เพิ่มงบเหมาจ่ายดูแล “ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง”Long Term Care อีกคนละ 4,000บาท

เพิ่มงบเหมาจ่ายดูแล “ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง”Long Term Care  อีกคนละ 4,000บาท

ปี 2567 สปสช.เพิ่มงบเหมาจ่ายดูแล “ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง” Long Term Care เพิ่มอีกกว่า 4,000 บาทต่อคน  รวมเป็นจำนวน 10,442 บาทต่อคนต่อปี พร้อมขยายการดูแลเพิ่มเติม 2 กลุ่มเป้าหมาย ให้อปท.ดูแล

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)  กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อปี 2559 ที่มุ่งให้การดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยจัดสรรงบประมาณและมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น

ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกลไก “ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่” (Long Term Care : LTC ) 

ทั้งนี้ ผู้ที่ภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลภายใต้ระบบนี้ กำหนดเป็นบุคคลที่มีคะแนนประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 11 ซึ่งจะได้รับการดูแลจากทีมหมอครอบครัวและผู้ช่วยเหลือดูแล (Care giver) รวมถึงการได้รับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยที่จำเป็น ตามแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan)

โดย สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายไปยัง “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” ในอัตราเหมาจ่ายจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ อปท. ที่เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนฯ และนำไปจ่ายให้กับหน่วยบริการ สถานบริการ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ที่ทำหน้าที่ในการดูแลผู้มีภาวะพึงพิง

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แต่ละปีจะมีผู้มีภาวะพึ่งได้รับการดูแลอยู่ที่จำนวน 320,000 คนต่อปี แต่พบว่า ยังมีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มอื่นๆ ในชุมชนเพิ่มเติมอีก เช่น กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อม กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นหรือความต้องการที่ต้องได้รับการดูแลเหมือนกับกลุ่มที่มี ADL เท่ากับหรือต่ำกว่า 11 ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีภาวะพึ่งพิงให้ได้รับบริการที่บ้านหรือในชุมชนเพิ่มขึ้น

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในการประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะปานกลางและกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้มีผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลในระบบเพิ่มรวมเป็นจำนวนประมาณ 6 แสนคน

พร้อมกับที่ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณค่าบริการจากเดิมเหมาจ่ายการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ จากจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มเติมเป็นจำนวน 10,442 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 4,442 บาทต่อคนต่อปีซึ่งจะทำให้ อปท. มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ ทำให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้ดีขึ้น

รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดแรงจูงใจหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เช่น สถานชีวาภิบาลที่อยู่กระจายในชุมชนเข้าร่วมให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช. ข้างต้นนี้ สปสช. จะมีการปรับประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว ซึ่งบางส่วนก็ได้เสนอบอร์ดไปในคราวเดียวกันแล้ว พร้อมกับปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายที่จะเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากได้มีการขออนุมัติงบประมาณรองรับไว้แล้ว

นอกจากนี้ สปสช. จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำแนวทาง มาตรฐานการจัดบริการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับทั้งกับประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยจัดบริการต่อไป

เลขาธิการ สปสช. กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ สปสช. มีการสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการการดูแลผู้ป่วยที่ภาวะพึ่งพิง ในพื้นที่ของตนเอง จะทำให้เกิดการบูรณาการการดูแลผู้ป่วยทั้งด้าน Health Care และ Social Care ได้มากขึ้น เช่น ผู้ป่วยบางคนอาจมีความต้องการที่จะได้รับการช่วยเหลือทางด้านที่พักอาศัย หรือการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

ทางท้องถิ่นก็อาจจะจัดหางบประมาณในส่วนนี้มาสนับสนุนได้อีก รวมทั้งในปัจจุบันการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงมีหน่วยงาน องค์กร ที่ทำหน้าที่อยู่หลายหน่วยงาน แต่เมื่อลงไปดำเนินการจริงในพื้นที่แล้ว ท้องถิ่นก็จะได้รับทราบข้อมูล เป็นศูนย์กลางในการประสาน ลดความซ้ำซ้อนในการดูแลและงบประมาณได้