ค่าเงินบาทวันนี้ 25 ธ.ค. 67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดรอรับรู้ปัจจัยใหม่เพิ่มเติม
ค่าเงินบาทวันนี้ 25 ธ.ค. 67 เปิดตลาด “อ่อนค่า” ที่ 34.18 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดใกล้วันหยุดเทศกาล Christmas แกว่งตัวในกรอบ Sideways รอรับรู้ปัจจัยใหม่เพิ่มเติมก่อนที่จะเลือกทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในระยะถัดไป มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.10-34.30 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.18 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่โดยยังคงเป็นการแกว่งตัวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.12-34.20 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางปริมาณการทำธุรกรรมต่างๆ ในตลาดการเงินที่เบาบางลง เนื่องในช่วงใกล้วันหยุดเทศกาล Christmas ซึ่งหลายตลาดก็ได้หยุดทำการไป และบางส่วนก็อาจเปิดทำการเพียงครึ่งวัน เช่น ในฝั่งสหรัฐฯ และอังกฤษ ทำให้โดยรวมปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาท ทั้งเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และราคาทองคำ ต่างก็เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมก่อนที่จะเลือกทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในระยะถัดไป
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทว่าโซนแนวรับเงินบาทอาจขยับมาแถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านอาจยังคงอยู่แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรรอจับตาความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลยอดการส่งออกและการนำเข้า (Exports and Imports) เดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดการเงินมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากประเทศเศรษฐกิจหลักไม่มาก
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) แม้จะเปิดทำการเพียงครึ่งวัน หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นธีม AI นำโดย Tesla +7.4%, Broadcom +3.2% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีลักษณะ Broad-based ทำให้ “Santa Rally” ดูจะเป็นความจริงได้ในปีนี้ โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.35% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.10%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.32% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นอังกฤษ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานและเหมืองแร่ ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่รีบาวด์ขึ้นบ้างในระยะสั้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง ASML +0.7%
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.62% ก่อนที่บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนจะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง กลับสู่ระดับ 4.59% ซึ่งภาพดังกล่าว ก็สอดคล้องกับมุมมองของเราว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นเหนือโซน 4.50% ทำให้เราคงคำแนะนำเดิมให้รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ตามกลยุทธ์ Buy on Dip เนื่องจาก Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหว Sideways โดยมีจังหวะผันผวนไปตามทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามการเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเช่นกัน นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 108.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 108.0-108.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างยังคงรอทยอยขายทำกำไรสถานะ Long ทองคำ ตามที่เราได้ประเมินไว้ ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้และแกว่งตัวในกรอบโซน 2,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก อีกทั้งในฝั่งต่างประเทศจะเข้าสู่ช่วงวันหยุดเทศกาล Christmas ทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดการเงินอาจเบาบาง ส่งผลให้ตลาดการเงินอาจมีความผันผวนเกิดขึ้นได้ หากมีธุรกรรมใหญ่ๆ เข้ามา
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 13.30 น. ซึ่งเราประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ทว่าอาจต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ดุลการค้า (Trade Balance) ของไทยจะสามารถเกินดุลได้หรือไม่ หลังในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าการส่งออกจะฟื้นตัวดีขึ้น ทว่าดุลการค้าของไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงขาดดุลอยู่