“ภาวะฝืนทำงาน” จุดเริ่ม "หมดไฟ- ซึมเศร้า"  ปัญหาสุขภาพจิตที่องค์กรต้องแก้

“ภาวะฝืนทำงาน” จุดเริ่ม "หมดไฟ- ซึมเศร้า"  ปัญหาสุขภาพจิตที่องค์กรต้องแก้

"ภาวะฝืนทำงาน" ผลสำรวจพบพนักงานกว่า 50 % เจ็บป่วยทางกายก็ยังไปทำงาน 27.5 % มีปัญหาสุขภาพจิตก็ยังไปทำงาน  เผย 5 สาเหตุหลัก จุดเริ่มสู่ปัญหาหมดไฟ- ซึมเศร้า ขณะที่แค่ 2.8 %  มีสิทธิ์การตัดสื่อสาร หลังเวลางาน

KEY

POINTS

  • ภาวะฝืนทำงาน พนักงานกว่า 50 % เจ็บป่วยทางกายก็ยังไปทำงาน 27.5 % มีปัญหาสุขภาพจิตก็ยังไปทำงาน  เผย 5 สาเหตุหลัก จุดเริ่มสู่ปัญหาหมดไฟในการทำงาน ซึมเศร้า 
  • พนักงานเพียง 2.8 % เท่านั้น ที่มีสิทธิ์ตัดการสื่อสารหลังเวลางาน เผชิญปัญหาสุขภาพจิต เรื่องการถอนตัวออกจากงานไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถพักผ่อนทางความคิดได้เต็มที่
  • ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน 6 นโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงานที่พนักงานต้องการ 

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) จัดงานแถลงข่าวเปิดรับสมัครองค์กรเพื่อเข้าร่วมคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)

ภายใต้โครงการพัฒนากลไกวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต โดยเปิดรับทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จากภาครัฐและเอกชนที่มีการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน

ภาวะฝืนทำงาน นำสู่หมดไฟ ซึมเศร้า

ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน TIMS ให้สัมภาษณ์ว่า จากการสำรวจสุขภาวะของคนทำงานและปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน แบบเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา ปี 2566 พบว่า พนักงานมีภาวะที่เรียกว่า Presenteeism หรือ ภาวะการฝืนทำงาน 

โดยคนที่มีอาการเจ็บป่วยทางกายราว 50 % ยังฝืนทำงาน บางคนอาจจะแค่ 1-2 ครั้งหรือบางคน 5 ครั้งขึ้นไปในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และมี ปัญหาสุขภาพจิต 27.5 % ก็ยังฝืนทำงานด้วยจิตใจที่มีปัญหา เป็นปรากฏการณ์ที่นักจิตวิทยาเริ่มหันมาให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากเมื่อมีอาการป่วยควรที่จะได้พักและเติมพลังเต็มที่

“ภาวะฝืนทำงาน” จุดเริ่ม \"หมดไฟ- ซึมเศร้า\"  ปัญหาสุขภาพจิตที่องค์กรต้องแก้

“มีงานวิจัยว่าหากมีการฝืนไปทำงานบ่อยครั้ง จะเกิดภาวะหมดไฟ เพราะไม่ได้พัก เหมือนร่างกายควรที่พัก แต่ก็ยังมีความไม่สบายกาย ไม่สบายใจอยู่  ก็ฝืนไปเรื่อยๆ ความรู้สึกเครียด ความรู้สึกแย่ทางสุขภาพจิตก็มีขึ้น จนสุดท้ายมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะหมดไฟ หรืออาการซึมเศร้า  ซึ่งในต่างประเทศ พบว่า ภาวะหมดไฟก็จะมีแนวโน้มการเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นด้วย”ดร.เจนนิเฟอร์กล่าว 

