สธ.ปลดล็อก"คู่สมรสเพศเดียวกัน"มีลูกได้ หลังสมรสเท่าเทียมผ่าน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)เดินหน้าปรับปรุงแก้ไข “กฎหมายอุ้มบุญ” ไฟเขียวคู่สมรสเพศเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมายมีบุตรได้ หลังพรบ.สมรสเท่าเทียมผ่านสภาแล้ว พร้อมคลายล็อกต่างชาติที่จะเข้ามาทำในไทยด้วย
KEY
POINTS
- พรบ.สมรสเท่าเทียมผ่านสภา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เดินหน้าแก้ไขพรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ”
- กฎหมายอุ้มบุญใหม่ เปิดให้คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยในการมีบุตรและอุ้มบุญได้ หลังพรบ.สมรสเท่าเทียมผ่านสภา รวมถึงคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติทั้งคู่
- สถานบริการที่ให้บริการผสมเทียม เด็กหลอดแก้วและการอุ้มบุญ รวม 115 แห่ง เป็น รพ.รัฐ 17 แห่ง รพ.เอกชน 31 แห่งและคลินิกเอกชน 67 แห่ง ปี 2567 อัตราความสำเร็จ 48 %
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมาวุฒิสภาสมัยวิสามัญ มีมติเห็นชอบ มีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... หรือ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ประเด็นสำคัญ คือ “ให้บุคคลสองคน (ทุกเพศ)สมรสกันได้” รวมทั้งได้รับสิทธิต่างๆ
ทั้งนี้ คู่สมรสเพศเดียวกันแล้วประสงค์จะมีบุตร แต่ไม่สามารถมีได้ตามธรรมชาติ จะต้องอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริยพันธุ์ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะต้องมีการแก้ไขพรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ” เพื่อให้คู่สมรมเพศเดียวกันสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยในการมีบุตรและอุ้มบุญได้
ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาในข้อกฎหมาย มาตรา 21 กฎหมายอุ้มบุญ ประกอบกับ ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิด โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน พ.ศ. 2558 ในประเด็น
- คุณสมบัติของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้
- คุณสมบัติของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
- และหมวดความเป็นบิดามารดาของเด็กและการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย
ปลดล็อกเพศเดียวกันทำอุ้มบุญ
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เคยให้สัมภาษณ์ว่า กรมกำลังดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายอุ้มบุญ โดยมีการกำหนดให้สามารถดำเนินการได้ในคู่สมรส ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเพศชายกับเพศหญิง ดังนั้น หากเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายก็สามารถทำอุ้มบุญได้
“ในการแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญจะอนุญาตให้คู่สมรสทำได้ตามพรบ.สมรสเท่าเทียม เพราะในกฎหมายอุ้มบุญจะระบุว่าคู่สมรสตามกฎหมาย จะยึดที่การมีทะเบียนสมรสที่ถูกต้องกฎหมายเป็นหลัก แต่เมื่อประสงค์จะมีการอุ้มบุญก็จะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ก่อนเหมือนเดิม”นพ.สุระกล่าว
ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกองกฎหมาย สบส. ซึ่งจะมีการนัดหมายในปลายเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการฯ หากเห็นชอบก็จะนำร่างพ.ร.บ.นี้ไปทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็น และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอแก้ไขกฎหมาย
คู่สมรสต่างชาติทั้งคู่ทำอุ้มบุญในไทยได้
เช่นเดียวกับ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีสบส. กล่าวว่า สบส.อยู่ระหว่างการจัดทำ ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. … ฉบับใหม่ ได้แก่
1. การปรับแก้ไขคุณสมบัติผู้รับบริจาคไข่ ให้ญาติสืบสายโลหิตของภริยา ที่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี และไม่จำเป็นจะต้องผ่านการสมรสสามารถเป็นผู้บริจาคไข่ได้
2.การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อนของภริยาที่มีอายุ 35 ปี สามารถตรวจวินิจฉัยได้ตามที่แพทย์หรือผู้ให้บริการเห็นว่ามีความจำเป็นและสมควร
3.การปรับแก้เพดานอายุหญิงที่เป็นภรรยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น หรือการให้หญิงอื่นอุ้มท้องแทน จากเดิมหญิงอายุเกิน 55 ปี ไม่สามารถให้หญิงอื่นอุ้มบุญแทนได้ ตอนนี้มีการปลดล็อคให้อายุมากกว่า 55 ปี สามารถดำเนินการได้
4. อนุญาตให้ชาวต่างชาติ ที่เป็นคนต่างชาติทั้งคู่ เข้ามารับบริการทำอุ้มบุญในประเทศไทย ซึ่งหญิงที่จะใช้อุ้มบุญนั้นคู่สมรสสามารถพามาเองได้ หรือสามารถใช้หญิงไทยในการตั้งครรภ์แทน แต่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกลไกกฎหมาย และตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด จากเดิมที่กำหนดว่าหญิงหรือชายจะต้องเป็นคนไทย
และ5.การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ สำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน ดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมธรรม์ในการทำประกันสุขภาพสำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น และเป็นจุดดึงดูดในการตัดสินใจเข้ารับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยจากคู่สามีภริยาทั้งไทยและต่างชาติ
ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ สมาคมประกันภัย เรื่องกรมธรรม์ คาดว่าในเร็วๆนี้จะสามารถนำเสนอเรื่องการทำประกันของหญิงตั้งครรภ์แทน
นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมการมีบุตร กรมยังดำเนินการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ในการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก โดยผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนที่เกี่ยวข้องกรณีเข้ารับบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจากสถานพยาบาลภาครัฐ โดยกำหนดจำนวนเงินและเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเบิกค่ารักษาได้
ไทยทำสำเร็จอัตรา 48 %
อนึ่ง ปัจจุบันมีสถานบริการที่ให้บริการผสมเทียม เด็กหลอดแก้วและการอุ้มบุญ รวม 115 แห่ง เป็น รพ.รัฐ 17 แห่ง รพ.เอกชน 31 แห่งและคลินิกเอกชน 67 แห่ง การให้บริการมีบุตรยาก ประกอบด้วย1.ผสมเทียนม ในคู่สมรสที่ยังสามารถมีบุตรได้ จะใช้วิธีการฉีดน้ำเชื้ออสุจิของสามี เข้าไปในโพรงมดลูกของภรรยา มีการให้บริการประมาณปีละ 12,000 รอบการรักษา
2.การผสมเด็กหลอดแก้ว ให้บริการประมาณปีละ 20,000 รอบการรักษา
และ3.อุ้มบุญ คู่สมรสที่ตั้งครรภ์เองไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการให้อนุญาตแล้ว 754 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 7,500 ล้านบาท
มีอัตราความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก ปี 2566 ประมาณ 2.5 % เพิ่มขึ้นจาก 46 % เป็น 48 % และยังคงจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย การมีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมกำกับการใช้เทคโนโลยีฯ อย่างเคร่งครัด และการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ สำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทนของภาครัฐ จะช่วยยกระดับการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์