"โรคไข้มาลาเรีย" 5 จังหวัดพบผู้ป่วยสูงสูด  4 จังหวัดปลอดโรคแต่กลับมาพบใหม่

"โรคไข้มาลาเรีย" 5 จังหวัดพบผู้ป่วยสูงสูด  4 จังหวัดปลอดโรคแต่กลับมาพบใหม่

โรคไข้มาลาเรีย 5 จังหวัดพบผู้ป่วยสูงสูด  อีก 4 จังหวัดประกาศปลอดโรคแต่กลับมาพบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ กรมควบคุมโรคเร่งรัดกำจัด เน้นพื้นที่ 10 จังหวัดเขตชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่ยังพบผู้ป่วยทั้งคนไทยและกลุ่มประชากรต่างชาติ

KEY

POINTS

  • โรคไข้มาลาเรียพบผู้ป่วยในพื้นที่ที่ติดกับแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 9 มิ.ย.2567  พบผู้ป่วยแล้ว 8,999 ราย 5 จังหวัดพบสูงสุด 4 จังหวัดปลอดโรคแต่กลบมาพบใหม่
  • โรคไข้มาลาเรีย เร่งรัดกำหนดเป้าหมายลดให้ได้ภายใน 3 เดือน ก.ค.-ก.ย.2567 ด้วยมาตรการเดิม 1-3-7 และเพิ่มมาตรการ 6+1
  • อาการโรคไข้มาลาเรีย ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที แจ้งประวัติการเข้าป่าหรืออยู่ในพื้นที่ระบาด ทานยาให้ครบและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หายขาด

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ปัญหาโรคไข้มาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย โดยพบผู้ป่วยในพื้นที่ที่ติดกับแนวชายแดนไทย-เมียนมา 10 จังหวัด โดยสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 มิถุนายน 2567  พบผู้ป่วยแล้ว 8,999 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ

  • ตาก 4,048 ราย
  • กาญจนบุรี 1,102 ราย
  •  แม่ฮ่องสอน 956 ราย
  • ประจวบคีรีขันธ์ 955 ราย
  • และราชบุรี 500 ราย

ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยติดเชื้อชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) 93.6 % และชนิดฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) 5 % พบมากในกลุ่มอายุ 25 – 44 ปี ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง

สัดส่วนผู้ป่วยคนไทยและต่างชาติแตกต่างกัน โดยพื้นที่ชายแดนภาคเหนือพบผู้ป่วยต่างชาติมากกว่าคนไทย ขณะที่พื้นที่ชายแดนภาคตะวันตกพบผู้ป่วยคนไทยมากกว่าต่างชาติ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียได้รับทราบสถานการณ์และผลการดำเนินงานใน 6 จังหวัดไข้สูงชายแดนไทย - เมียนมา มีมติเห็นชอบดังนี้

1. เพิ่มพื้นที่ดำเนินงานเร่งรัดอีก 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง เชียงใหม่ และเชียงราย

2.แต่งตั้งอนุกรมการเพิ่ม ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด  และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข 4 เขต คือ เขตสุขภาพ 1,2 ,5 และ 11

3. สนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อโรคไข้มาลาเรียด้วยชุดตรวจอย่างรวดเร็ว (RDT)

นอกจากนั้นยังรับทราบการใช้ยาทาฟิโนควิน (Tafenoquin) ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ชนิดไวแวกซ์ ใน 21 โรงพยาบาล ของ 6 จังหวัดชายแดน

และ 4.เร่งรัดให้อำเภอที่พบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียสูงพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคไข้มาลาเรีย ในระดับอำเภอ เพื่อเร่งระดมสรรพกำลังและทรัพยากรสนับสนุนในการจัดการโรคไข้มาลาเรีย

4 จังหวัดปลอดมาลาเรียแต่กลับมาพบใหม่

ด้านนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งในปี 2567 พบว่า มีจังหวัดที่ถูกประกาศรับรองเป็นจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียแต่กลับมาพบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ถึง 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สตูล เชียงใหม่ และเลย จึงต้องมีการจัดทำแผนเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการเคลื่อนย้ายของประชากรต่างชาติ เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้ามาในประเทศไทย

เพิ่มมาตรการ 6+1 เร่งกำจัดมาลาเรีย

นพ.นิติ เหตานุรักษ์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องเร่งรัดกำหนดเป้าหมายลดโรคไข้มาลาเรียให้ได้ภายใน 3 เดือน กรกฎาคม-กันยายน 2567 ด้วยมาตรการ 1-3-7 ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมโรคเดิม คือ รายงานผู้ป่วยภายใน 1 วัน สอบสวนผู้ป่วยเฉพาะรายภายใน 3 วัน และควบคุมยุงพาหะพร้อมทั้งสื่อสารความเสี่ยงภายใน 7 วัน

และเพิ่มมาตรการ 6+1 ได้แก่ การเพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน ขยายการเข้าถึงบริการตรวจรักษาในชุมชนโดยมาลาเรียชุมชน การตอบโต้เมื่อพบผู้ป่วยหรือเมื่อเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว การควบคุมยุงพาหะให้ครอบคลุม การติดตามการกินยาและผลการรักษาให้ครบถ้วน การติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนเครื่องมือ นวัตกรรมใหม่ แนวทาง คู่มือ และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์

โดยดำเนินการในพื้นที่จังหวัดไข้สูง 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี รวมถึงจังหวัดที่พบรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมอีก  4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง เชียงใหม่ และเชียงราย เพื่อเร่งลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียโดยเร็วที่สุด

อาการมาลาเรีย ป่วยรีบพบแพทย์ แจ้งประวัติ

พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า โรคไข้มาลาเรียเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิด Plasmodium  spp. เมื่อป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเข้าป่าหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรียให้แพทย์ทราบ ทานยาให้ครบและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้หายขาดจากโรคไข้มาลาเรีย