พนักงานเผชิญ ‘ภาวะหมดไฟ’ จากการใช้ AI ตามความคาดหวังของหัวหน้า

พนักงานเผชิญ ‘ภาวะหมดไฟ’ จากการใช้ AI ตามความคาดหวังของหัวหน้า

AI ที่ทำงานเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย? สำรวจชี้ พนักงานจำนวนมากเผชิญ ‘ภาวะหมดไฟ’ เนื่องจากต้องเจอกับความซับซ้อนของเครื่องมือ ซ้ำยังต้องทำงานให้ทันตามเป้าหมายที่เพิ่มสูงขึ้นของหัวหน้า

ขณะนี้องค์กรหลายแห่งได้นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กันโดยเร็ว ราวกับว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตด้านประสิทธิภาพ และลดภาระงานให้กับพนักงาน แต่ทว่า ผลสำรวจจากพนักงานที่ใช้เครื่องมือเอไอนั้นกลับตรงกันข้าม

สำรวจจาก Upwork Research Institute และ Workplace Intelligence พบว่า พนักงานส่วนใหญ่ระบุว่า AI ทำให้งานยากขึ้น 

  • 77% ของพนักงานรายงานว่า เครื่องมือ AI เพิ่มภาระงาน (Workload) 
  • 39% ใช้เวลามากขึ้นกับการตรวจสอบหรือแก้ไขเนื้อหาที่ AI สร้างขึ้น
  • 23% ใช้เวลามากขึ้นเพื่อเรียนรู้การใช้เครื่องมือ AI

รายงานดังกล่าวจัดทำโดย Walr บริษัทเก็บข้อมูล สำรวจพนักงาน ฟรีแลนซ์ และผู้บริหารระดับสูงกว่า 2,500 คน ในหลายประเทศ ระหว่างวันที่ 16 เม.ย. - 5 พ.ค. 2567 ในรายงานยังกล่าวเพิ่มว่า นอกจากทำให้ชีวิตการทำงานยากขึ้นแล้ว การใช้ AI ยังนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ โดยพนักงานประจำที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่า 

  • 71% รู้สึก “หมดไฟ” หรือ “Burnout”
  • 65% กำลังประสบปัญหาในการทำงานให้ทันตามเป้าหมายหรือความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นจากนายจ้าง

และที่น่าตกใจที่สุด ประมาณ 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 33% กำลังวางแผนจะลาออกจากงานภายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า สาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ตัดสินใจลาออกก็คือ พวกเขารู้สึกว่าปริมาณงานที่ได้รับมอบหมายนั้นมากเกินไป ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นตัวการทำลายสุขภาพจิต

Stephanie Alston ซีอีโอของ BGG Enterprises กล่าวว่า การใช้เครื่องมือ AI ต้องใช้เวลาเรียนรู้เป็นอย่างมาก ทำให้พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้า เพราะต้องแบ่งเวลามาทำหลายอย่างพร้อมกัน 

“การเปลี่ยนโฟกัสจากหน้าที่หลักเพื่อเรียนรู้ AI นำไปสู่การหมดไฟ เนื่องจากพนักงานพบว่าตัวเองต้องรับผิดชอบหลายอย่าง นอกจากนี้ ผู้บริหารบางคนคาดหวังว่าเครื่องมือ AI จะแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ทันที เมื่อ AI ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ทันที ภาระจะตกอยู่กับพนักงานที่ต้องแก้ไขปัญหางานนั้นอีกครั้ง”

Kelly Monahan ผู้อำนวยการ Upwork Research Institute กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้กับระบบการทำงานแบบเก่า ไม่ได้ช่วยปลดล็อกศักยภาพของ AI อย่างที่ทุกคนคาดหวัง ยิ่งกับผลงานที่ต้องการให้เอไอแก้ปัญหาได้อย่าง 90% ขึ้นไป ในเวลาที่จำกัด ยิ่งเป็นการกดดันพนักงานเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น การใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพต้องฝึกอบรมพนักงาน เพื่อให้เข้าใจถึงการทำงานและสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง มีการสนับสนุนด้านเทคนิคอย่างเพียงพอ องค์กรต้องรองรับการทำงานของ AI และมีทีมงานที่คอยดูแลและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ท้ายที่สุด องค์กรต้องตั้งความคาดหวังที่สมเหตุสมผล เพราะ AI ก็ยังเป็นเครื่องมือที่พัฒนาอยู่ และอาจมีข้อจำกัดบางประการ

“AI อาจเป็นอนาคตของการทำงาน แต่การนำมาใช้ต้องทำอย่างรอบคอบและเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ควรเร่งรีบ และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานและองค์กร ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาทางออกที่สมดุล เพื่อให้ AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือ ไม่ใช่ภาระที่ถ่วงการทำงาน” Kelly ทิ้งท้าย 

 

อ้างอิง: Forbes