"อันตรายต่อดวงตา" ที่เกิดจาก 5 สิ่งที่คุ้นชิน

"อันตรายต่อดวงตา" ที่เกิดจาก 5 สิ่งที่คุ้นชิน

สิ่งที่คุ้นชินในชีวิคจนอาจคิดไม่ถึง ว่าจะทำให้เกิด "อันตรายต่อดวงตา" พร้อมคำแนะนำในการดูแลสุขภาพตา โดยเฉพาะในแต่ละช่วงวัย ล้วนมีจุดที่ต้องระวัง

KEY

POINTS

  • บางครั้งโรคตาก็เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราทำจนคุ้นชินในชีวิตประจำวัน จนไม่ทันระวังหรือไม่คิดว่าจะส่งผลอันตรายต่อดวงตาได้ 
  • แสงแดดสิ่งที่ต้องเผชิญในทุกวัน การใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน อายไลเนอร์ คอนแทคเลนส์ ก็ล้วนสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ทั้งสิ้น
  • การดูแลไม่ให้เกิดอันตรายต่อดวงตา  มีคำแนะนำว่า ในผู้มีอาการผิดปกติทางตา ควรไปพบจักษุแพทย์ทันทีที่มีอาการ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติก็ควรไปตรวจสุขภาพตาเช่นกัน แบ่งตามช่วงวัย 

อันตรายต่อดวงตา เด็กและผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 20-40 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางตาจากมลภาวะทางอากาศ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ ทำให้ปัจจุบันพบผู้ที่มีปัญหาสายตาเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากจักษุแพทย์จำนวนมากขึ้น 

1.แสงแดดอันตรายต่อดวงตา

  • มะเร็ง การอยู่ท่ามกลางแสงแดดแรงๆ เป็นเวลานาน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังรอบดวงตา
  • ต้อลม การระคายเคืองจากรังสียูวีจากแสงแดด ลม และฝุ่น ทำให้เยื่อบุตาบริเวณที่เกิดกับขอบตาดำเกิดการเสื่อม โดยจะมีอาการตาแดง ตาแห้ง แสบตา คันตา และระคายเคืองตา
  • กระจกตาอักเสบ เมื่อดวงตาได้รับรังสียูวีในปริมาณมาก ทำให้กระจกตาเกิดการอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดอาการประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง หลังจากได้รับรังสียูวีปริมาณมาก
  • ต้อกระจก การได้รับรังสียูวีอย่างต่อเนื่อง จะกระตุ้นให้มีความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกเพิ่มมากขึ้น
  • จอประสาทตาเสื่อม การอยู่กลางแสงแดดจัดเป็นเวลานาน จะทำให้กระบวนการป้องกันจอตาตามธรรมชาติลดลงและเกิดการเสื่อมของจอตาได้ง่ายขึ้นเมื่อได้รับรังสียูวี ซึ่งอาจนำไปสู่อาการตาบอดถาวรได้

2.กาวติดขนตาปลอม เสี่ยงถึงขั้นตาบอด

การติดขนตาปลอมเพื่อความสวยงาม เสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา หากทำความสะอาดไม่ดีจะกลายเป็นการสะสมเชื้อโรคบริเวณรอบดวงตา มีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ดวงตา หรือหากใช้ไม่ระวังจนกาวที่ทำจากสารเคมีเข้าตา ทำให้เกิดอาการแพ้ระคายเคือง อักเสบ กระทั่งติดเชื้อ เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่รักสวยรักงามทุกคนควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า การติดขนตาปลอม บางครั้งอาจมีความผิดพลาดหรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น  กาวติดขนตาไหลเข้าตา ถึงบางอาการจะไม่รุนแรง แต่อาจเป็นภัยเงียบทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณกระจกตา ในรายที่รุนแรง เอาจถึงขั้นสูญเสียดวงตาได้

3.คอมพิวเตอร์ แท็บเลต สมาร์ทโฟน

กรมการแพทย์โดยรพ.เมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) ห่วงใยสายตาลูกน้อยจากคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้งยังนิยมใช้เป็นสื่อหนึ่งในการเพิ่มทักษะต่างๆให้แก่เด็ก

การใช้อุปกรณ์เหล่านี้มีข้อแนะนำเพื่อให้เด็กไม่เกิดปัญหาที่จะตามมาโดยเฉพาะปัญหาสุขภาพตา เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้งเคืองตา และตามัว สายตาสั้นก่อนวัย รวมถึงภาวะจิตสังคมขาดสายใยผูกพันระหว่างคนในครอบครัวได้
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า

 ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นหลายคนอาจเคยประสบปัญหาในอาการเหล่านี้ เช่น ทำให้ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัวโฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะหรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอนหลับได้

เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญจากการที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตใช้งาน พบว่าการใช้สื่อต่างๆเป็นเวลานานส่งผลต่อความตั้งใจเรียน ที่โรงเรียนลดลง พฤติกรรมการกินการนอนผิดไปและเกิดโรคอ้วนตามมา ปัญหาทางตาที่พบจากการใช้สื่ออุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้งเคืองตา ตามัว และเสี่ยงสายตาสั้นก่อนเวลาอันควร

ควรพบจักษุแพทย์ หากลูกน้อยมีอาการกระพริบตาบ่อย มองภาพไม่ชัด มีตาเข ปวดศีรษะ แต่ทั้งนี้เพื่อสุขภาพกายที่ดี ลดความเสี่ยงสายตา

