เที่ยวอุทยาน เดินป่า อย่าลืมระวัง 6 โรค #saveทับลาน

เที่ยวอุทยาน เดินป่า อย่าลืมระวัง 6 โรค #saveทับลาน

#saveทับลาน ปี66 - 67 ป่าไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่การฮีลใจด้วยป่า เที่ยวอุทยานแห่งชาติ เดินป่าเป็นที่นิยมมากขึ้น อย่าลืมระวัง 6 โรค

KEY

POINTS

  • #saveทับลาน ค้านเพิกถอนพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่งจ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี พื้นที่ป่าราว265,286.58 ไร่  โดยเปิดให้ลงความเห็นตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567
  • อุทยานแห่งชาติทับลาน หนึ่งในพื้นที่ป่าของประเทศไทย ซึ่งในปี 2566 - 2567  ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่
  • “ป่า”รวมถึง อุทยานแห่งชาติทับลาน หนึ่งในสถานที่พักผ่อน ฮีลใจ  การเที่ยวอุทยานแห่งชาติและเดินป่านิยมเพิ่มมากขึ้น แต่จะต้องไม่ลืมระวัง 6 โรค

#saveทับลาน ค้านเพิกถอนพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน

หลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่การเปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ฝั่งจ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี พื้นที่ป่าราว265,286.58 ไร่  โดยเปิดให้ลงความเห็นตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567

ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านเป็นวงกว้างในสังคม มีการพูดถึง #saveทับลาน และให้ร่วมลงชื่อ ไม่เห็นด้วย ในข้อคำถามที่ว่า 

“ท่านเห็นด้วย กับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เพื่อกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ใหม่ หรือไม่

เห็นด้วย = ยอมรับการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน 265,000 ไร่

ไม่เห็นด้วย = ไม่ยอมรับการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน 265,000 ไร่”

ปี66 – 67 พื้นที่ป่าลดลงมากที่สุดรอบ 10 ปี

ขณะที่มีการเปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน ลองมาดูในส่วนของพื้นที่ป่าในประเทศไทย พบว่า จากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่า ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่

จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้ 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47% ของพื้นที่ประเทศ

มีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่
เที่ยวอุทยาน เดินป่า อย่าลืมระวัง 6 โรค #saveทับลาน

ประโยชน์ของป่าไม้ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

1. ประโยชน์ทางตรง เช่น เนื้อไม้ เชื้อเพลิง วัตถุทางเคมี อาหาร ยารักษาโรค เส้นใยจากเปลือกไม้หรือเถาวัลย์ ชันน้ำมันและยางไม้ อาหารสัตว์ ฝาดฟอกหนัง และสีธรรมชาติ รวมทั้ง การกักเก็บคาร์บอนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

2. ประโยชน์ทางอ้อม เช่น ป่าไม้ทำให้น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุ ป้องกันการพังทลายของดิน ช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้ความชุ่มชื้น เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยรักษาคุณภาพของอากาศ รวมถึงช่วยรักษาอุณหภูมิของโลกได้

ฮีลใจ ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

มุมของสุขภาพและความเป็นอยู่ทีดีนั้น “พื้นที่ป่า”มีคุณประโยชน์อย่างมาก ในแง่ของการดูแลจิตใจ ฮีลใจในวันที่เหนื่อยล้า หลายคนเลือกที่จะไปพักผ่อนหย่อนใจที่อุทยานแห่งชาติ หรือเดินป่า และมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น

อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าที่คนเลือกไปฮีลใจ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จ.นครราชสีมา และอำเภอนาดี จ.ปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร 

ภายในอุทยานแห่งชาติทับลาน มีสถานที่น่าสนใจ ได้แก่

  • ป่าลานและสวนพักผ่อนหย่อนใจ เป็นป่าลานที่ขึ้นเองตามธรรมชาติแห่งสุดท้ายของประเทศไทย
  • น้ำตกทับลานหรือน้ำตกเหวนกกก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีความสูง 20 เมตร มีน้ำไหลเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น
  • อ่างเก็บน้ำทับลาน เป็นอ่างเก็บน้ำที่สวยงามล้อมรอบไปด้วยภูเขา
  • หาดชมตะวัน เป็นชายหาดริมอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำปลายมาศ ตัวหาดมีความยาว 300 เมตร
  • น้ำตกบ่อทอง /น้ำตกห้วยคำภู
  • ลำแปรง สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีสัตว์ป่านานาชนิด
  • น้ำตกห้วยใหญ่ น้ำตกขนาดใหญ่ มีความสูง 50 เมตร กว้าง 30 เมตร ไหลแผ่กว้างเป็นม่านน้ำตก
  •  น้ำตกสวนห้อม ห้วยขมิ้น ห้วยใหญ่ใต้ น้ำตกมีลักษณะเป็นหน้าผา มีความสูง 50 เมตรกว้าง 30 เมตร
  • เขื่อนลำมูลบน เป็นเขื่อนดินสูง 30 เมตร และเป็นต้นน้ำของแม่น้ำมูลที่เกิดจากผืนป่าทับลาน บนสันเขื่อน เป็นต้น

เที่ยวอุทยานแห่งชาติ เดินป่า ระวัง 6 โรค

อย่างไรก็ตาม ในการเที่ยวอุทยาน หรือเดินป่ามีโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระวังอย่างน้อย 6 โรค

1.โรคไข้มาลาเรีย

 เป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค

อาการสำคัญของโรคมาลาเรียคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวรวมถึงมีอาการสำคัญคือ ไข้จับสั่น ได้แก่ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูง และตามด้วยเหงื่อออก

การป้องกัน ต้องระวังไม่ให้ยุงกัดโดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ขณะเข้าไปท่องเที่ยวในป่าหรือถ้ำรวมถึงการใช้ยากันยุง  เลือกพื้นที่พักแรมบริเวณที่ห้างไกลจากแหล่งน้ำนิ่ง น้ำขัง

2. โรคสครับไทฟัส หรือโรคไข้รากสาดใหญ่

เป็นโรคติดต่อที่นำโดยแมลงที่เกิดจากเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsia) คนสามารถติดโรคนี้จากการถูกตัวไรอ่อน ที่มีเชื้อริกเก็ตเซียกัด จะมีอาการหลังจากถูกกัดประมาณ 10-12 วัน 

อาการ จะมีแผลที่รอยกัดลักษณะบุ๋มและมีสีดำคล้ายรอยถูกบุหรี่จี้ ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะบริเวณขมับและหน้าผาก คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก หูอื้อ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ตับและม้ามโต บางรายอาจพบผื่นแดงตามลำตัวรวมถึงแขนขา อาจพบอาการแทรกซ้อนเช่น ไตวาย ปอดอักเสบ ช็อค ภาวะหายใจล้มเหลว เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

 การป้องกันที่สำคัญคือหลีกลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่อาศัยของไรอ่อนที่เป็นพาหะ  โดยไรอ่อนมักอยู่ตามพุ่มไม้ ใต้ใบไม้แห้งและในป่ารกทึบ พบมากในฤดูนาว

ควรสวมเครื่องแต่งกายที่มิดชิดรวมถึงทายาป้องกันแมลงกัด  ก่อนกางเต็นท์ให้ทำความสะอาดพื้นที่พีกและบริเวณโดยรอบให้โล่งเตียน หลังออกจากป่าอาบน้ำ สระผม และทำความสะอาดเสื้อผ้า

3. โรคฮีสโตพลาสโมสิส
เป็นโรคที่เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อรา Histoplasma capsulatum เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมักพบเชื้อได้ในบริเวณพื้นดินที่มีความชื้นสูง อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าหรือถ้ำ โพรงต้นไม้ที่มีนก ค้างคาวอาศัยอยู่

หลังจากสัมผัสเชื้อประมาณ 3-17 วัน ประมาณ 90 % จะมีอาการเพียงเล็กน้อย  คล้ายเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่บางส่วนอาจมีอาการลงปอด มีอาการไข้ ไอ เหนื่อยล้า ปวดเมื่อยตามร่างกาย หนาวสั่น ปวดศีรษะ และเจ็บหน้าอก

การป้องกัน หลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อรา เช่น ถ้ำ โพรงต้นไม้ หากจำเป็นต้องเข้าไปต้องใส่หน้ากากN95 ทุกครั้ง

เที่ยวอุทยาน เดินป่า อย่าลืมระวัง 6 โรค #saveทับลาน

4.ตัวคุ่น หรือริ้นดำ

เมื่อถูกกัดจะมีอาการคันและเกิดตุ่มน้ำใส หรือตุ่มน้ำเลือดคั่ง ถ้าแพ้จะมีอาการบวมและอาจมีไข้  หากถูกกัดให้ทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกกัด เจาะถุงน้ำให้แตกแล้วทายาสเตียรอยด์ ทานยาแก้แพ้ เพื่อช่วยลดอาการบวมแพ้ ผิวหนังอักเสบ

การป้องกัน ให้สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ปิดร่างกายให้มิดชิด ทายากันยุงหรือครีมที่มีส่วนผสมของตะไคร้หอม

5.ทากดูดเลือด

ขณะที่ทากดูดเลือด จะปล่อยสารออกมา 2 ชนิด คือ

สารฮีสตามีน  ทำให้หลอดเลือดขยายตัว จะรู้สึกชาและไม่รู้ตัวขณะที่ถูกกัด

สารฮีรูดีน ต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที เลือกจึงจะหยุดไหล

การป้องกัน ฉีดสเปรย์หรือทายากันทากก่อนเข้าป่า แต่งกายให้รัดกุม ใส่กางเกงขายาวและสวมถุงกันทาก พกน้ำส้มสายชูหรือแอลกอฮอล์ติดตัวไว้เทราดบริเวณปากที่เกาะ จะทำให้ตัวทากหลุดออก รีบทำความสะอาดแผลและห้ามเลือด หากเลือดไม่หยุดให้รีบไปพบแพทย์

6.โรคสมองอักเสบ
จากไวรัสนิปาห์ โรคนี้มีค้างคาวกินผลไม้และค้างคาวกินแมลงเป็นแหล่งรังโรค คนได้รับเชื้อไวรัสนี้ผ่านทางการสัมผัสกับสุกรที่ติดเชื้อหรือจากการรับประทานผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายหรือปัสสาวะของค้างคาว นอกจากนี้อาจมาจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาวเช่นน้ำลายหรือปัสสาวะได้เช่นกัน มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนเมื่อสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ

อาการของผู้ป่วยมีหลายหลายตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จนถึงอาการหนักคือสมองอักเสบซึ่งอาจมีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีรอยสัตว์กัดแทะ การสัมผัสกับมูลปัสสาวะของค้างคาว รวมถึงการล้างมือเมื่อสัมผัสกับสิ่งที่สงสัยการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของค้างคาว เป็นต้น
นอกจากนี้ จะต้องระวังเรื่องของพืชพิษดวย เช่น หมามุ่ย ตำแย ต้นช้างร้อง เป็นต้น

อ้างอิง : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, กรมควบคุมโรค, ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย