ไข้หวัดนกในสหรัฐฯ คาดติดจากโคนม ทำให้เป็นตาอักเสบ
สธ. เผย ไข้หวัดนกในสหรัฐฯ ทำให้เป็นตาอักเสบ ไม่มีอาการทางเดินหายใจ คาดติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของโคนมป่วยในฟาร์ม ขณะที่ไทยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายตั้งแต่ปี 2550 ย้ำไทยยังเฝ้าระวังโรค ทั้งในสัตว์ปีกและในคนอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง
กรณีมีรายงานข่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกาว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 จำนวน 2 ราย เป็นเกษตรกรที่ทำงานในฟาร์มโคนม โดยรายแรกมีรายงานพบที่รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 และล่าสุดมีรายงานผู้ป่วยรายที่ 2 ที่รัฐมิชิแกน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 โดยผู้ป่วยทั้งคู่มีอาการตาแดงอักเสบ แต่ไม่มีอาการทางเดินหายใจ ปัจจุบันผู้ป่วยหายดีแล้วเพราะอาการไม่รุนแรง จากการสอบสวนโรคคาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของโคนมในฟาร์มที่กำลังป่วย เนื่องจากมีการระบาดของไข้หวัดนกในฟาร์มโคนมหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ติดตามตรวจสอบข้อมูลในเรื่องดังกล่าว ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา หรือ US CDC ได้ออกประกาศแจ้งเตือนโรคไข้หวัดนก โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการลดการสัมผัสเชื้อในกลุ่มคนงานในฟาร์ม
เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังในผู้ที่มีอาชีพเสี่ยง ย้ำให้บุคลากรสาธารณสุขเพิ่มการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ที่สงสัยว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการทันทีหากพบผู้ที่มีอาการสงสัยไข้หวัดนก
สำหรับประเทศไทย มีความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียวในการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน รวมทั้งโรคไข้หวัดนก โดยมีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องทั้งในสัตว์ปีกและในคน ซึ่งพบผู้ป่วยรายสุดท้ายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 และไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้ในโคนมในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้เกษตรกรสังเกตอาการป่วยของสัตว์ที่เลี้ยง และหากมีอาการป่วยหลังทำงานกับสัตว์ ให้รีบพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย โดยจากการประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำมาก เนื่องจากสถานการณ์ไข้หวัดนกครั้งนี้ถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในสหรัฐฯ และไม่มีการนำเข้าโคจากประเทศที่มีการระบาดของโรค
แต่เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีคำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรค ดังนี้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลังสัมผัสสัตว์และสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ ไม่นำมือที่เปื้อนมาสัมผัสใบหน้า จมูก ตาและปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่เปื้อนมูลสัตว์
หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้านทันทีเพื่อฝังกลบให้ถูกวิธี และห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายมาปรุงอาหารเด็ดขาด