"จิตเวชยาเสพติด"ถึง 40% เปิดไทม์ไลน์ ควบรวมภารกิจกรมการแพทย์-กรมสุขภาพจิต

"จิตเวชยาเสพติด"ถึง 40% เปิดไทม์ไลน์ ควบรวมภารกิจกรมการแพทย์-กรมสุขภาพจิต

ผู้ป่วยจิตเวชกว่า 5 ล้านคน เป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดถึง 40%  “สมศักดิ์”หนุนขับเคลื่อนควบรวมภารกิจสุขภาพจิตและสารเสพติด จากกรมการแพทย์มากรมสุขภาพจิต  พร้อมเร่งแก้กฎหมายนำเงินกองทุนยาเสพติด มาใชรบำบัดผู้ป่วยความชัดเจนภายใน 30 วัน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  กล่าวในการตรวจเยี่ยมการสุขภาพจิตว่า การควบรวมภารกิจสุขภาพจิตและสารเสพติด มองว่า สามารถขับเคลื่อนได้ แต่ขอให้ทบทวนการใช้งบประมาณให้ดี เพราะเป็นห่วงเรื่องงบประมาณ กลัวจะไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผู้ป่วยจิตเวชกว่า 5 ล้านคน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดถึง 40% จึงขอให้ติดตามการแก้กฎหมาย เพื่อนำเงินของกองทุนยาเสพติด มาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดด้วยซึ่งคาดว่า จะมีความชัดเจนภายใน 30 วัน จะได้มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด

ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดถึง 40%  

“กรมสุขภาพจิต มีภาระหน้าที่เพิ่มเกือบครึ่ง โดยงานของกรมสุขภาพจิตเดิมมี 60% และมีงานยาเสพติดใหม่ 40% ซึ่งเมื่อรวมแล้ว งานก็ต้องเพิ่ม ดังนั้น เมื่องานเพิ่มเราก็ต้องโยกย้ายงานที่เกี่ยวข้องมากรมสุขภาพจิต ส่วนเสียงสะท้อนว่ามีภาระงานมากขึ้นนั้น ก็ต้องช่วยดูในเรื่องของงบประมาณให้เพียงพอด้วย จะได้ไม่เกิดปัญหา”นายสมศักดิ์กล่าว  

ระหว่างการประชุมเรื่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด นายสมศักดิ์ ได้ให้ทีมทดลองโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1667 และ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อทดลองแจ้งข้อมูลพบผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ที่กำลังจะทำร้ายผู้อื่น ปรากฎว่า ยังขาดการบูรณาการ เพราะสายด่วนได้ให้ผู้แจ้ง โทรติดต่อหน่วยงานอื่นแทน เช่น ตำรวจ โรงพยาบาล และไม่มีแนวทางการช่วยเหลือที่ชัดเจน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การทดลองโทรสายด่วน ทำให้เห็นว่า การเรียนทฤษฎีอย่างเดียวไปไม่ได้ ต้องดูการปฎิบัติด้วย ซึ่งสายด่วนพบว่า มีหลายเบอร์ และขาดการบูรณาการทุกหน่วยงาน ดังนั้น สายด่วนผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ต้องแก้ไขให้มีการบูรณาการและช่วยแก้ปัญหาได้จริง โดยเฉพาะคนที่กำลังจะทำร้ายคน ต้องมีตำรวจ ไปช่วยระงับเหตุด้วย ส่วนสายด่วนเบอร์ไหน ไม่มีงบประมาณ ก็ต้องดูว่า สามารถเพิ่มงบประมาณได้หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ได้ก็ต้องยุบไปรวมกับสายด่วนอื่นที่มีงบประมาณ จะได้ไม่เป็นภาระ และสามารถพัฒนาได้

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ทำแผนการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ส่งภายใน 2 สัปดาห์ เพราะนายกฯทราบดีว่า นอกจากการขาดแคลนพยาบาล ก็ยังมีปัญหาครูสอนพยาบาลด้วย โดยเรื่องนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมเร่งด่วนแล้ว ซึ่งมีแผนการเพิ่มบุคลากรแล้ว”นายสมศักดิ์ กล่าว

ไทม์ไลน์ควบรวมภารกิจสารเสพติด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการตรวจเยี่ยม กรมสุขภาพจิต มีการนำเสนอเรื่องการควบรวมภารกิจสุขภาพจิตและสารเสพติด โดยระบุถึงหลักการและเหตุผลว่า เรื่องสารเสพติดเป็นนโยบายรัฐบาลเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ยาเสพติด 85 % เป็นยาบ้า ความรุนแรงจากยาเสพติดและจิตเวชเพิ่มขึ้น 40 % เป็นโรคจิตเวชและสารเสพติด ต้องการดูแลรักษาด้านจิตสังคมและทางกาย ระบบริการต้องครอบคุลมทุกมิติทั้งส่งเสริมป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟู และทุกพื้นที่  ต้องลดความซ้ำซ้อนเชิงนโยบาย ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน บูรณาการทรัพยากร

ส่วนของเป้าหมาย เชิงนโยบาย นโยบายเป็นเอกภาพ บูรณาการการบริหารจัดการเป็นภาพรวมตั้งแต่ส่วนกลางจนถูงภูมิภาค เป้าหมายการจัดบริการ  ระบบบริการจิตเวชสารเสพติดเป็นหนึ่งเดียว ใช้ทรัพยากรร่วม ดูแลโรคร่วม ประหยัดงบประมาณประเทศ และเป้าหมายในผลลัพธ์ การเข้าถึงบริการผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดเพิ่มขึ้น และได้รับการดูแลที่ดีขึ้นทุกมิติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมปลอดจากความรุนแรง 

สำหรับขั้นตอน กรอบระยะเวลาการดำเนินงานหรือไทม์ไลน์

1. ก.ค.2567 การปรับเปลี่ยนหน้าที่ภารกิจโดยไม่ปรับโครงสร้าง  อธิบดีกรมการแพทย์มอบอำนาจภารกิจด้านสารเสพติดให้อธิบดีกรมสุขภาพจิต ,ตั้งอนุกรรมการบูรณาการภารกิจสุขภาพจิตและสารเสพติด กรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์
ส.ค.2567 เสนอแนวทางการบูรณาการการจัดบริการสุขภาพจิตและสารเสพติดที่ครอบคลุมทุกมิติ
2.ก.ย.2567 การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) และเสนอคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการสธ.
3.ปี 2568 การปรับเปลี่ยนบทบาทภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพิ่มอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นคณะกรรมการตามประมวลกฎหมายยาเสพติดทุกคณะ
อนึ่ง ปัจจุบันภารกิจในการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดอยู่ที่กรมการแพทย์เป็นหลัก โดยมีสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และสถาบันธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาค ขณะที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติดจะมีที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชด้วย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นที่มาของการควบรวมภารกิจสารเสพติดระหว่างกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต