟังและความเข้าใจ 25% มากกว่าการได้รับเงิน 11% ถึง 2 เท่า
หัวหน้าต้องยึดหลัก “3 ส.พลัส”
กรุงเทพธุรกิจสัมภาษณ์ นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ จิตแพทย์และผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต เกี่ยวกับคำแนะนำในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานระหว่างหัวหน้า และลูกน้อง เพื่อลดปัญหาสุขภาพจิตของทั้ง 2 ฝ่าย
นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า หัวหน้างานจะมีความลำบากใจ จึงขอแสดงความห่วงใย เข้าใจ เห็นใจต่อหัวหน้างานทุกคน เพราะว่าต้องทำงานตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด และตามทิศทางที่องค์กรอยากให้เป็น ซึ่งเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องยาก และความท้าทายอย่างหนึ่ง คือ ลูกน้อง เพราะฉะนั้น เรื่องการดูแลลูกน้องให้ดำเนินการได้โดยมีความสุข และสุขภาพดีทั้งกาย และจิตเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น
แต่หลายครั้งมีลูกน้องบางคนส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ดังนั้น หลักในการดูแลของหัวหน้า 6 ข้อ หรือ “3 ส.พลัส” ประกอบด้วย 1.สอดส่องมองหา ให้ลองมองดูหรือรีเช็กเวลาที่พูดคุยกับลูกน้อง ดูฟีดแบ็ก หน้าตา คำพูด น้ำเสียง โดยเฉพาะคนที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับการให้งานหรือต้องตามงาน เพราะบางครั้งเขาอาจจะมีบางอย่างอยู่ในใจ ที่ไม่ได้เคลียร์แล้วจัดการไปตามที่เขาเจอ
2.ใส่ใจรับฟัง เมื่อพูดคุย สอดส่องเจอจะนำมาสู่การใส่ใจรับฟัง เพื่อดูปัญหาของเขาว่าลึกๆ แล้วคืออะไร ซึ่งปัญหาของคนไม่ได้มาด้วยเรื่องปฏิเสธงาน หรือขี้เกียจ แต่อาจจะมีมากกว่านั้น เช่น มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่หรือไม่ หรือยุ่งกับภาระหน้าที่ทางครอบครัวหรือเรื่องส่วนตัว หรือโมเม้นต์ของวันนั้นอาจจะไม่ใช่วันของเขา มีหลายเรื่องเข้ามาทับซ้อน
3.ส่งต่อเชื่อมโยง เมื่อเข้าใจปัญหาแล้ว นำมาสู่เรื่องการที่จะสามารถดูแลได้ ถ้ายังไม่ดีขึ้นจะได้ส่งต่อไปกับคนที่เป็นตัวช่วยกลุ่มอื่นๆ เช่น แผนกบุคคล หรือคนอื่นๆ
4.อดทน หากลูกน้องทำเรื่องไม่พอใจ หรือไม่สบายใจ ให้อดทนแล้วค่อยดู เพราะคนจะมีอารมณ์ช่วงโกรธหรืออารมณ์แรง และอารมณ์ที่สงบ ในช่วงที่อารมณ์แรงอย่าเพิ่งพูดคุย เมื่อถึงช่วงที่สงบเป็นเรื่องที่สำคัญค่อยพูดคุย
5.การใช้แรงจูงใจด้านบวกให้มาก ควรมีการเสนอว่าหากงานนั้นควรทำเพราะอะไร จะได้อะไรบ้างจะทำให้ลูกน้องสนใจที่จะทำมากขึ้น ดีกว่าการบอกว่า ถ้าไม่ทำงานนี้แล้วจะเจออะไร
6.หัวหน้าต้องดูแลตัวเองด้วย
อย่ากระหน่ำสื่อสารทุกเรื่อง ผ่านไลน์ โซเชียลฯ
การสื่อสารในที่ทำงานที่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างไลน์มากขึ้น ทำให้ไม่สามารถสังเกตหน้าตา ท่าทาง น้ำเสียงได้ นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า คนปัจจุบันนิยมการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียจนลืมไปว่าการสื่อสารแต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อเสีย ซึ่งเรื่องที่เร่งด่วนไม่ควรใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร ส่วนเรื่องที่จะใช้ไลน์ควรเป็นภาพกว้าง หรือการชี้แจง
แต่การสื่อสารที่ไม่เห็นอารมณ์ ทำให้เกิดการตีความได้ว่าข้อความนี้ กำลังว่าเขา หรืออาจจะแค่เล่นๆ เพราะฉะนั้นการสื่อสารกับคนรับสารอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน จำเป็นจะต้องมีการรีเช็กด้วยการโทรศัพท์พูดคุยเพื่อสังเกตน้ำเสียง หรือสื่อสารให้เห็นภาพชัดขึ้นด้วยการมีหน้าอิโมจิตอนท้ายของข้อความด้วยจะช่วยได้ รวมถึง การบอกความรู้สึกของตัวเองในข้อความนั้นด้วย
“เมื่อมีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแล้ว จับสังเกตได้ว่าไม่ปกติ ควรจะต้องเพิ่มการสื่อสารในช่องทางที่สามารถสังเกตน้ำเสียง สีหน้า สีตา ท่าทางได้มากขึ้น ไม่ใช่ไปกระหน่ำทุกอย่างอยู่ในไลน์หรือโซเชียลมีเดีย”นพ.บุรินทร์ กล่าว
ลูกน้องต้องหยุดนึกก่อน อย่าเพิ่งตอบโต้
สำหรับลูกน้องเมื่อต้องเผชิญกับหัวหน้าที่เป็น Toxic นพ.บุรินทร์ แนะนำว่า แม้อารมณ์ที่วูบขึ้นมาอยากจะตอบโต้กลับไป จะเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าเพิ่งตอบโต้ อยากให้หยุดนึก และรีเช็กก่อนว่า สิ่งที่หัวหน้าพูดเป็นสิ่งท้าทายจริงหรือไม่ หรือกำลังเครียดที่อยากจะสื่อสารแต่ไม่มีช่องทาง ซึ่งบ่อยครั้งหัวหน้าพยายามหาช่องทางที่จะคุยกับลูกน้อง แต่เครียดจากการที่ไม่รู้จะคุยอย่างไร ดังนั้น ลูกน้องควรถามกลับไปว่า เครียดกับหนูเรื่องอะไร ,มีอะไรไม่สบายใจหรือไม่ จะช่วยทำให้เริ่มที่จะมีการสื่อสารหรือคุยกัน
“อยากฝากลูกน้องก็จะต้องรับฟังหัวหน้าด้วย แต่ในฐานะที่ไม่ใช่หัวหน้า ต้องรับฟังในฐานะคนทั่วไป ลองนำตัวเองเข้าไปนั่งในใจเขาในฐานะหัวหน้าดู เพื่อให้เห็นว่ามีความยากลำบากอะไร หรือมีภาวะเครียด ถูกกดดันอะไรหรือไม่ เพราะเรื่องความเข้าใจเป็นการช่วยกันและกัน บางครั้งหัวหน้าก็เป็นแซนวิชที่เจอแรงกดดันหลายทางอยู่แล้ว ขณะเดียวกันหัวหน้าก็ต้องถอดวิญญาณตัวเองออกไปนั่งว่าหากเป็นลูกน้องจะเป็นอย่างไร จะเจอประเด็นปัญหาอะไรได้บ้างที่ทำให้ลูกน้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้”นพ.บุรินทร์ กล่าว
3 คำที่ทำให้การสื่อสารราบรื่นทั้งคนเป็นหัวหน้า และลูกน้อง คือ ขอบคุณ หากมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ชมให้ขอบคุณ จะได้รู้สึกดีกับเรา
- ขอโทษ เมื่อผิดพลาดมีการขอโทษอย่างจริงใจ เพราะทุกคนมีโอกาสได้ที่จะทำอะไรที่ไม่ถูกใจกัน ไม่ใช่เป็นเพราะคนนั้นคนนี้ไม่ดี
- โปรดรอ แจ้งให้อีกฝ่ายรับทราบว่า โปรดรอก่อนขอจัดการเรื่องนั้นเรื่องนี้ก่อนหลังจากนั้นจะทำให้ และระบุเวลาว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไร การให้ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้หัวหน้าไม่รู้สึกสับสนว่าต้องรอนานแค่ไหน การวางแผนการทำงานจะไม่เหนื่อย
ที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมดี ทำงานได้ดี
ส่วนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในสถานที่ทำงาน ทางกายภาพ หลัก ๆ จะเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1.มีการแบ่งพื้นที่การทำงานอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความเป็นส่วนตัวได้ 2.การออกแบบให้สถานที่ทำงาน มีพื้นที่สำหรับการปรึกษาได้อย่างง่ายเพื่อการจัดการงานที่ดีขึ้น และ 3.การใช้สีตกแต่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
“สถานที่ทำงานที่ดีมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีผลต่อผลิตภาพ ที่เป็นผลผลิตของงาน รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยคนทำงานที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะทำงานได้ดี เรียนรู้ได้ดี องค์กรก็จะได้ผลผลิตที่ดีจากคนทำงานที่มีความสุข ฉะนั้น สภาพของที่ทำงานมีความสำคัญมาก”นพ.บุรินทร์ กล่าว
สู้ปัญหาด้วยพลัง “อึด ฮึด สู้”
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวในการเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 2567 ภายใต้แนวคิด “ปลุกพลังใจ ก้าวไปพร้อมกัน” (Hopeful Hearts, Stronger Minds)ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่รวดเร็ว และซับซ้อน ทำให้การดูแลสุขภาพจิตสำคัญมากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่าย ครอบคลุม มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ มุ่งเน้นการสร้างพลังใจผ่านคำว่า "อึด ฮึด สู้" เพื่อให้สามารถต่อสู้ และผ่านพ้นวิกฤติ ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตได้
- “พลังอึด” คือ ความอดทนต่อแรงกดดัน และความเครียด ช่วยให้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยไม่ย่อท้อหรือหมดกำลังใจได้ง่าย ทำให้ไม่แตกสลายจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
- “พลังฮึด” คือ การรวบรวมพลัง และทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งจากตัวเอง และคนรอบข้าง ปลุกความมุ่งมั่น แรงจูงใจ ทั้งภายใน และภายนอก เปลี่ยนมุมมองที่สิ้นหวังต่ออุปสรรค ให้มีความหวังมากขึ้น และเห็นเป็นโอกาสในการเติบโต
- และ “พลังสู้” คือ การนำพลังใจ และทรัพยากรที่มีอยู่มาต่อสู้กับปัญหาอย่างมุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีสู้กับปัญหาได้อย่างยืดหยุ่น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์