“ไข้หวัดนก”กำลังยกระดับ  อีกไม่ช้า “ติดคนสู่คน”

“ไข้หวัดนก”กำลังยกระดับ  อีกไม่ช้า “ติดคนสู่คน”

โรคไข้หวัดนก “ไวรัสกำลังยกระดับ” ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาโมเลกุลของไวรัส ให้คำตอบว่า “อีกไม่ช้า การติดคนสู่คนจะเกิดขึ้น และวัคซีนอาจคุมการระบาดได้ไม่ดีเท่าโควิด”

KEY

POINTS

  • ไข้หวัดนก ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก(WHO) มีรายงานการพบติดมาสู่คนอย่างน้อย 8 สายพันธุ์ ไม่เฉพาะไข้หวัดนก H5N1
  • มีสัญญาณบ่งบอกว่า “ไวรัสกำลังยกระดับ” จำเป็นต้องจับตาดู วิวัฒนาการของเชื้อไวรัสที่อาจพัฒนาไปสู่ไข้หวัดนก ติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาโมเลกุลของไวรัส ให้คำตอบว่า “อีกไม่ช้า จะเกิดขึ้น”
  • วัคซีนไข้หวัดนก ชนิดmRNA มีการวิจัยพัฒนาแล้ว กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในสัตว์ทดลอง แต่ในคนนั้นประสิทธิภาพต่ำ อาจใช้คุมการระบาดได้ไม่ดีเท่าวัคซีนโควิด

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก(WHO)รายงาน ณ 19 เม.ย.2567 เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน ซึ่งมี 8 สายพันธุ์

  • สายพันธุ์H5N1 ตั้งแต่ ม.ค.2546 – 28 มี.ค. 2567 ใน 23 ประเทศ สะสม 888 ราย เสียชีวิต463 ราย อัตราป่วยตาย 52 %  
  • สายพันธุ์H5N6 สะสม 90 รายเสียชีวิตสะสม 35ราย อัตราป่วยตาย 39% 
  • สายพันธุ์H3N8 สะสม 3 รายและเสียชีวิต 1 ราย
  • สายพันธุ์H7N4  สะสม 1 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
  • สายพันธุ์H7N9  ตั้งแต่ปี 2556 พบผู้ติดเชื้อสะสม 1,568 ราย เสียชีวิตสะสม 616 ราย อัตราป่วยตาย 39% 
  • สายพันธุ์H9N2 สะสม 99 ราย เสียชีวิต 2 ราย (ทั้ง 2 รายมีโรคประจำตัว)
  • สายพันธุ์H10N3 สะสม 3 ราย ส่วนใหญ่ติดจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ สัตว์ปีกและสิ่งแวดล้อม
  • สายพันธุ์H10N5 สะสม 1 ราย

ส่วนประเทศไทยมีการระบาดของไข้หวัดนกH5N1เมื่อปี 2547 และมีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายล่าสุดเมื่อปี  2550

ขณะที่ 2 เหตุการณ์เกี่ยวกับไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นล่าสุด  คือ การพบคนติดไข้หวัดนก H5N1 จากการสัมผัสวัว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา และกรณีออสเตรเลียมีรายงานเด็กติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นรายแรกของประเทศ ซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย  

เป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งบอกว่า “ไวรัสกำลังยกระดับ” จำเป็นต้องจับตาดู วิวัฒนาการของเชื้อไวรัสที่อาจพัฒนาไปสู่ไข้หวัดนก ติดต่อจากคนสู่คน 

“ไข้หวัดนก”กำลังยกระดับ  อีกไม่ช้า “ติดคนสู่คน”
กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาโมเลกุลของไวรัส ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถึงความน่ากังวลของโรคไข้หวัดนก ได้คำตอบว่า “อีกไม่ช้า ติดคนสู่คน จะเกิดขึ้น”

ที่ผ่านมาคนทำงานเกี่ยวกับไข้หวัดนกไม่ค่อยสนใจ “วัว” เพราะไม่เคยมีการติดเชื้อจากสัตว์ปีกสู่วัวมาก่อน จะมีรายงานการติดจากนกไปสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น เช่น แมวน้ำ มิ้งค์  เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างอยู่ไกลจากมนุษย์  

ไข้หวัดนกจากวัวสู่คน

สิ่งที่น่ากังวลกรณีเจอในวัว ดร.อนันต์ กล่าวว่า  ไวรัสที่อยู่ในวัวแตกต่างจากในนก อาจจะมีการกลายพันธุ์ทำให้ความรุนแรงไม่เหมือนสายพันธุ์อื่นๆที่ยังอยู่ในนก และเมื่อมีการปรับตัวในวัวติดมาคนได้ อาการไม่ได้เหมือนที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น มีอาการติดเชื้อในปอดรุนแรง ซึ่งข้อมูลขณะนี้คนที่ติดจากวัว มีอาการตาอักเสบ ไม่มีอาการทางเดินหายใจ แต่ไม่รู้ว่าคนที่ติดจากวัวจะตาแดงทุกคนหรือไม่ ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น อเมริกาทั้งประเทศจะเดือดร้อนหนัก เพราะวัวอยู่ใกล้ชิดคนมาก  
 และผลิตภัณฑ์จากวัว ซึ่งพบว่าไวรัสเจริญเติบโตได้ดีที่บริเวณต่อมน้ำนม ทำให้นมที่ออกมาจากแม่วัวที่ติดเชื้อจะมีไวรัสเจือปนจำนวนมาก มีการทดลองในหนูกินนมดิบที่มีเชื้อและไม่ผ่านการฆ่าเชื้อปรากฎว่าตายหมด จึงมีความเชื่อว่าความปลอดภัยของอาหารในทวีปอเมริกาอาจจะเป็นประเด็นต่อมา

ไวรัสกำลังยกระดับ

แต่ส่วนตัว ดร.อนันต์  กังวลสายพันธุ์ท้องถิ่นโดยเฉพาะที่อยู่ในแถบเอเชียมากกว่าในอเมริกา ซึ่งไข้หวัดนก คือไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา( influenza viruses)

โดยเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับไข้หวัดนก แสดงว่า ไวรัสกำลังยกระดับตัวเอง จากเดิมที่เคยเจอเฉพาะอยู่แต่ในนก มีการข้ามมาติดที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลากหลายชนิดไปทั่วโลก และมีไข้หวัดนกหลายสายพันธุ์มาก จึงมีความเสี่ยงอยู่ทั่วโลก

“ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้าใกล้คนมากขึ้น โอกาสที่จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในคนสูงหมด  มีไวรัสอินฟลูเอนซาหลากหลายสายพันธุ์ที่พร้อมอุบัติมาเป็นตัวที่ติดจากคนสู่คนได้ ซึ่งตอนนี้ยังเดาไม่ออกว่าตัวไหนคือตัวจริง ถือเป็นประเด็นที่หลายๆคนกังวล”ดร.อนันต์กล่าว 
 

ไข้หวัดนก โอกาสที่จะติดคนสู่คน

ไม่น่าจะเกิน 2-3 ปีนี้ เป็นสิ่งที่ ดร.อนันต์ คาดการณ์ว่าไวรัสอาจจะมีการพัฒนาตัวเองจนสามารถติดคนสู่คนได้ เนื่องจากไข้หวัดนกหายไปประมาณ 10 ปี แล้วเริ่มมาพบผู้ป่วยประปราย เริ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 ปี มีสัญญาณไปติดแมวน้ำ แมว วัว หมู เมื่อเข้าใกล้คนเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะหมู เป็นสัตว์ที่ติดไข้หวัดใหญ่ได้ 3 ชนิดในตัวเดียว  

หากหมูติดไข้หวัดนก H5N1 และ H1ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ในคน แล้วผสมกันแลกเปลี่ยนพันธุกรรม กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่ติดจากหมูสู่คนได้ ก็เป็นโอกาสติดจากคนสู่คนได้ เพราะที่ผ่านมาการระบาดใหญ่ของไวรัสอินฟลูเอนซาในคน 2 ครั้งในสายพันธุ์H3N2ในปี 2511 และสายพันธุ์H1N1ปี  2552 โดยมีหมูเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่เป็นลูกผสมไวรัส

 “นี่อาจเป็นช่องทางที่ทำให้ไวรัสไข้หวัดนกมีวิวัฒนาการติดคนสู่คน ถ้าเกิดผมดูทรงในอีก 1-2 ปีนี้อาจจะเห็นติดคนสู่คน ส่วนความรุนแรงจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอลุ้น”ดร.อนันต์กล่าว 

ไข้หวัดนกสิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อม

โจทย์สำคัญของประเทศไทยนั้น ไม่ควรรอให้เจอผู้ป่วยก่อนแล้วค่อยปฏิบัติการ แต่ตอนนี้เป็นโอกาสทองที่ไวรัสยังไม่เข้าประเทศไทย ต้องเตรียมพร้อมที่จะเกิดเหตุการณ์ ซึ่งดร.อนันต์ รับประกันได้ว่าต้องเข้ามาไทย แต่จะเข้าจากที่ไหนและเมื่อไหร่

จึงต้องเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่มีองค์ความรู้จากโควิดเข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งขณะนี้มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ดำเนินเพื่อรองรับ เช่น วิจัยวัคซีน H5N1 ชุดตรวจวินิจฉัย แอนติบอดี้ แต่เป็นการวิจัยจากสายพันธุ์ในเอเชีย หากตัวเหล่านี้ระอุก็จะใช้ได้ แต่หากเป็นตัวที่อเมริกาขึ้นมา งานวิจัยก็ไม่ค่อยตรง เพราะประเทศไทยยังไม่มีตัวอย่างไวรัสนั้น

“ไข้หวัดนก”กำลังยกระดับ  อีกไม่ช้า “ติดคนสู่คน”

นอกจากนี้  ควรให้เกษตรกรคอยดูการป่วยตายของสัตว์ปีกไม่เฉพาะกรณีที่ผิดปกติเท่านั้น  ก็ขอให้ส่งตัวอย่างตรวจหาเชื้อ  อาจจะมีการทำสุ่มตรวจไปที่ในฟาร์มสุกรที่มีความใกล้ชิดสัตว์ปีก จะได้รู้ว่ามีเคสเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ หากพบก็ขอให้โปร่งใสในการแจ้งข้อมูลเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบต่อโลก

รวมถึง ควรมีการเตรียมชุดตรวจวินิจฉัยไข้หวัดนกสายพันธุ์H5N1ไว้ในรพ.ต่างๆ โดยเฉพาะรพ.ในเมืองท่องเที่ยว เพื่อทำการสุ่มตรวจในผู้ป่วย  จะช่วยให้มีการควบคุมโรคได้ดีขึ้น และต้องประสานความร่วมมือรวมพลังระหว่างหน่วยงานต่างๆที่มีความเชี่ยวชาญ น่าจะมีเป็นวาระแหงชาติขึ้นมา

 “การเตรียมพร้อม แม้จะไม่ระบาดใหญ่ขึ้นมา แต่ก็คุ้มค่า จะช่วยคนไทยในระยะยาวมากกว่าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงจนถึงระดับหนึ่งคล้ายๆโควิดที่ติดแล้วไม่ป่วยทันที แต่สามารถเอาไวรัสไปให้คนอื่นได้ จะน่ากลัวกว่าโควิด"ดร.อนันต์กล่าว 

วัคซีนไข้หวัดนกอาจคุมการระบาดได้ไม่ดีเท่าโควิด

ปัจจุบันมีบริษัทวิจัยพัฒนาวัคซีนไข้หวัดนก H5N1 ชนิด mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่ดีสุดตอนี้  เมื่อทดลองในสัตว์หนูและสัตว์ทดลองอื่นพบว่าภูมิคุ้มกันสูงมาก เพราะสัตว์ทดลองเหล่านี้ไม่เคยเจอไวรัสอินฟลูเอนซาและไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน 

 แต่เมื่อนำมาทดสอบในคน พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นต่ำมาก เนื่องจากคนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เป็นไวรัสอินฟลูเอนซามาตลอดเป็นประจำทุกปี  วัคซีนไข้หวัดนกที่ก็เป็นไวรัสอินฟลูเอนซ่าตัวหนึ่ง จึงไม่ใช่สิ่งใหม่ต่อร่างกายของเรา การฉีดวัคซีนก็จะตอบสนองได้ไม่ดี

ดังนั้น  แม้วัคซีนจะออกมาได้เร็ว เพราะมีการทำไว้แล้ว แต่ประเด็นคือมันจะไม่เวิร์กเท่าวัคซีนโควิดที่ประสิทธิผล 80-90%  แต่วัคซีนไข้หวัดนกอาจจะต่ำกว่า 50%  วัคซีนก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ได้ดีเท่ากรณีวัคซีนแก้ไขการระบาดของโควิดแล้วการใช้ชีวิตแบบปกติได้มากขึ้น แต่ไข้หวัดนกแม้มีวัคซีนภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ไม่ค่อยสูง ส่วนจะอาศัยการติดเชื้อจากธรรมชาติ คนก็ไม่กล้าเสี่ยงให้ตัวเองติดเชื้อไข้หวัดนก จนหาย

จึงอาจเป็นความชะล่าใจ ที่จะรอให้เกิดการระบาดขึ้นมาแล้ว มาหาวัคซีน ซึ่งนักวิจัยมองออกแล้วว่าวัคซีนยังไม่เวิร์ก

ตระหนักไม่ต้องตระหนก

ทุกคนต้องตระหนักว่าไวรัสมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนกับไข้หวัดนกที่ไทยเคยเจอเมื่อ 20 ปีก่อน ที่มีแค่ตัวเดียว สายพันธุ์เดียว ตอนนี้ไข้หวัดนกทั่วโลกน่าจะมีเป็น 100 สายพันธุ์ กระจัดกระจายอยู่ในธรรมชาติ ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติมีแบบนี้  และถ้าเกิดเคสขึ้นมาจริงๆยังไม่ต้องตระหนก เพราะไวรัสไข้หวัดนกยังไม่เคยมีข้อมูลว่าติดต่อจากคนสู่คนได้ดี แต่ต้องเฝ้าระวัง

“สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีอะไรต้องกังวลถึงขนาดว่า ในประเทศไทยเราจะทำอะไรกับสัตว์ปีกไม่ได้ เพราะไวรัสมีมากจริง แต่ยังอยู่ในส่วนที่มันอยู่ การจะติดเชื้อต้องใกล้ชิดจริงๆ ก็ต้องลดความเสี่ยงตัวเอง เช่น เจอสัตว์ปีกนอนตายก็อย่าไปแตะต้อง และยังไม่ถึงขั้นต้องกังวลว่าคนที่ไออยู่ข้างๆเราจะติดไข้หวัดนกมาหรือไม่ เพราะยังไม่ติดกระโดดมาที่คนสู่คน”ดร.อนันต์กล่าวย้ำ