ชำแหละ 5 ข้อ ‘พิพาท - วิวาทะการเมือง’ ‘เขากระโดง’ สงครามตัวแทน พท. - ภท.
“ละครฉากใหญ่” ที่ยังไร้ตอนจบ สำหรับ “มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง” ปมร้อนพิพาทระหว่าง “2 กระทรวง - 2 พรรค” ทั้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ “รฟท.”กระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในการดูแลของพรรคเพื่อไทย และ “กรมที่ดิน” กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย
KEY
POINTS
- “มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง” ปมร้อนพิพาทระหว่าง “2 กระทรวง - 2 พรรค” “ละครฉากใหญ่” ที่ยังไร้ตอนจบ
-
ทางออกของปัญหานี้ ถึงที่สุดหากการรถไฟเป็นฝ่ายชนะ กรมที่ดินจะต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน ส่วนประชาชนทางออกคือ “ขอเช่าที่ดิน” สอดคล้องแหล่งข่าวจาก “กรมที่ดิน” ให้ข้อมูลทำนองเดียวกัน หากมีการรื้อถอนสิ่งที่จะตามมา คือ ค่าชดเชยจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมโยงกับธุรกิจ “บ้านใหญ่เมืองบุรีรัมย์”
-
ทางออกที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ถึงเวลาจริงอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยเกมที่ส่อแววยืดเยื้อ อันเนื่องมาจากสัญญาณฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ 2 พรรคที่คุมกระทรวงต้นเรื่อง ที่ต่างฝ่ายต่างเปิดเกม “วัดพลัง-ต่อรอง” ภายใต้ดุลอำนาจที่ต่างฝ่ายต่างถือในมือ
“ละครฉากใหญ่” ที่ยังไร้ตอนจบ สำหรับ “มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง” ปมร้อนพิพาทระหว่าง “2 กระทรวง - 2 พรรค” ทั้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ “รฟท.”กระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในการดูแลของพรรคเพื่อไทย และ “กรมที่ดิน” กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย
วิวาทะที่ต่างฝ่ายต่างยังคงเปิดฉากอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว 19-20 ธ.ค.67 “มท.2” ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย หอบคณะจากกรมที่ดิน ลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ จัดประชุมสัมมนาพร้อมรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่กว่า 400 คน
ต่อมาวันที่ 23 ธ.ค.67 รฟท. ออกแถลงการณ์ตอบโต้กรมที่ดินอย่างดุเดือด ย่อมเป็นการตอกย้ำถึงศึกวัดพลังระหว่าง 2 กระทรวงที่ยังไม่มีทีท่าจะหาจุดร่วม ลงตัวได้โดยง่าย
ชำแหละประเด็น “ข้อพิพาท” รวมถึง “วิวาทะ” ที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยกมาเป็นข้อโต้แย้งในเวลานี้ มีอย่างน้อย 5 ข้อด้วยกัน
ประเด็นแรก สิทธิในการครอบครองที่ดินจำนวน 5,083 ไร่รวม 900 กว่าแปลง
ในมุมของ รมช.“ทรงศักดิ์” มองว่า ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่พิพาท มีความเข้าใจว่า รฟท.จะไปก้าวล่วงสิทธิของประชาชน เพราะการได้มาซึ่งที่ดิน มีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งไม่น่าจะเป็นที่ดินของการรถไฟ
ขณะที่ “รฟท.” โต้กลับว่า การทวงคืนที่ดิน เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง คำพิพากษาศาลศาลอุทธรณ์ภาค 6 คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลฎีกา ที่ตัดสินว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ของการรถไฟฯ
ฝั่ง “กรมที่ดิน” โต้แย้งว่า คำพิพากษาดังกล่าวมีผลผูกพันแค่ 35 ราย ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินการตามคำพิพากษาในการเพิกถอน รวมถึงระงับการออกโฉนด ส่วนอีกจำนวน 5,083 ไร่ ต้องทำให้เกิดความชัดเจน
ขณะที่ฝั่ง “รฟท.” โต้แย้งว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการทางศาล และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่ยุติแล้วว่า เป็นกรรมสิทธิของ รฟท.
พร้อมกันนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยโดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องข้างต้นแล้ว สรุปว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิของ รฟท. นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังระบุด้วยว่า กรมที่ดินมีหน้าที่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรถไฟฯ ไม่จำต้องไปฟ้องต่อศาล เพื่อให้มีคำพิพากษาทุกแปลง
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิ
ประเด็นที่สาม แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)
ในมุมของ “กรมที่ดิน” พยายามกล่าวอ้างว่า รฟท.ไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกาเพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินพิจารณา
ขณะที่ “รฟท.” โต้กลับว่า มีการยื่นเอกสารซึ่งแสดงถึงการได้มาของที่ดินรถไฟ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด และเป็นเอกสารชุดเดียวกันกับที่ยื่นต่อศาลยุติธรรม
ประเด็นที่สี่ การออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนในพื้นที่เขากระโดง มี 2 ตำบล คือ เสม็ด และอีสาน ซึ่งออกไปแล้ว 995 แปลง
ประเด็นนี้ “เจนกิจ เชฏฐวาณิชย์” รองอธิบดีกรมที่ดิน ระบุว่า การออกเอกสารสิทธิให้ประชาชน ไม่ได้ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว มีหน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
อีกทั้งมีการระวางชี้แนวเขต ที่การรถไฟฯได้รับรองว่า ไม่ใช่ที่ดินของการรถไฟ ซึ่งตรวจสอบจากข้อมูลในสารระบบ 2 ตำบล 271 แปลง เป็นข้อเท็จจริง และมีการตรวจสอบแล้วครบถ้วนตามกฎหมายที่ดิน จนปี 2539 มีข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับการรถไฟ จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนที่ปี 2539 ซึ่งเป็นที่มาของคำพิพากษาทั้ง 3 คดี
ขณะที่ “รฟท.” โต้แย้งว่า ปัญหาการออกเอกสารทับซ้อนที่ดินของ รฟท. นั้นหน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสารสิทธิในที่ดิน คือ กรมที่ดิน และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ รมว.มหาดไทย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดินที่จะต้องแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมด
ประเด็นที่ห้า “เขากระโดง” โยงเกมการเมือง
ประเด็นนี้ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันอย่างดุเดือด ฝั่ง รมช.“ทรงศักดิ์” ที่พูดถึงเรื่องนี้ ถูกตีความว่า เป็นการตีกันระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ เพราะทำกับประชาชนจำนวนมาก
ขณะที่ฝั่ง “รฟท.” ซัดกลับว่า ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีฝ่ายใด นำเอาปัญหาที่ดินเขากระโดงไปเชื่อมโยง เพื่อเป็นประเด็นการเมือง เพียงหวังเรื่องคะแนนนิยมทางการเมือง
จากปมร้อนข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ถึงเวลานี้ยังต้องลุ้น“คำสั่งศาลปกครอง” หลัง รฟท.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดงของอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งตามกระบวนการ จะดำเนินการภายใน 60 วัน
ก่อนหน้านี้ มีความเห็นมาจากฝั่ง รฟท.เกี่ยวกับทางออกในเรื่องนี้ ในมุมของ “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่า รฟท. ประเมินว่า ทางออกของปัญหานี้ ถึงที่สุดหากการรถไฟเป็นฝ่ายชนะ กรมที่ดินจะต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน ที่ออกทับซ้อนในบริเวณดังกล่าว
ส่วนประชาชนในพื้นที่พิพาทสามารถ “ขอเช่าที่ดิน” เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
สอดคล้องกับ แหล่งข่าวจาก “กรมที่ดิน” ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า หากถึงที่สุด ฝั่งกรมที่ดินแพ้ จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ ส่วนประชาชนในพื้นที่พิพาทคงไม่มีการรื้อถอน
เพราะหากมีการรื้อถอนสิ่งที่จะตามมา คือ ค่าชดเชยจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่ในส่วนที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจ “บ้านใหญ่เมืองบุรีรัมย์”
ฉะนั้นทางออกในเรื่องนี้ จึงอยู่การให้ประชาชน “เช่าที่ดิน” เพื่อใช้ประโยชน์แทน
ทางออกที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ถึงเวลาจริงอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยเกมที่ส่อแววยืดเยื้อ อันเนื่องมาจากสัญญาณฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ 2 พรรคที่คุมกระทรวงต้นเรื่อง ที่ต่างฝ่ายต่างเปิดเกม “วัดพลัง-ต่อรอง” ภายใต้ดุลอำนาจที่ต่างฝ่ายต่างถือในมือ โดยเฉพาะการหาช่องลอดด้วยการ “พิสูจน์สิทธิทีละแปลง”
แน่นอนว่า หากมีการทิ้งไพ่หน้านี้ ย่อมหมายถึงกระบวนการที่จะยืดเยื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด ตามไปด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์