“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ”ผู้เปลี่ยนนโยบาย “วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี” ครั้งใหญ่
“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” คว้ารางวัลเหรียญเชิดชูเกียรติขุนประเมินวิมลเวชช์ ประจำปี 2567 ผู้อุทิศตัวให้กับการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตคนไทยและงานควบคุมป้อกกันโรคของประเทศไทยตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นเปลี่ยนแปลงนโยบาย “วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี” ครั้งใหญ่
KEY
POINTS
- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้า “รางวัลเหรียญขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2567
- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้สร้างองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย ค้นพบวัคซีนไวรัสตับอักเสบมีภูมิคุ้มกันอยู่นาน 20 ปี นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายและมาตรการ “วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี” ครั้งใหญ่
- แผนปฏิบัติการเฝ้าระวังและป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ โรคระบาด พ.ศ.2566-2570 เพื่อเร่งรัดกวาดล้างโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทยให้เหลือน้อยที่สุด ควบคู่กับโรคติดต่อประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในงานประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี 2567 Shaping the Future of Public Health 2030 ภายในงานยังมีพิธีมอบ “รางวัลเหรียญขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2567 ให้แก่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อุทิศตัวให้กับการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตคนไทยและงานควบคุมป้อกกันโรคของประเทศไทยตลอด 40 ปีที่ผ่านมา
และมอบโล่เกียรติบัตรรางวัลคุณภาพแห่งชาติการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ โดยกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 18 รางวัล
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้บุกเบิกงานวิจัยไวรัสตับอักเสบ
ขณะเป็นแพทย์ใช้ทุนที่รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ยงเลือกเรียนต่อเฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ รับราชการตำแหน่งอาจารย์หลังจากเรียนจบ และมีความสนใจศึกษาโรคตับอักเสบเป็นพิเศษ เนื่องจากช่วงเวลานั้นในหวอดผู้ป่วยเด็ก เต็มไปด้วยเด็กป่วยที่มีตัวเหลืองจำนวนมาก และเมื่อได้ไปอบรมที่ประเทศอังกฤษจึงตระหนักว่าประเทศไทยขาดแคลนงานวิจัยและการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
หลังกลับมาได้ริเริ่มโครงการวิจัยจากปัญหาหน้างานที่เป็นปัญหาใหญ่ของทั้งประเทศ คือ ปัญหาเด็กเกิดใหม่ได้รับไวรัสตับอักเสบจากแม่สู่ลูกในอัตราที่สูงมาก เริ่มจากการเจาะเลือดแม่ทุกคนที่มาคลอดที่รพ.จุฬาลงกรณ์
ซึ่งมีปีละราว 2,000 คน เตรียมแล็ปที่รู้ผลภายใน 4 ชั่วโมง หากพบผลเลือดแม่เป็นบวก จะฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบให้ลูกทันที ด้วยวิธีนี้สามารถตัดวงจรการส่งต่อเชื้อจากแม่สู่ลูกได้อย่างได้ผล และพบว่าการให้วัคซีนแก่ทารกภายใน 12 ชั่วโมงสามารถป้องกันโรคได้ดีที่สุด
โครงการวิจัยชิ้นนี้มีการติดตามผลของวัคซีนในเด็กอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงอายุ 20 ปี จำนวน 400 คน ได้ข้อค้นพบว่า วัคซีนไวรัสตับอักเสบสามารถป้องกันได้ยาวนานถึง 20 ปี วัคซีนคุ้มกันได้ 94 % โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 5,10ปีอีกตามคำแนะนำของบริษัทยา
ปี2528-2547 งานวิจัยการดูแลทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาะหะไวรัสตับอักเสบบี ติดตามต่อเนื่อง 20 ปี ได้รับการยอมรับในระดับโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย และมาตรการในการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีครั้งใหญ่ในประเทศไทยและนานาชาติ
อาจารย์ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญไวรัสตับอักเสบ เอ ซี และอี และเป็นกำลังสำคัญด้านวิชาการในการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก(WHO)ที่จะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลง 90 % ลดการเสียชีวิตลง 65 % ภายในปี 2573
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ มีบทบาทวางแผนวัคซีนแห่งชาติ
นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัย พัฒนาแนวทางการให้วัคซีนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูง ทั้งไวรัสตับอักเสบ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เยื่อหุ้มสมองอักเสล หัดเยอรมัน คางทูม ทำให้การป้องกันโรคมีความก้าวหน้า สถิติการติดเชื้อต่างๆลดลงอย่างต่อเนื่อง
และในฐานะหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก และหัวหน้าหน่วยวิจัยอนูชีววิทยาทางการแพทย์ ภาควิชากุมรเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่และนักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่านงานวิจัยจำนวนมาก ทำการศึกษาเชื้อไวรัสที่คุกคามสุขภาพครอบคลุมด้านวิทยาศาสตรพื้นฐาน การตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรม และแนวทางการป้องกันการรกัษา
ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ และศูนย์เชี่ยวชาญจะลงไปศึกษาถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสชนิดใหม่ เพื่อหาวิธีรับมือให้เร็วที่สุดเสมอ เช่น ช่วงการระบาดโรคไข้หวัดนก และโรคไข้หวัดใหญ่ 2009
