วันต่อต้านยาเสพติด คนแจ้งเบาะแสรับ5%ยอดยึดทรัพย์
26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติด ผู้ป่วยยาเสพติดกว่า 1.9 ล้านคน กลุ่มสีเขียว 74 %ใช้ชุมชนฐานบำบัด ย้ำคนแจ้งเบาะแสรับ5% เครือข่ายฯชงรัฐ-เอกชนรับผู้พ้นโทษยาเสพติดเข้าทำงาน
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2567 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดเวทีสานพลังชุมชนล้อมรักษ์ กรุงเทพมหานคร และชี้แจงแนวนโยบายและกระบวนการขับเคลื่อนงานสร้างรูปธรรม ชุมชนล้อมรักษ์ CBTx เนื่องจาก 26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติด โดยมีผู้แทนภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศ เข้าร่วมว่า รัฐบาล ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และได้เริ่มปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน การจับกุม ยึดทรัพย์ผู้ค้า จัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัด ลดความรุนแรงของปัญหาจิตเวชจากยาเสพติด
ผู้ป่วยยาเสพติดเกือบ 2 ล้านคน
ในปี 2566 ประเทศไทย มีผู้ป่วยยาเสพติดประมาณ 1,900,000 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ซึ่งมีอาการรุนแรง หรือ ผู้ติดยาเสพติด 38,000 คนหรือประมาณ 2%
2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ 450,000 คน หรือประมาณ 24%
3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด 1,400,000 คน หรือประมาณ 74% โดยชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx เป็นกระบวนการสำคัญ ที่ช่วยการดูแลสนับสนุน และฟื้นฟูผู้ป่วยที่ต้องการเลิกยาเสพติด ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล ได้รับการดูแลที่ครอบคลุม และต่อเนื่อง ทั้งทางการแพทย์ สภาพจิต สังคม การศึกษา และการฟื้นฟู พร้อมช่วยเสริมสร้างความรู้ และทักษะในการดูแลตนเอง และผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ที่ผ่านมา มีชุมชนซึ่งเป็นฐานในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด ประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่ออาการดีขึ้น สามารถส่งต่อไปยังศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง เพื่อรับไปดูแล คืนคนดีสู่สังคม และมีกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. เป็นกำลังสำคัญ ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ป้องกันยาเสพติด ส่วนหนังสือที่ได้มีการยื่นให้กับตนเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ก็เห็นตรงกัน แต่สิ่งที่ตั้งคำถามมา เป็นการทำงานแบบตั้งรับ แต่ตนทำงานแบบรุกตั้งแต่อยู่กระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยได้แก้กฎหมายประมวลยาเสพติด เพื่อเน้นการยึดอายัดทรัพย์ เพราะในอดีต เราไม่ได้ทำเชิงรุก เป็นการตั้งรับอย่างเดียว
ผู้แจ้งเบาะแสรับ 5 % ยอดยึดทรัพย์ยาเสพติด
ในแต่ละปีสามารถยึดทรัพย์ได้ไม่ถึง 20 ล้านบาท ทั้งที่แหล่งผลิตต้นทางมีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านเหรียญ ตนจึงมองว่า การแก้ยาเสพติด ถ้าตั้งรับอย่างเดียวจะเหนื่อยมาก จึงมีการเปลี่ยนแนวทางเน้นการยึดทรัพย์ ให้รางวัลคนแจ้งเบาะแส 5% รวมถึงตนก็เพิ่งเปลี่ยนแนวทางการทำคดี ผู้เสพเหลือ 1 เม็ด แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่า เป็นผู้เสพ พร้อมบอกว่าซื้อจากใคร ซึ่งก็จะได้ 1 ผู้เสพ และ 1 ผู้ขาย ซึ่งจะได้ทั้ง ผู้เสพไปบำบัด และผู้ขายรายเล็ก ที่จะนำไปขยายผลยึดทรัพย์ด้วย
“เงินที่สามารถยึดทรัพย์ได้ ป.ป.ส.จะรวมเป็นกองทุนยาเสพติด แต่ยังไม่ได้นำงบประมาณมาใช้ในด้านจิตเวช ซึ่งกำลังทำกฎหมาย ให้สามารถนำงบประมาณจากกองทุนยาเสพติด มาสนับสนุนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้ โดยได้มอบหมายให้ทีมงานร่วมกับกรมสุขภาพจิต เร่งดำเนินการ”นายสมศักดิ์กล่าว
ชงภาครัฐรับผู้พ้นโทษยาเสพติดเข้าทำงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอให้ผู้พ้นโทษจากคดียาเสพติด สามารถทำงานเป็นราชการได้นั้น ตนยังไม่สามารถรับรองได้ เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่การให้ทำงานก็พร้อมสนับสนุน เนื่องจากหากพ้นโทษออกมาแล้วว่างงาน ก็จะกระทำผิดซ้ำอีก โดยเรื่องนี้ เห็นตรงกัน ซึ่งตอนตนเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้ขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 5 ภาค เพื่อรองรับผู้พ้นโทษจากเรือนจำแล้วไม่มีงานทำ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วที่จ.สมุทรสาคร รับได้ 10,000-20,000 คนทั้งผู้พ้นโทษและพักโทษ
ทั้งนี้ นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และภาคีสุขภาพกรุงเทพมหานคร ขอยื่นข้อเสนอการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อรัฐบาล
1.สนับสนุนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ชุมเป็นฐานของรัฐบาล โดยขอให้มีความจริงจังต่อเนื่อง
2.เร่งจัดตั้งศูนย์บำบัดแบบปิด ใช้เวลารักษาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเพิ่มโอกาสการบำบัดรักษาให้สำเร็จ
3.เร่งรณรงค์ และสนับสนุนมาตรการองค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ให้โอกาสผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดและผู้ที่พ้นโทษทางกฎหมาย สามารถสมัครเข้าทำงานได้
4.ขอให้กระทรวงแรงงานได้จัดหาอาชีพ หรือมีกองทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ (คล้ายกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) เพื่อรองรับผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดและผู้ที่พ้นโทษทางกฎหมาย ให้สามารถมีอาชีพหรือมีทุนในการประกอบอาชีพได้
“ชุมชนล้อมรักษ์” ลดผู้ติดยาเสพติด
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. มีต้นทุนในการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะในระดับพื้นที่/หมู่บ้าน/ชุมชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ต้นแบบสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ เช่น
- พื้นที่ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย
- พื้นที่ชุมชนบ้านคำเมย ต.ดูน อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ
- และกลุ่มเยาวชนสานฝันบ้านนาคล้อใต้ ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
ทำให้เกิดแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน นำไปสู่การสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ
การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ ทำให้มีผู้เข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในชุมชนสังคม โดยที่พวกเขาได้รับโอกาสจากคนในชุมชน นำไปสู่การส่งต่อข้อมูลการบำบัดจนทำให้หลายพื้นที่มีผู้ใช้/ผู้เสพยาเสพติด สมัครใจเข้ารับการบำบัดมากขึ้น ในขณะเดียวกันทำให้ชุมชนเข้มแข็งและมองปัญหายาเสพติดเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข จากเดิมที่หลายคนกลัวไม่กล้ายุ่งเมื่อได้ยินคำว่า ยาเสพติด แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดคือใช้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เปลี่ยนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม