2 ปี 'กัญชา' แพ้ฟาล์ว จับตาส่ออนุญาตนำเข้า 'เมล็ด-สารสกัด THC ไม่เกิน 0.2%' ?

2 ปี 'กัญชา' แพ้ฟาล์ว จับตาส่ออนุญาตนำเข้า 'เมล็ด-สารสกัด THC ไม่เกิน 0.2%' ?

2 ปี “กัญชากัญชง” แพ้ฟาล์ว นับ 1 ใหม่ จับตาส่ออนุญาตนำเข้า “เมล็ด”- “สารสกัดTHCไม่เกิน0.2%”จากต่างประเทศได้? หลังร่างประกาศฉบับใหม่ “กัญชาคืนเป็นยาเสพติด” ไม่กำหนดส่วนที่ปลดล็อกจากยาเสพติดว่า “เฉพาะที่ได้รับอนุญาตผลิตภายในประเทศ”

KEY

POINTS

  • กัญชากัญชงคืนเป็นยาเสพติด สธ.เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ 25 มิ.ย.2567 วันสุดท้าย สาระสำคัญ “ช่อดอกกัญชา”-“สารสกัดมีTHCเกิน 0.2 %” เป็นยาเสพติด
  • การนำกัญชากัญชงคืนเป็นยาเสพติด เท่ากับ 2 ปีที่มีการปลดล็อกกัญชา ผู้ลงทุนอุตสาหกรรมกัญชากัญชงตั้งแต่ผู้ปลูก โรงงานสกัด จนถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แพ้ฟาล์ว
  • กัญชากัญชงคืนเป็นยาเสพติดในส่วนของ “ช่อดอกกัญชา” ประกาศใหม่ส่ออนุญาตนำเข้าเมล็ด-สารสกัดที่มีTHCไม่เกิน 0.2 % จากต่างประเทศได้ จับตารัฐ“ห้ามใช้ในทางสันทนาการ” ต้องไม่เปิดช่องให้ “ร้านขายช่อดอกได้” ในขณะที่ห้ามประชาชนปลูกเพื่อใช้เอง

ความคืบหน้าการนำกัญชากัญชงคืนเป็นยาเสพติดนั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้ยกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ... เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 11-25 มิ.ย.2567

ประกาศ “ช่อดอกกัญชา” เป็นยาเสพติด

สาระสำคัญ คือ ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

 1.กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

  • เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
  • ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
  • สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
  • เมล็ดกัญชา

2.กัญชง (hemp) พืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

  • เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
  • ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
  • สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
  • เมล็ดกัญชง

ส่วนขั้นตอนหลังผ่านการรับฟังความคิดเห็น ก็จะมีการปรับปรุงร่าง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือบอร์ดปปส.ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน หากเห็นชอบ ก็จะส่งกลับมาให้รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศ

หากทั้งหมดผ่านทุกขั้นตอน ในร่างประกาศดังกล่าวระบุไว้ว่า   ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2568 เป็นต้นไป

ผู้ปลูก สกัด ผลิตแพ้ฟาล์วกว่า 10,000 ล้านบาท

ทังนี้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายนำกัญชากัญชงคืนเป็นยาเสพติด มีเสียงสะท้อนจากผู้ลงทุนตลอดอุตสาหกรรมกัญชากัญชงว่าเกิดความเสียหายอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากที่มีการลงทุนไปกับธุรกิจกัญชาในช่วง 2 ปีที่มีการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด

กระทบทั้งกลุ่มต้นน้ำ ประชาชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาที่บางคืนโค่นพืชชนิดอื่นและมาปลูกกัญชา โดยมีการนำทุนมาสร้างโรงเรือนที่ปลูกให้ได้มาตรฐาน  กลุ่มกลางน้ำที่เป็นโรงงานสารสกัดกัญชากัญชง ซึ่งปัจจุบัน โรงงานสกัดที่มีใบอนุญาต 40 แห่ง

และกลุ่มปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์CBD ที่ได้รับเลขจดแจ้ง ในไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาส 2/2566 ผลิตภัณฑ์CBD ที่จดแจ้งจำนวน 707 รายการ  แยกเป็นอาหารเสริม 97 รายการ,เครื่องดื่ม 26 รายการ,สมุนไพร 2 รายการ และเครื่องสำอาง 582 รายการ  ส่วนผู้ได้รับอนุญาตสกัด พืชญชงรวม 49 ราย เป็นภาครัฐ 10 ราย ภาคเอกชน 39 ราย และพืชกัญชา รวม 41 รายเป็นภาครัฐทั้งหมด ภาคเอกชนยังไม่สามารถดำเนินการได้

เท่ากับว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  การลงทุนกัญชากัญชงโดยเฉพาะที่เป็นผลิตภัณฑ์CBD ซึ่งเป็นการใช้ทางสุขภาพ “แพ้ฟาล์ว” มีการลงทุนไปแล้วแต่ยังไม่สามารถสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้ประชาชน ทำการตลาดและจำหน่ายได้อย่างจริงจัง อันเนื่องจาก “ความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาล”
เมื่อรัฐบาลจะนำ “ช่อดอกกัญชา”กลับเป็นยาเสพติด  ก็จะต้องมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ตั้งแต่การทำความเข้าใจที่ถูกต้องและการรับรู้ของประชาชน เกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์CBD”ที่แม้จะมีส่วนผสมของสารCBDที่ได้จากช่อดอกกัญชากัญชง แต่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพนั้น “ไม่ได้เป็นยาเสพติด”

กัญชาห้ามใช้สันทนาการ

แต่เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ระบุถึงการนำกัญชาคืนเป็นยาเสพติด แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการ “ปลดล็อกกัญชา”จะอยู่ร่วมในรัฐบาลด้วยก็ตาม ก็คือ “ห้ามการใช้ชสันทนาการ” เนื่องจากมีตัวเลขออกมาแสดงให้เห็นว่า 

การใช้กัญชาในประชากรวัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นและเยาวชน  พบว่า ประชาชน 60 % ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสันทนาการ , 34 % ใช้เพื่อผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับ และ 6 % ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ 

อัตราความชุกของการใช้กัญชาในประชากรทั่วไปในประเทศไทยก่อนปี  2565 อยู่ต่ำกว่า 5 % ทุกครั้ง  แต่ในปี 2565 อยู่ที่ 24.9 % และปี 2566-2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 20 %

ส่วนกลุ่มเยาวชนก่อนปี  2565 ใช้สูงสุด 3.1 %  ในปี 2566 นักเรียนมัธยมฯใช้ 11.8 %  เยาวชนนอกสถานศึกษา 47.6%  นักศึกษาระดับปริญญาตรีใช้ 17.1 % 

นั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต้องการปกป้องเด็กเยาวชนรวมถึงประชาชนไม่ให้เข้าถึงการ “สูบกัญชา” จึงต้องนำเฉพาะ “ช่อดอกกัญชา”ส่วนที่ถูกนำไปใช้เพื่อเสพ กลับไปเป็นยาเสพติด

 ขณะเดียวกันก็ยังจะแนวทาง “ผ่อนปรน”ให้ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจได้  ซึ่งหลักๆก็จะเป็นนำสารCBD ที่มีอยู่ในช่อดอกกัญชากัญชง  ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์และสุขภาพ ไม่ทำให้เกิดการเสพติด มาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ ทั้งเครื่องสำอาง และอาหาร  โดยจะเป็นไปตามกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จะออกแนวทางตามมา

จับตา ส่ออนุญาตนำเข้า-ร้านขาย

ทว่า ในร่างประกาศสธ.ฉบับนี้ มีส่วนที่แตกต่างจากประกาศสธ.ฉบับปี 2563 ที่มีการปลดล็อกกัญชาบางส่วนเพื่อให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยไม่ปลดล็อกช่อดอกและเมล็ด และกำหนดส่วนที่ปลดล็อกไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่งก้าน ราก ใบ สารCBDที่มีสารTHCไม่เกิน 0.2 % “เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ”เท่านั้นที่ไม่เป็นยาเสพติด
และแตกต่างจากประกาศสธ.ปี 2565 ที่ปลดล็อกทุกส่วนของกัญชาจากยาเสพติด ส่วนของสารสกัดจะต้องมีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2 % เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ และสารสกัดจากเมล็ดที่ได้จากการปลูกภายในประเทศเท่านั้น ที่ไม่ใช่ยาเสพติด

ทั้ง 2 ประกาศที่ผ่านมา จึงเป็นการป้องกันการ”นำเข้าสารสกัดกัญชากัญชง”เข้ามาในประเทศ 

แต่ในร่างประกาศสธ.ฉบับที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยา กลับ “ไม่กำหนดให้เมล็ดกัญชากัญชงเป็นยาเสพติด” และไม่กำหนดเรื่อง “เฉพาะที่อนุญาตให้ผลิตในประเทศเท่านั้น”

ฉะนั้น หากเป็นการ “นำเข้า”ส่วนอื่นของกัญชากัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดตามประกาศฉบับใหม่ที่จะออกมาสามารถทำได้ใช่หรือไม่ โดยเฉพาะ “เมล็ด”และ “สารสกัดที่มีสารTHCไม่เกิน0.2%”   

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ทราบข้อมูลจากวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีกลุ่มทุนที่นำเอาเมล็ดกัญชาจากต่างประเทศเข้ามาปลูกในประเทศไทย  ทำให้ช่อดอกกัญชาที่มีวางขายใน “จุดจำหน่ายกัญชา”ส่วนใหญ่ จะเป็นกัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ  สวนทางกับแนวทางที่ต้องการผลักดันการใช้ประโยชน์สายพันธุ์กัญชาไทย 

2 ปี \'กัญชา\' แพ้ฟาล์ว จับตาส่ออนุญาตนำเข้า \'เมล็ด-สารสกัด THC ไม่เกิน 0.2%\' ?
และจำเป็นต้องจับตาว่า “ร้านหรือจุดจำหน่ายกัญชา” ซึ่งข้อมูลเดือนเม.ย. 2567 ทั่วประเทศมี 7,747 จุด มากที่สุดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 1,122 จุด นนทบุรี 1,114 จุด และภูเก็ตกว่า 700 ร้านนั้น

หากมีแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์แผนไทยอยู่ในจุดจำหน่ายจะสามารถ “จำหน่ายช่อดอกกัญชา”โดยเข้าข่ายเป็นการใช้ทางการแพทย์หรือสุขภาพหรือไม่

เพราะหากสามารถทำเช่นนั้นได้ ก็จะเป็นการ “จำหน่ายช่อดอกกัญชาที่เป็นยาเสพติดโดยมีบุคลากรทางการแพทย์ดูแล เท่ากับไม่ผิดกฎหมายหรือไม่”

ทั้งที่ บางครั้งก็มิอาจรู้ได้ว่า ผู้ที่มาซื้อช่อดอกกัญชาไปนั้นนำไปใช้เพื่อสันทนาการหรือไม่ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักที่รัฐบาลต้องการควบคุมจึงต้องนำกัญชาคืนเป็นยาเสพติด

ขณะที่กฎหมายกลับห้ามขาดไม่ให้ “ประชาชนปลูกกัญชาใช้เอง”

ทั้งหมดต้องดูหลักเกณฑ์เงื่อนไขของการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชงที่อย.จะออกตามมาหลังจากที่ประกาศให้ “ช่อดอกกัญชาเป็นยาเสพติด”แล้ว 

เมื่อ “ช่อดอกกัญชา”เป็นยาเสพติด และนโยบายรัฐต้องการห้ามไม่ให้ใช้เพื่อสันทนาการ ก็จะต้องไม่มีการ “เปิดช่องใดๆ” ให้สามารถ “จำหน่ายช่อดอกกัญชา”ในลักษณะรูปแบบที่สุ่มเสี่ยงจะถูกนำไปใช้เพื่อสันทนาการ

แม้ว่าจะเป็น “ร้านขายที่ได้รับอนุญาต” มีบุคลากรทางการแพทย์ที่กำหนดอยู่ในจุดจำหน่าย และผู้ซื้อมีอายุเกิน 20 ปีก็ตาม และต้องไม่ลืมนึกถึง เกษตรกรผู้ปลูกกัญชากัญชงในประเทศ หากจะอนุญาตให้นำเข้าเมล็ด และสารสกัดที่ไม่ใช่ยาเสพติดจากต่างประเทศเข้ามาได้