วิจัยชุดตรวจ-ความปลอดภัยวัคซีนโควิด 19
ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ที่ผ่านมา อาจารย์ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไวนรัสและวัคซีน เพื่อหาแนวทางป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มกำลัง ทำการติดตาม ศึกษา จนสามารถพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยสายพันธุ์ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ทำงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยและผลภูมิต้านทานของการให้วัคซีนโควิดแต่ละสูตร ซึ่งเป็นการทำงานในสถานการณ์ยากลำบาก และเร่งด่วนท่ามกลางความไม่รู้ เพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายยืนอยู่บนฐานของความรู้
ตลอดการทำงานกว่า 40 ปี ผลงานของศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้รับรางวัลจากผลงานวิชาการมากมายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ในฐานะนักวิจัยที่พร้อมบุกเบิกความรู้ใหม่ ได้สร้างองค์ความรู้ที่ช่วยปกป้องชีวิตคนไทย และกล้ายืนยันความถูกต้องขององค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้
โดยผลงานวิจัยของศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อยู่บนฐานข้อมูลPubmed มากกว่า 750 เรื่อง ถูกนำไปอ้างอิงมากกว่า 25,000 ครั้ง โดยมี H-index= 74 บานฐานข้อมูล Google scholar
ตัวอย่างผลงานวิชาการศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
- ปี 2528 งานวิจัยการดูแลทารกทึ่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ
- ปี 2534 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปี2528-2547 งานวิจัยการดูแลทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาะหะไวรัสตับอักเสบบี ติดตามต่อเนื่อง 20 ปี
- ปี 2547 ผลงานวิจัยดีเยี่ยมไข้หวัดนก จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- ปี 2556 งานวิจัยดีเยี่ยมไข้หวัดใหญ่ชนิดเอในสัตว์ในประเทศไทย :เชื้อไวรัสไข้หวัดนกและเชื้อไข้หวัดใหญ่สุกร
- ปี 2565 ชุดการตรวจคัดกรอง โควิด-สแกน ได้รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมาก จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
- ปี 2565 ผลงานวิจัยดีมาก เรื่องความปลอดภัยและผลภูมิต้านทานของการให้วัคซีนโควิด 19 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
แผนฯป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ โรคระบาด
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข(สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงาน ว่า ขอแสดงความยินดีกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ที่ทำงานด้านไวรัสวิทยา จนเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรคด้วยวัคซีน
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 193 ประเทศ ที่ได้เข้าร่วมลงนามในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ให้บรรลุผลภายในพ.ศ. 2573
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย 17 เป้าหมาย 5 มิติ ที่จะเป็นอนาคตทุกคน ซึ่งประเด็นด้านสุขภาพ ภายใต้เป้าหมายที่ 3 ครอบคลุมการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีถ้วนหน้าในทุกช่วงวัย โดยมีเป้าประสงค์จะยุติการแพร่กระจายโรคติดต่อสำคัญ รวมถึง ลดการป่วยและการตายก่อนวัยอันควร จากโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนน สารเคมีอันตรายและมลพิษสิ่งแวดล้อม
จากเหตุการณ์การระบาดโควิด19 สอนให้รู้ว่า โรคระบาดส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต เศรษฐกิจ สังคม เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญวิกฤติแบบเดิม ทั้งจากโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ สธ. จึงทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังและป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ โรคระบาด พ.ศ.2566-2570 เพื่อเร่งรัดกวาดล้างโรคโปลิโอ กำจัดโรคมาลาเรีย โรคเรื้อน โรคเอดส์ โรคหัด โรคพิษสุนัขบ้า โรคเท้าช้าง และโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทยให้เหลือน้อยที่สุด
ควบคู่กับโรคติดต่อประจำถิ่น ทั้งไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก วัณโรค รวมถึงโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และโรคป้องกันได้ด้วยวัคซีน อีกทั้ง ยังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มุ่งเน้น 5 ยุทธศาสตร์ คือ
1. พัฒนานโยบาย กฎหมาย และการบริหารจัดการ เช่น มีนโยบายกฎหมายรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อเกิดศูนย์กลางบริหารโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ
2. พัฒนาโครงสร้างพื้น,ฐาน ยกระดับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคติดต่อ เช่น พัฒนาห้องปฏิบัติการ พัฒนาระบบสารสนเทศ ติดตามโรคแบบเรียลไทม์
3.ยกระดับการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ เตรียมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยจำนวนมาก
4.พัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ สนับสนุนการวิจัยโรคติดต่อและขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ
และ5.พัฒนาการสื่อสารความเสี่ยง และระบบสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรค สื่อสารข้อมูลโรคติดต่ออย่างชัดเจน พัฒนาเทคโนโลยีติดตามสุขภาพ เป็นต้น โดยการยกระดับดิจิทัล เฝ้าระวังและป้องกันโรค เป็นหนึ่งในนโยบายทุกคนปลอดภัย โดยอยู่ภายใต้นโยบายที่ตนได้มอบไปแล้ว 5+5 เร่งรัดสานต่อพัฒนา