สาเหตุภาวะฝืนทำงาน

ภาวะฝืนทำงานส่วนใหญ่เกิดจาก 5 สาเหตุ ได้แก่

 1.ความคิดที่ว่าไม่มีใครทำงานที่รับผิดชอบแทนได้ 22.2 % 

 2.มีงานด่วน หรือต้องทำงานสำคัญในวันนั้น 20.6 %

 3.มีความจำเป็นด้านการเงิน หรือกลัวได้รับผลกระทบกับผลการประเมิน 17.5 %

4.เพราะความจำเป็นหรือเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องไปทำงาน 14.3 % 

5.รู้สึกว่ายังทำไหวไม่จำเป็นต้องหยุดทำงาน  14.3 %

ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมองค์กร ที่มีการปลูกฝังว่าทุกคนจะต้องช่วยเหลือ ทุกคนจะต้องทุ่มเท ทุกคนจะต้องอดทน ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้ก็ดี แต่ก็จะเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้คนรู้สึกว่าจะต้องฝืนทำงานตลอดเวลา

เพราะมีงานวิจัยจำนวนมาก บอกว่า การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานหรือการทำงานนอกเวลา สุดท้ายคนจะหมดไฟต่อการทำงานในที่สุด และเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้น พฤติกรรมการช่วยเหลือที่ต้องอยู่หลังเวลาเลิกงาน สุดท้ายก็ไม่ได้ดีเสมอไป  

 องค์กรต้องตั้งเกณฑ์ประเมินให้ถูกจุด

ในการแก้ปัญหาเหล่านี้  ไม่ควรให้พนักงานแบกรับอยู่ฝ่ายเดียว แต่องค์กร หัวหน้างานหรือหัวหน้าทีม ควรที่จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจให้คนได้กล้าพูดความรู้สึกกันได้มากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่รู้สึกว่าจะถูกตำหนิหรือลงโทษ หรือถูกไล่ออกจากกลุ่ม  จะต้องให้พนักงานสามารถพูดความรู้สึก ความต้องการได้จริงๆ แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือมาหาทางออกแนวทางแก้ไขร่วมกัน และ จะต้องมีการชื่นชม ให้รางวัล และตั้งเกณฑ์การประเมินให้ถูกจุด  

อย่างเช่น การไปชื่นชมคนที่ฝืนตัวเอง หรือพยายามอะไรมากเกินไป  แต่การที่พยายามฝืนตัวเองหรืออยู่ที่ทำงานหลังเวลาเลิกงาน บางทีก็ไม่ได้งานอะไร ขณะที่หากเห็นว่าอะไรที่หนักเกินไปก็บอกพนักงานว่าไม่ควรทำ ดังนั้น การออกแบบวัฒนธรรมองค์กรก็เป็นประเด็นที่สำคัญ

แค่ 2.8 % มีสิทธิ์ตัดสื่อสารหลังเวลางาน

ในการสำรวจยังพบด้วยว่าเรื่องแนวทางปฏิบัติ นโยบายหรือสิทธิ์สนับสนุนสุขภาวะทางจิตของบุคลากร

  •  เพียง 2.8 % มีสิทธิ์ในการตัดการสื่อสารหลังเวลางาน  โดยเมื่อเลิกงานแล้วแทบจะไม่มีใครติดต่อมาเพื่อพูดคุยเรื่องงาน 
  • 7.8 % มีโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน เช่น การเข้าถึงการรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือพบจิตแพทย์ 
  • 23.4 % มีการเข้าถึงการตรวจสุขภาพจิต
  • 27.1 % มีการจัดอบรมหรือ work shop ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต 
  • 27.5 % มีการสำรวจสุขภาพจิตของบุคลากรเป็นประจำ
  • 41.1 % มีนโยบายการจัดการทำงานแบบยืดหยุ่นด้านเวลา
  • 43.6 % มีสิทธิ์ในการลาหยุดเมื่อมีปัญหาสุจภาพจิต
  • 46.3 % มีนโยบายการจัดการทำงาน แบบยืดหยุ่นด้านสถานที่ทำงาน 

“เมื่อไม่สามารถตัดสื่อสารหลังเวลาเลิกงานได้ ก็เป็นสิ่งที่คนเจอกันมาก คือ ไม่สามารถถอนตัวออกจากงานได้ คือ ความคิดจะหมกมุ่น วกวนอยู่แต่กับเรื่องงานตลอดเวลา แม้แต่เวลาขับรถกลับบ้าน หรือวันหยุดก็ยังคิดเรื่องงาน ซึ่งพนักงานจำนวนมากเผชิญปัญหาเรื่องการถอนตัวออกจากงานไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถพักผ่อนทางความคิดได้เต็มที่”ดร.เจนนิเฟอร์กล่าว   

งานวิจัยพบว่าถ้าหัวหน้าเป็นแบบอย่างที่ดีในการหยุดพัก แบ่งเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว พบว่าลูกน้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย คนเป็นผู้นำองค์กร ผู้นำทีมจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการwork life balanceก่อน

6 นโยบายสุขภาวะทางจิตที่พนักงานต้องการ

ผลการสำรวจที่สำคัญอีกเรื่อง พบว่า พนักงานต้องการนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง

 1.เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ คิดเป็น 41.7%

 2.อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ คิดเป็น 16.7%              

 3.เพิ่มสวัสดิการการลา คิดเป็น 13.1%

4.ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา คิดเป็น 11.3%

 5.สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร มีพื้นที่เซฟโซนในองค์กร คิดเป็น 10.1%  

6.เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน เช่น ค่าตอบแทน อาหาร โบนัส คิดเป็น 6%  

“ภาวะฝืนทำงาน” จุดเริ่ม \"หมดไฟ- ซึมเศร้า\"  ปัญหาสุขภาพจิตที่องค์กรต้องแก้

GRACE 5 มิติ องค์กรเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี

ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards กล่าวว่า การดูแลพนักงานที่ดี ไม่เพียงเฉพาะแค่สิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ (Physical environment) เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อมทางด้านจิตใจ (Psychological environment) ของพนักงานควบคู่ไปด้วย สิ่งสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี ต้องครอบคลุมมิติทั้ง 5 ด้าน ที่เรียกว่า “GRACE” ประกอบไปด้วย

G : Growth & Development การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการ

 R : Recognition การแสดงออกและการรับรู้ความสามารถและความสำเร็จ

A : All for inclusion การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม

C : Care for health & safety การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัย

E : work-life Enrichment การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความรู้สึกถึงความสำเร็จ พนักงานรู้สึกว่าสามารถเติบโตได้ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่เสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานได้

50 องค์กรยกระดับเป็นต้นแบบ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ดำเนินการด้านสร้างเสริมสุขภาพจิตมุ่งเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน จึงร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาฯ จัดกิจกรรมการคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นเชิงบวก ทั้งด้านการงาน และด้านจิตใจของบุคลากร จำนวน 50 องค์กร

“สุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องของทุกคนต้องร่วมมือกัน ขอเชิญชวนองค์กรที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับเป็นต้นแบบองค์กรชั้นนำด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของประเทศ ขยายผลปรับใช้เพื่อพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานองค์กรอื่น ๆ ต่อไป” ดร. นพ.ไพโรจน์กล่าว   

อนึ่ง  องค์กรที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ส่งใบสมัครและผลงานเข้าร่วมประกวดมาได้ที่เว็บไซต์ https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_eDKHjhhzzZV1I2i

เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. ถึง 15 ก.ย. 2567 จำกัดสิทธิ์การรับสมัครเพียง 50 องค์กร โดยจะคัดเลือกผู้ชนะ 5 องค์กรที่มีความโดดเด่นใน 5 มิติภายใต้แนวคิด GRACE และมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน ทุกองค์กรที่เข้าร่วมประกวดจะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วม และได้รับผลการประเมินสุขภาวะทางจิตของพนักงานภายในองค์กรของตนเองที่ผ่านการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา