6 นโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตวัยทำงาน ที่องค์กรควรต้องจัดให้

6 นโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตวัยทำงาน ที่องค์กรควรต้องจัดให้

10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) คนทำงานกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้า 40 % เครียดระดับสูง เสี่ยงซึมเศร้า-เสี่ยงฆ่าตัวตาย ขณะที่คนทำงานสะท้อนต้องการ 6 นโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตในการทำงาน  

KEY

POINTS

  • ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน  40% มีระดับความเครียดสูง สาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.2%  เครียดสูง 15.4% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.6%
  • 5 ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานที่ควรต้องเฝ้าระวังและป้องกัน  เครียด ภาวะหมดไฟ โรคซึมเศร้า ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค
  • 6 นโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตในองค์กรที่คนทำงานต้องการให้มี ลดปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน 
    เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจมากที่สุด  

 ผลวิจัยระบุว่า “คนทำงานที่มีความสุขจะเพิ่มผลผลิตมากกว่าคนทำงานที่ไม่มีความสุขถึง 20 %”  การดูแลสุขภาพจิตในคนทำงานเป็นเรื่องสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ แต่จากการสำรวจสุขภาพจิตพนักงานไทย ปี 2566 ของกรมสุขภาพจิต พบปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานในไทย 40% มีระดับความเครียดสูง สาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เช่น การทำงานจากที่บ้าน และความไม่แน่นอนทางธุรกิจ
สอดคล้องกับรายงานผลการประเมินสุขภาพจิตตนเอง 850,000 คน โดยกรมสุขภาพจิต ระหว่างเดือน ต.ค. 2566 - เม.ย. 2567 พบว่าผู้เข้ารับการประเมินเสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.2%  เครียดสูง 15.4% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.6%
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในวัยทำงาน ได้แก่ ความเครียดจากงาน,สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ,การไม่มีสมดุลงานและชีวิต Work life Balance และความไม่ลงตัวระหว่างความคาดหวังในงานและอำนาจการควบคุมงาน

5 ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน

ทั้งนี้ รพ.วิมุต ระบุถึง 5 ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน ประกอบด้วย  1.เครียดสะสม หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนเป็นแต่ไม่รู้ตัว สาเหตุจากการใช้ชีวิตบนความตึงเครียด ความกดดัน และมีความคาดหวังสูง 5-6 วันต่อสัปดาห์ สังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทั้งด้านอารมณ์และการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก นิ่งเงียบ เบื่อหน่ายชีวิต เศร้าหมอง ความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น

2. ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) สาเหตุมักเกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ภาระงานที่หนักซับซ้อนเกินกว่าที่จะรับผิดชอบได้ไหว บั่นทอนจิตใจจนกลายสภาพเป็นความหมดไฟในที่สุด ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ส่งผลให้มุมมองที่มีต่อการทำงานเป็นไปในด้านลบ ขาดความสุข หมดแรงจูงใจไม่อยากลุกไปออฟฟิตในยามเช้า และอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง ซึ่งหากปล่อยให้นานวันเข้าอาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้         

 3.ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self esteem) ความรู้สึกเศร้าใจ ไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจทำลงไปแล้วมากเสียจนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า สูญเสียความรู้สึกให้เกียรติตัวเอง แบกรับปัญหาและกล่าวโทษว่ามีต้นเหตุมาจากตัวเองไม่ดีพอ ตีความเหตุการณ์ต่างๆ ในแง่ลบเสมอ เป็นภาวะเสี่ยงมากที่จะก้าวข้ามสู่โรคซึมเศร้า สัญญาณเตือนที่เห็นได้ชัดเจน คือความอ่อนไหวไปกับเรื่องเล็กน้อยได้ง่าย วิตกกังวล ไปจนถึงกลัวการเข้าสังคมเพราะกลัวที่ต้องถูกปฏิเสธ ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าปฏิเสธคำขอของผู้อื่นเนื่องจากกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเองที่สะสมมาเป็นเวลานาน

4.โรคซึมเศร้า (Depression) เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ที่มีผลกระทบโดยรวมต่ออารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ไปจนถึงสุขภาพกาย นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่มาพร้อมความเครียดจากงาน ความกดดันจากการทำงานที่สะสางได้ยาก สภาพสังคม พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าด้วย ซึ่งสามารถสำรวจตัวเองและคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ ด้วยอาการเศร้าซึม หม่นหมอง หดหู่ เก็บเนื้อเก็บตัว รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยทำให้มีความสุข ซึ่งอาจรุนแรงไปจนถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเอง

  และ5. กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค (Panic Disorder) เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติที่คอยควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ รวมถึงมีความเครียดและความกดดันเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น มักแสดงอาการได้หลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นแรง ใจสั่น เหงื่อออกมาก หายใจหอบ อาเจียน วิงเวียนแบบฉับพลัน ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไปจนถึงการหวาดกลัวสิ่งรอบตัวจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

6 นโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตวัยทำงาน ที่องค์กรควรต้องจัดให้

6 นโยบายสุขภาพจิตองค์กร

ขณะที่ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กล่าวว่า การสำรวจสุขภาวะของคนทำงาน และปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ปี 2566 พบว่า พนักงานต้องการนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง 1.เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ 41.7% 2.อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 6.7% 3.เพิ่มสวัสดิการการลา 13.1% 4.ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา 11.3% 5.สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร 10.1%  และ6.เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน (ค่าตอบแทน อาหาร โบนัส) 6%

”GRACE”สร้างสุขภาวะจิตที่ดี

ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี ต้องครอบคลุมมิติทั้ง 5 ด้าน ที่เรียกว่า “GRACE” ประกอบไปด้วย G : Growth & Development การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการ  R : Recognition การแสดงออกและการรับรู้ความสามารถและความสำเร็จ A : All for inclusion การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม C : Care for health & safety การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัย และ E : work-life Enrichment การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความรู้สึกถึงความสำเร็จ พนักงานรู้สึกว่าสามารถเติบโตได้ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่เสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานได้

10 ประการสร้างสุขจากงาน

ในส่วนของประชาชน กรมสุขภาพจิตแนะนำว่าสามารถสร้างความสุขง่ายๆรายวันให้แก่ตนเองในการทำงาน ตามข้อแนะนำ 10 ประการ ได้แก่  1. ทบทวนถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ชื่นชมข้อดีของตนเองและผู้อื่น พร้อมเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสุข

2. มีอารมณ์ขันและส่งยิ้มให้กันอยู่เสมอ  

3. กล่าวคำขอบคุณให้เป็นนิสัย และขอโทษเมื่อทำผิด

4. ตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข และลงมือทำให้สำเร็จ

5. หยุดคิดเล็กคิดน้อย ยอมรับข้อบกพร่องของผู้อื่น

 6. จัดสรรเวลาให้สมดุล ตามหลัก 8-8-8 คือทำงาน 8 ชั่วโมง เวลาที่เหลืออีก 2 ส่วนคือการนอนหลับและให้เวลากับครอบครัว

7. ใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน ช่วยคลายความเครียด นอนหลับดีขึ้น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุราและสารเสพติด

8. ออฟไลน์ออกจากโลกโซเชียล แล้วหันมาพูดคุย ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับคนใกล้ชิดและคนรอบข้าง

9. ทำงานอดิเรกที่ชอบหรือทดลองทำอะไรใหม่ๆ

และ10. ยึดหลักความพอเพียงในการดำเนินชีวิต พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี