ข่มขู่ปานามา-เล็งซื้อกรีนแลนด์ สัญญาณนโยบายต่างประเทศทรัมป์

ข่มขู่ปานามา-เล็งซื้อกรีนแลนด์ สัญญาณนโยบายต่างประเทศทรัมป์

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะยึดคลองปานามากับมาอีกครั้ง และว่าสหรัฐควรเป็นเจ้าของกรีนแลนด์ ส่งสัญญาณว่า ว่าที่ประธานาธิบดีจะใช้นโยบายต่างประเทศแบบไม่ยึดติดกับมารยาททางการทูต

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมตัวรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. ทีมงานของเขากำลังเตรียมให้เขารับมือกับสองวิกฤตินโยบายต่างประเทศ ทั้งสงครามในยูเครนและความขัดแย้งหลายประการในตะวันออกกลาง ทั้งสองวิกฤติว่าที่ประธานาธิบดีให้คำมั่นว่าจะแก้ไขโดยเร็ว

แต่เมื่อวันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) ทรัมป์กลับข่มขู่พันธมิตรอย่างปานามาและเดนมาร์ก ผู้ควบคุมเกาะกรีนแลนด์ในฐานะดินแดนโพ้นทะเล หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้นแคนาดาก็ตกเป็นเหยื่อเมื่อทรัมป์เย้าว่า แคนาดาควรกลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐ

ผู้ปกป้องแนวทางของทรัมป์ออกตัวว่า เขาแค่ให้ความสำคัญกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกาทั้งเศรษฐกิจและอื่นๆ เป็นหลักเมื่อต้องรับมือกับเพื่อนฝูง โดยไม่ต้องสนใจสิ่งที่พันธมิตรอาจเผชิญ

“หลักคิดคือ อะไรที่ดีกับอเมริกาย่อมดีกับส่วนอื่นๆ ของโลก ดังนั้นเขาจึงมองผลประโยชน์อเมริกาเป็นหลักในทุกสถานการณ์” วิกตอเรีย โคทส์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงแห่งชาติช่วงทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ปี 2017-2021 ให้ความเห็น

กรณีปานามา ทรัมป์กล่าวกับผู้สนับสนุนที่รัฐแอริโซนาว่า สหรัฐควรกลับไปควบคุมคลองปานามาอีกครั้งหนึ่ง เพราะปานามาเก็บค่าผ่านทางสูงเกินไป ซึ่งประธานาธิบดีรีบออกมาปฏิเสธเสียงแข็ง

ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์สองราย กล่าวกับรอยเตอร์สแบบไม่เปิดเผยตัวตน อธิบายว่า ทรัมป์กำลังแก้ปัญหาใหญ่กว่าที่คาดว่าเขาจะให้ความสำคัญในการดำรงตำแหน่งวาระสอง นั่นคืออิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นเหนือรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา

จีนไม่ได้ควบคุมหรือบริหารคลองปานามา แต่บริษัทลูกของซีเคฮัตชิสันโฮลดิงส์ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในฮ่องกงได้บริหารท่าเรือสองแห่งตั้งอยู่ทางเข้าคลองฝั่งแคริบเบียนและแปซิฟิกมาช้านาน

“ทั้งหมดเป็นเรื่องของการใช้อำนาจต่อรองและความยืดหยุ่น ผู้ใช้คลองปานามาเป็นอันดับสองคือจีน และเขาพยายามลดอิทธิพลจีนในลาตินอเมริกา” ทริเซีย แมคลาฟลิน ที่ปรึกษาของวิเวก รามาสวามี คนที่ทรัมป์เลือกมาเป็นประธานคณะกรรมการประสิทธิภาพรัฐบาลร่วมกับอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลากล่าว

แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของทรัมป์ชี้ว่า การทำเช่นนี้เสี่ยงทำให้พันธมิตรสำคัญเกิดความรู้สึกแปลกแยก ในบางกรณีการดูหมิ่นออกสื่ออาจผลักเพื่อนเข้าไปอยู่ในรัศมีคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซีย หรือทำให้พวกเขาไม่อยากทำข้อตกลงด้านเศรษฐกิจหรือความมั่นคงกับสหรัฐ

ในกรณีนี้เมเยอร์ มิซราชี มาทาลอน นายกเทศมนตรีหัวอนุรักษนิยมแห่งปานามาซิตี้ ผู้สวมหมวก “ทำอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” ของทรัมป์ ถึงกับออกแถลงการณ์เข้มเมื่อวันอาทิตย์

“เราไม่เคยเป็นและจะไม่มีวันเป็นรัฐที่ 51” มาทาลอนกล่าว 

ในวันอาทิตย์เช่นกัน ทรัมป์ยังพูดถึงแนวคิดที่เคยเสนอไว้ตอนเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกว่า สหรัฐควรซื้อกรีนแลนด์ที่ทวีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากขึ้นทุกขณะ เมื่อโลกร้อนได้เปิดเส้นทางการค้าในอาร์กติก

แหล่งข่าววงในสามรายเผยว่า ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทีมงานถ่ายโอนอำนาจหรือที่ใกล้ชิดกับทรัมป์บางคนได้หารืออย่างไม่เป็นทางการเรื่องการซื้อกรีนแลนด์ที่เป็นดินแดนของเดนมาร์ก

ทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือลงนามข้อตกลงรวมตัวอย่างเสรี (COFA) กับกรีนแลนด์ หากเกาะเป็นอิสระจากเดนมาร์กโดยสมบูรณ์ ซึ่งโพลหลายสำนักชี้ว่า ชาวกรีนแลนด์ก็สนับสนุนให้แยกตัวจากเดนมาร์ก

ปัจจุบันสหรัฐทำข้อตกลง COFA กับสามรัฐเกาะในแปซิฟิก เปิดให้มีการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างกันในระดับสูงยิ่ง โดยที่รัฐเหล่านั้นยังคงเป็นอิสระ

ที่ปรึกษาและคนวงในสองรายเผยว่า แม้ทางการเดนมาร์กจะเมินความสนใจซื้อกรีนแลนด์ของทรัมป์ในสมัยแรก แต่เขาก็ไม่เคยล้มเลิกแนวคิดนี้

ส่วนเรื่องที่ทรัมป์ยิงมุกว่าแคนาดาควรเป็นของสหรัฐ นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีพื้นฐานความเป็นจริงน้อยมาก กระนั้นก็ยังมีความคิดเชิงยุทธศาสตร์อยู่เบื้องหลังการยั่วเย้าของทรัมป์ ในมุมมองของเอลเลียต เอบรามส์ นักวิจัยอาวุโส สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวคือนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดของแคนาดา กำลังตกต่ำเจอเสียงเรียกร้องหนาหูให้ลาออก

“ทรัมป์กำลังกดดันทรูโด ผมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาเรื่องภาษี เม็กซิโกก็น่าจะเจอแบบเดียวกันในวันหนึ่ง” เอบรามส์กล่าวซึ่งแมคลาฟลินเห็นพ้อง

“มันเป็นสารไปถึงทรูโดว่า คุณและแคนาดาคือน้องชาย อย่าแว้งกัดคนที่ให้อาหารคุณถ้าไม่ได้จ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรม”ที่ปรึกษาของรามาสวามีสรุปแนวทางที่ทรัมป์ทำกับแคนาดา