ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ : ฝ่าวิกฤติ ‘โควิด-19’ งานวิจัยต้องเต็มหิ้ง!

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ : ฝ่าวิกฤติ ‘โควิด-19’ งานวิจัยต้องเต็มหิ้ง!

ภายใต้วิกฤติ"โควิด-19" นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้รับการยอมรับอย่างสูงในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ "หมอยง" เป็นนักวิจัยที่ทุ่มเทมาตลอด 20 ปี ต่อไปนี้คือมุมมองและข้อเสนอเพื่อให้ประเทศไทยรับมือกับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ได้ดียิ่งขึี้น

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ความรู้ด้านระบาดวิทยา และความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมแล้ว องค์ความรู้ที่ถูกสั่งสมจากงานวิจัยในด้านการแพทย์และสาธารณสุข คือปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความรุนแรงของวิกฤติสุขภาพครั้งนี้ไปได้มาก

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการให้ข้อมูลความรู้แก่สังคม รวมถึงร่วมให้คำแนะนำกับรัฐบาลตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็คือ ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

กว่า 20 ปีบนเส้นทางการวิจัย ศ.นพ.ยง ได้ผลิตผลงานมากมาย โดยรับทุนวิจัยจากสกว.(ชื่อเดิมของ สกสว.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา และได้รับการยกย่องให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโสติดต่อกันถึง 3 ครั้ง หลังจากนั้นจึงได้รับทุนศาสตราจารย์ดีเด่นอีก 3 ปี ก่อนจะรับทุนวิจัยแกนนำ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“งานวิจัยส่วนมากเป็นงานวิจัยด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคที่เป็นปัญหาในประเทศไทย ผมทำไวรัสเกือบทุกตัว ยกเว้น HIV เท่านั้นเอง ตลอดชีวิตการทำงานของผม มีผลงานตีพิมพ์เกือบ 600 เรื่อง และได้รับการอ้างอิง ถ้าดูตาม Google Scholar ก็ใกล้ 20,000 เรื่องแล้ว ผลงานเหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมาย แต่มักจะไม่ได้ออกไปเป็นรูปธรรมที่วัดเป็นตัวเงินได้ เพราะการวิจัยสาธารณสุขมันยากที่จะเอาไปซื้อขาย” ศ.นพ.ยง กล่าวถึงการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในฐานะนักวิจัย

  • วิจัยในวิกฤติ ‘โควิด-19’

นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น จนถึงวันที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคโควิด -19  เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic)  มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ศ.นพ.ยง ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง  

"ถ้าเปรียบเทียบเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กับโรคซาร์ส เมอร์ส หรืออีโบลา จะเห็นว่าโรคอีโบลามีอัตราการตายสูงและรุนแรงมาก ซึ่งโรคอะไรก็ตามแต่ที่มีความรุนแรง เช่น อีโบลา มีโอกาสที่จะระบาดทั่วโลกยาก เพราะป่วยแล้วต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล การวินิจฉัยไม่ยาก และผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางไปไหน

แต่ในกรณีของโรคโควิด-19  มีผู้ป่วยอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะเยอะเลยที่มีอาการน้อยทำให้สามารถเดินทางข้ามประเทศ ข้ามทวีปได้ ตรงนี้จึงทำให้ยากต่อการควบคุมโรค และก่อให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่วโลก"

อย่างไรก็ดี ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่พบผู้ที่ติดเชื้อ แต่ด้วยองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนมาตรการรับมือที่มีประสิทธิภาพทำให้สามารถหยุดการระบาดในประเทศได้ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยกประโยชน์ให้ ‘งานวิจัยพื้นฐาน’ ที่ปูรากฐานอันแข็งแกร่งให้สามารถนำมาต่อยอดได้ทันที

“ถ้าไม่มีพื้นฐานด้าน Genomic  Study  การถอดรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 คงทำไม่ได้  ถ้าไม่รู้จีโนมก็พัฒนาการตรวจวินิจฉัยไม่ได้ ดังนั้นฐานต้องแน่นก่อน ไม่เช่นนั้นยอดอาจโคลงเคลง”

ศ.นพ.ยง บอกว่า ประเทศไทยยังต้องสร้างงานวิจัยพื้นฐานอีกมาก เพราะโลกยังต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่อย่างแน่นอน หรือแม้กระทั่งโควิด-19 ก็จำเป็นต้องต่อยอดจากพื้นฐานขึ้นไป ดังนั้นถ้าฐานใหญ่พอ การต่อยอดขึ้นข้างบนก็มีความเป็นไปได้สูง