 4.เห็บ หมัดสัตว์ลี้เยง กัดอยู่โคนขนตา

จากเหตุการณ์ในสื่อโซเชียลที่เห็บกัดอยู่โคนขนตา นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)กล่าวว่า สามารถพบบ่อยได้ในสัตว์เลี้ยงและในคน จึงอยากเตือนให้ตระหนักหมั่นดูแลเรื่องความสะอาดคอยกำจัดเห็บ หมัดอยู่เสมอ

โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นต้น โดยเห็บจะกระโดดเกาะคนแล้วคลานหาบริเวณที่ปลอดภัยเพื่อดูดเลือด เช่น บริเวณซอกพับ รักแร้ ไรผม มักกินเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง เห็บมีส่วนของปากที่งับบนผิวหนังคนเพื่อดูดเลือด เมื่ออิ่มเห็บจะคลายปากและหลุดไปเอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 7 วัน
หากสงสัยว่ามีเห็บ หมัด กัดที่ตาโดยเฉพาะเด็กเล็กอาจพบเป็นตุ่มสีดำที่บริเวณเปลือกตา ไม่ควรดึงออกเอง ควรพบแพทย์ เนื่องจากการดึงออกเองอาจเอาปากเห็บออกไม่หมดและมีการติดเชื้อแทรกซ้อน เนื่องจากเชื้อโรคเข้าไปในแผล ติดเชื้อ ตาบวมตาแฉะ น้ำตาไหลตาอักเสบมีหนองบริเวณเปลือกตาได้ อาจใช้เวลาในการรักษานานขึ้น

\"อันตรายต่อดวงตา\" ที่เกิดจาก 5 สิ่งที่คุ้นชิน

5.คอนแทคเลนส์ อายไลเนอร์  ต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน

 การแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา โดยเฉพาะการเขียนอายไลเนอร์ที่ขอบตา ถ้าเช็ดทำความสะอาดเปลือกตาได้ไม่สะอาด หรือการใช้คอนแทคเลนส์ ทำให้ตาแห้งมากขึ้น การกะพริบตาอาจไม่ปกติ จะทำให้เพิ่มการอุดตันของต่อมไขมันเปลือกตาได้

นอกจากนี้ ต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน อาจเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นได้มากกว่า ,การใช้หน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์นาน ๆ ทำให้การกะพริบตาน้อยลง ไขมันถูกบีบออกจากต่อมไขมันน้อยลง หลั่งออกมาเคลือบผิวตาน้อยลง ,โรคทางตา เช่น เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคทางกาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคข้อ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยารักษาสิว ยาจิตเวช ฯลฯ

ดูแลดวงตาตามช่วงวัย

ตามคำแนะนำของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ ในผู้มีอาการผิดปกติทางตา ควรไปพบจักษุแพทย์ทันทีที่มีอาการ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติก็ควรไปตรวจสุขภาพตาเช่นกัน

  •  ช่วงอายุแรกเกิดถึง 5 ปี ควรได้รับการตรวจดวงตา ตรวจค่าสายตา ตรวจภาวะตาเข และภาวะตา ขี้เกียจ หากตรวจพบการรักษาจะได้ผลดี
  • ช่วงอายุ 6 – 20 ปี เป็นช่วงวัยเรียนชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยมักมีภาวะสายตาผิดปกติอาจสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ซึ่งควรได้รับการแก้ไข
  • ช่วงอายุ 20 – 39 ปี เป็นวัยเรียนต่อกับวัยทำงาน มักพบโรคตาที่สัมพันธ์กับการใช้งานตาเป็นเวลานาน เช่น ภาวะตาแห้ง เป็นต้น อุบัติเหตุทางตา ภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง ที่สืบเนื่องมา ช่วงอายุตั้งแต่ 40ปีขึ้นไป จะเริ่มมีภาวะสายตายาวตามอายุ
  • ช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปี อาจพบภาวะต้อกระจก จุดรับภาพชัดเสื่อมตามอายุ ดังนั้นจึงควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อย 1ครั้งต่อปี

 ส่วนกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรตรวจตาอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ได้แก่

 1.เด็กคลอดก่อนกำหนดที่เข้าเกณฑ์ได้รับการตรวจตา

 2.ผู้มีปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน เช่น มีประวัติต้อหินในครอบครัว

3.ผู้ป่วยเบาหวาน

4.ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อจอตาฉีกขาดและหลุดลอก ได้แก่ เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา สายตาสั้นมาก

5.ผู้มีโรคทางกายที่ต้องใช้ยาบางตัวต่อเนื่อง เช่น ยารักษา วัณโรค ยารักษาโรคข้อ เป็นต้น

 ดังนั้นเมื่อมีอาการทางสายตา ไม่ว่าจะในช่วงอายุใด ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ เพราะอาการทางสายตาเกิดได้จากหลายปัจจัยเสี่ยง และอาจมีโรคทางกายเป็นสาเหตุร่วมด้วยได้การพบจักษุแพทย์จะช่วยให้วินิจฉัยสาเหตุได้ถูกต้อง และได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที

อ้างอิง : กรมการแพทย์,รพ.กรุงเทพ,รพ.ศิครินทร์