 

159982355535

  • ‘วิจัยพื้นฐาน’ รากฐานประเทศ

การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) หรือการวิจัยบริสุทธิ์ (Pure Research) ได้รับการนิยามว่าเป็นการวิจัยที่มุ่งแสวงหาความรู้หรือความจริงที่เป็นกฎ สูตร ทฤษฎี เพื่อที่จะขยายพื้นฐานความรู้ทางวิชาการให้กว้างขวางออกไปโดยไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ใดหรือไม่ โดยมากมักจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการหรือห้องทดลอง

ทว่าที่ผ่านมางานวิจัยพื้นฐานเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็น ‘งานวิจัยขึ้นหิ้ง’ ทำให้การขอทุนเป็นไปด้วยความยุ่งยาก แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่างานวิจัยพื้นฐานคือรากฐานอันแข็งแกร่งทั้งในแง่การสร้างองค์ความรู้และบุคคลากร ศ.นพ.ยง จึงยืนหยัดที่จะสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในวงกว้าง

"บ้านเรามักจะพูดว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง ทั้งๆ ที่มันไม่จริงหรอก ถ้าของเต็มหิ้งเมื่อไรมันก็ล้นไปสู่ห้าง งานวิจัยเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาด การสร้างองค์ความรู้ต่างๆ มันไม่ได้ขึ้นหิ้งหรอก เรื่องของระบาดวิทยา เมื่อไม่เกิดการระบาดก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเกิดการระบาดแล้วถ้าเราไม่มีองค์ความรู้เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้ศึกษา เพราะบอกว่าขึ้นหิ้ง ถึงเวลาก็จะไม่สามารถทำอะไรได้"

ศ.นพ.ยง ยกตัวอย่างเรื่องการให้วัคซีนในเด็กว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ การกำหนดนโยบายต่างๆ ล้วนมาจากข้อมูลพื้นฐานในการทำวิจัย “การกวาดล้างคอตีบในช่วงเมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว ก็ใช้ข้อมูลของเราไปประกอบการตัดสินใจว่าในเด็กหรือในผู้ใหญ่อายุเท่าไรถึงจะได้รับวัคซีนคอตีบ หรือตารางการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีก็ใช้ข้อมูลแบบนี้ และยังมีอีกมากมายเลยที่ถูกนำไปใช้ โดยเฉพาะข้อมูลของไข้หวัดใหญ่ และโรคทางไวรัสหลายตัว

เราเองเป็นผู้บุกเบิกเรื่องโรคอุบัติใหม่ ทุกครั้งที่เกิดโรคอุบัติใหม่ เราก็เป็นหนึ่งในผู้นำที่จะมาช่วยแก้ปัญหาในประเทศไทย จะเห็นเลยว่าโรคอุบัติใหม่ตั้งแต่สมัยไข้หวัดนก ถอดรหัสพันธุกรรมตัวแรกเราก็เป็นคนทำ ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก จนกระทั่งถึงการระบาดล่าสุดคือ โควิด-19 เราก็เป็นทีมหนึ่งที่เข้าไปช่วย ตั้งแต่ถอดรหัสพันธุกรรม จนถึงพัฒนาการตรวจ ให้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ"

ทั้งหมดนี้ล้วนต่อยอดมาจากงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่ง ศ.นพ.ยง เสนอว่าไม่ควรประเมินคุณค่าของงานวิจัยเหล่านี้ด้วยผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินเท่านั้น

“ถามว่าถอดรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 มันขายได้ไหม ไม่มีทาง แต่ถามว่ามีประโยชน์ไหม มี ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าโควิด-19 ที่ระบาดในเวฟแรกเป็นสายพันธุ์อะไร เพราะมันมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ หรือการตรวจ Antibody ของโควิด-19 ก็เป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะถ้ารู้ Antibody หรือ National History ของมัน ในอนาคตเราสามารถเอาความรู้นี้ไปต่อยอดเรื่องวัคซีนได้"

ด้วยเหตุนี้ เมธีวิจัยอาวุโสท่านนี้จึงสนับสนุนให้มีการผลิตงานวิจัยพื้นฐานมากขึ้น เพื่อสร้างรากฐานให้มั่นคงก่อน “จากเดิมสัดส่วนคือ งานวิจัยพื้นฐาน 30 เปอร์เซ็นต์ วิจัยขายได้ 70 เปอร์เซ็นต์ มันกลายเป็นพีระมิดหัวกลับ ผมพยายามบอกว่ากลับกันได้ไหม พื้นฐาน 70 ขายได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ฐานก็จะแน่น แล้วเลิกพูดได้แล้วว่า งานวิจัยขึ้นหิ้ง ขอให้มีของบนหิ้งแล้วมันจะเป็นห้างเอง ”

159982355576

  • ปฏิรูประบบวิจัย ก้าวกล้าสู่อนาคต

กว่าจะได้ผลงานวิจัยแต่ละชิ้นต้องใช้ทั้งเวลา เงินทุน และความทุ่มเท และแม้ประเทศไทยจะยังไม่มีงบประมาณในด้านนี้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ แต่ภาครัฐก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ที่ดำเนินการภายใต้การทำงานของ สกสว.

“มองในแง่ความคุ้มค่า ผมเชื่อว่างานวิจัยเกือบทุกชิ้น ถ้าทำสำเร็จ ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ แล้วทิ้ง ผมว่าไม่มีชิ้นไหนไม่คุ้มค่าหรอก อย่างน้อยๆ ก็ได้สร้างคน ซึ่งเราไม่เคยคำนวณออกมาเป็นตัวเงิน หรือแม้กระทั่งวันนี้ไม่ได้ใช้ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งจะได้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลตับอักเสบ ไม่ว่า A B C D E ทุกตัวในเมืองไทย ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน องค์การอนามัยโลกดูแล้ว ของไทยมีมากที่สุดเลย”

ในมุมมองของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ความคุ้มค่าของงานวิจัยนอกจากประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับแล้ว อีกด้านหนึ่งคือการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ

“จริงๆ นักวิจัยบ้านเรามีจำกัดมาก แล้วการพัฒนางานวิจัยต้องมีเครือข่ายหลายๆ ศาสตร์มาร่วมกัน เช่นเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น ต้องการนักวิทยาศาสตร์มาคำนวณ นักคณิตศาสตร์มา นักคอมพิวเตอร์มา คำนวณเมกะดาต้าดูซิทิศทางเป็นยังไง การพยากรณ์จำนวนคนไข้ นักเคมีก็ต้องเข้ามาหาสารอะไรต่างๆ ต้องใช้ทุกศาสตร์ แม้กระทั่งทางสังคม ผลกระทบทางสังคมก็ต้องใช้นักวิจัยสังคมศาสตร์ ผลกระทบทางวัฒนธรรมก็ต้องใช้นักวิจัยทางวัฒนธรรมเข้ามา ไม่ใช่แค่ศาสตร์ทางการแพทย์ศาสตร์เดียว ในการเตรียมพร้อมศาสตร์ทุกอย่างล้วนมีความจำเป็น”

ทั้งหมดนี้แน่นอนว่าต้องอาศัยการลงทุนด้านการวิจัยอย่างเหมาะสม ซึ่ง ศ.นพ.ยง มองว่าแนวคิดในการให้ทุนแบบเป็นก้อนระยะยาวที่เรียกว่า ‘Block Grant’ และ ‘Multi Years’ แม้จะมีข้อดีคือนักวิจัยได้ทำงานต่อเนื่อง แต่ก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน

“ถ้าเป็น Block Grant  อย่าไปผูกมัดนักวิจัยจนทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเห็นว่ากลุ่มนี้ควรส่งเสริมก็ให้เขามีอิสระพอสมควร คือให้คล่องตัว เพราะการให้ทุนระยะยาว สมมติว่าผมขอทุนโรคอุบัติใหม่ทำเรื่องโควิด-19 แต่ปีเดียวโควิด-19 มันปราบได้แล้ว สมมตินะ แล้วปีต่อไปจะทำอะไร ผมก็ต้องเบนไปหาโรคที่ยังไม่ระบาด ผมต้องมีสิทธิที่จะทำเรื่องไวรัสตัวอื่นที่ไม่ระบาด ต้องยืดหยุ่น”

ดังนั้น หากมองไปถึงทิศทางการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ งานวิจัยพื้นฐานและการพัฒนาคน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตอย่างมั่นคง

“ในความเห็นผมจะต้องเพิ่มเบสิครีเสิร์ชให้มากขึ้น ถ้าตราบใดไม่เพิ่มมันจะง่อนแง่นอยู่อย่างนี้ แล้วผมอยากเห็นงานวิจัยที่ทำเป็นทีมขนาดใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างลงทุนและการสร้างเครือข่าย' ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าว

"ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า การสร้างคนที่เป็นนักวิจัยที่ดี หรือเป็นอาจารย์ที่ดี มันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก”