SAVE หรือ แบน “บุหรี่ไฟฟ้า”  เจาะลึกทิศทางประเทศไทยในมืออนุกรรมาธิการฯ

SAVE หรือ แบน “บุหรี่ไฟฟ้า”  เจาะลึกทิศทางประเทศไทยในมืออนุกรรมาธิการฯ

คนไทยจะเลือกแบบไหน #SAVE - #แบน “บุหรี่ไฟฟ้า” ทั้งที่สุดอันตราย มีน้ำมัน-สารเคมีกว่า 7,000 ชนิด เสี่ยงเกิดปอดอักเสบรุนแรงตายเฉียบพลัน กระทบคนไม่สูบถึง “ควันบุหรี่มือ 5 “ เจาะทิศทางไทย ผ่าน 3 แนวทางของอนุกรรมาธิการฯ

KEY

POINTS

  • บุหรี่ไฟฟ้าสุดอันตราย ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีน้ำมันและสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด ทำให้เสี่ยงเกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน ถึงตาย เสี่ยงมะเร็งปอด-มะเร็งทุกชนิด สัมพันธ์เกิดซึมเศร้า
  • คนไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ารับเคราะห์ด้วย เหตุควันบุหรี่ที่มีถึงมือ 5 ไม่ใช่แค่มือ 2 -3 หวั่นปลดล็อกให้ใช้ได้  อนาคตเกิดภาพประชากรไทยสมรรถนะปอดถดถอย เพิ่มภาระต่อการรักษาพยาบาล
  • บุหรี่ไฟฟ้า ทิศทางประเทศไทย คนไทยจะเลือก SAVE หรือแบน  เจาะลึกข้อดี-ข้อเสีย 3 แนวทางของอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

รับรู้กันดีถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และประเทศไทยมีกฎหมายที่เข้มข้นในการห้ามนำเข้าและจำหน่าย ซึ่งเป็นประเทศแรกๆในโลก จนปัจจุบันมีราว 40 ประเทศที่เดินตามมาในแนวทางนี้

ทว่า ประเทศไทยกลับกำลังจะถอยหลังเข้าคลอง เมื่อมีความพยายามที่จะ “ปลดล็อก” การแบนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถนำเข้า หรือจำหน่ายได้ แบบไม่ผิดกฎหมาย

ที่ผ่านมาได้มีการตั้งอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีการสรุปออกมา 3 แนวทาง คือ แบนบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนปัจจุบัน ,อนุญาตนำเข้าHTP และยกเลิกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 ก.ค. 2567 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จัดงานเสวนา เรื่อง “เจาะลึก ข้อดีข้อเสีย 3 แนวทาง ของอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย” เป็นการให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ถึงข้อดีข้อเสียในการที่จะกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อที่กรรมาธิการฯ จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบของประชาชน ปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า

ปอดอักเสบเฉียบพลัน เข้าไอซียู

 ศ.นพ. ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในการเป็นประธานเปิดว่า ส่วนตัวเป็นแพทย์ไอซียู ทำให้ได้พบเจอผู้ป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู บางคนที่สูบมากๆต้องใส่ท่อช่วยหายใจ  ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเกิดรุนแรงได้แม้จะสูบมาไม่นาน

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพ ไอบุหรี่ไฟฟ้าที่สูบเข้าไปจะทำให้เยื่อบุระบบการหายใจอักเสบ ตั้งแต่จมูก คอหอย หลอดลม ลงไปจนถึงถุงลมปอด เซลล์จะอายุสั้น ซึ่งทำให้สมรรถภาพปอดถดถอย เร่งให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง เสี่ยงต่อมะเร็งปอดและมะเร็งในทุกอวัยวะ ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีน้ำมันและสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด ทำให้เสี่ยงเกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน EVALI (E-cigarette or Vaping product use associated Acute Lung Injury) ถึงตายได้อย่างเฉียบพลัน

รวมถึง บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดมีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว สร้างสารอักเสบ และมีอนุมูลอิสระทำให้เซลล์ผิดปกติ จึงเป็นอันตรายต่อร่างกายทุกระบบ ไม่ควรนำมาใช้ทดแทนบุหรี่มวน และไม่แนะนำให้ใช้เป็นเครื่องมือในการเลิกบุหรี่

สมรรถนะปอดวัยรุ่นถดถอย ยากจะไปโอลิมปิก

“คนเราถุงลมในปอดใช้ได้เต็มที่ตอนอายุ 20-25 ปี  เพราะฉะนั้น ถ้าปล่อยให้มีการสูบบุหรี่ทุกชนิดรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุน้อย  คาดว่าอีกไม่กี่ปี วัยรุ่นจะมีสมรรถนะปอดที่ถดถอย คงจะไปแข่งโอลิมปิกไม่ได้ เพราะปอดไม่ดี ไม่แข็งแรง เมื่ออายุ 40-50 ปี ปอดก็จะยิ่งแย่ มีสภาพถุงลมโป่งพองเร็ว และอีก 10-20 ปีประเทศไทยก็จะมีประชากรที่ไม่แข็งแรง ปอดถดถอย ภาระการรักษาพยาบาลก็จะมากขึ้น ดังนั้น การห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว

บุหรี่ไฟฟ้า คนไม่ดูดกลับรับพิษถึงควันมือ 5

นอกจากนี้ ควันโลหะหนักที่เป็นวัสดูประกอบเครื่องสูบ ถูกความร้อนแล้วกลายเป็นควันพิษได้ ทำให้คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าได้รับอันตรายไปด้วยแบบไม่รู้ตัว ซึ่งผลได้ถึงควันบุหรี่มือ 5

  • ควันบุหรี่มือ 2  คนที่อยู่ใกล้คนที่ดูดบุหรี่แล้วพ่นควันออกมาก็จะได้รับสารอันตรายเข้าไป
  • ควันบุหรี่มือ 3  ไอระเหยจับเป็นคราบตามผนังห้องและพื้นผิววัสดุอื่น ทำให้คนที่เข้ามาสัมผัสได้รับอันตราย
  • ควันบุหรี่มือ 4 กระเปาะน้ำยาและด้ามสูบที่ทิ้งเรี่ยราด
  • ควันบุหรี่มือ 5 ละอองลอยจากกระเปาะน้ำยาที่ใช้ยังไม่หมดหรือยังไม่ได้ใช้ 

HTP บุหรี่ไฟฟ้าไร้ควัน ใครว่าไม่อันตราย

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า  ส่วนบุหรี่ไร้ควันหรือ HTP(Heated Tobacco Product) ต่างจากบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ตรงที่ใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า ทำให้แท่งใบยาสูบหรือน้ำยาสูบ แตกตัวเป็นควันที่มีปริมาณควันที่น้อยกว่าจากบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า

แต่ถ้าสูบในปริมาณมากการได้รับพิษก็จะเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าปนเปื้อนด้วยสารแต่งกลิ่นแต่งรสก็จะเพิ่มอันตรายมากขึ้นได้  เป็นช่องทางชักจูงให้คนติดบุหรี่มวนหลงผิดกันมาใช้ เพราะคิดว่าจะอันตรายน้อยกว่า ทั้งนี้ ทั่วโลกจัดให้เป็นภัยต่อสุขภาพเช่นเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้า 

นิโคตินกระทบสมอง กระบวนการเรียนรู้วัยรุ่น

รศ.นพ.ชัยยศ คงคติธรรม ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลกระทบต่อสมองของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลและเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสนใจ เนื่องจากวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของสมองในการกำหนดความเป็นตัวตน การตัดสินใจ การควบคุมแรงกระตุ้น การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

การได้รับนิโคติน โดยเฉพาะจากบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมักจะมีนิโคตินในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่มวนหลายเท่าตัว จะกระทบต่อการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองที่สำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ของวัยรุ่น นอกจากนั้นนิโคตินยังมีอำนาจในการเสพติดสูง

สมองของวัยรุ่นเรียนรู้ได้เร็วจึงมีความเสี่ยงต่อการติดนิโคตินสูงกว่าผู้ใหญ่ และยังกระตุ้นให้เป็นประตูสู่ยาเสพติดอื่นๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองในระยะยาว ยิ่งกว่านั้นในแต่ละช่วงของพัฒนาการเด็กยังช่วยตนเองไม่ได้ จึงเสี่ยงต่อการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสามมากกว่าผู้ใหญ่

บุหรี่ไฟฟ้าสัมพันธ์เกิดซึมเศร้า

มีการศึกษาเด็กไทยนั้น วัยรุ่นที่เป็นซึมเศร้าสัมพันธ์กับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และเด็กที่สมาธิสั้น เมื่อมีการศึกษาย้อนกลับพบว่ามักจะคลอดจากมารดาที่มีการใช้บุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าขณะตั้งครรภ์  อนาคตหากปล่อยให้คนไทยเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย จะทำให้มีจำนวนผู้สูบมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และอุบัติการณ์เด็กที่เป็นซึมเศร้า วิตกกังวลจะมากขึ้น 
“ถ้าหากปล่อยให้มีการตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าเด็กเล็กและซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรี จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนอย่างมาก ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการเกิดลดน้อยลง หากยังได้รับผลกระทบต่อการพัฒนาของสมองจากบุหรี่ไฟฟ้า จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการพัฒนาสมองและสุขภาพในระยะยาวของอนาคตของชาติ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษจากภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน” รศ.นพ.ชัยยศ กล่าว

แนวทาง 1 แบนบุหรี่ไฟฟ้าเด็ดขาด

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ ศจย. ได้วิเคระห์ ข้อดีข้อเสียของ 3 แนวทาง ของมาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ดังนี้

แนวทางที่ 1 การกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย (แบนบุหรี่ไฟฟ้าเด็ดขาด)  ข้อดี

1.กฎหมายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันทั้ง 3 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและของโลก ที่มีการเพิ่มจำนวนประเทศที่แบนเป็น 40 ประเทศ อย่างรวดเร็ว

2. ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติด และเป็นช่องทาง (gateway) นำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ

3.สามารถป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เข้าสู่การเสพติดนิโคติน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องได้รับการปกป้อง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่พบว่าประเทศที่แบนจะมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ไม่แบน

SAVE หรือ แบน “บุหรี่ไฟฟ้า”  เจาะลึกทิศทางประเทศไทยในมืออนุกรรมาธิการฯ

แนวทางการพัฒนาแก้ไข 1.กลไกการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศที่แบน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจนควบคุมการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าได้ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และบราซิล

2.การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโทษพิษภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้รุ่นใหม่แบบดิจิตอล อย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

3.มาตรการรองรับการบำบัดรักษาผู้เสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ควรพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ เข้าถึงผู้บริการ ทุกรูปแบบ ทุกเวลา ในราคาที่สมเหตุสมผล

4.การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประเมินต้นทุนผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังมีไม่เพียงพอ ในระยะสั้นควรใช้การทบทวนวรรณกรรมจากการวิจัยของต่างประเทศ

แนวทาง 2 ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ยกเว้นHTP

แนวทางที่ 2 คงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ยกเว้น Heat not burn Tobacco Product (HTP) ข้อดี

1.  HTP เป็น Electronic Nicotine Delivery Device ชนิดที่เป็น solid คือ นำใบยาสูบมาหั่นฝอย โดยจะใช้ความร้อนจากอุปกรณ์มากกว่า 300 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 600 องศาเซลเซียสเหมือนการเผาไหม้บุหรี่ทั่วไป

2.มีการเผาไหม้เป็นไอ ไม่มีเถ้า ไม่มีควัน (น้ำมันดิน) ไม่มีน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ใช้ใบยาสูบซึ่งให้นิโคตินธรรมชาติ
ข้อเสีย 1.ยังคงมีนิโคติน ผลิตภัณฑ์ HTP จะต้องมีคำเตือนว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติด และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังไม่อนุญาต ซึ่งผู้ผลิต IQOS ก็ยอมรับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ได้ลดความเสี่ยงเมื่อเปลี่ยนมาใช้ HTP
 2.HIP นิยมทำเป็น hybrid เลือกชนิดที่เป็น stick หรือ e-juice ได้ ในผลิตภัณฑ์เดียวจึงไม่สามารถแยกแยะว่าเป็น E- cig หรือ HTP

แนวทาง 3 ยกเลิกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้า

แนวทางที่ 3 ยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ข้อดีที่กล่าวอ้าง

1.ทันสมัย เทียบเคียงได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว

 2.จะได้ควบคุมอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทย

3.จัดเก็บรายได้จากการเก็บภาษีได้เพิ่ม

4. เป็นการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกเสพ

ข้อเท็จจริง 1.ในประเทศที่เคยแบน แล้วควบคุมได้ดี เปลี่ยนมาเป็นอนุญาตให้ขายได้ เกิดการระบาดเพิ่ม 2-5 เท่า เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์

2.ในประเทศที่อนุญาตให้ขายได้ถูกกฎหมาย โดยห้ามขายในเยาวชน 18-21 ปี ยังระบาดหนักในเยาวชน เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

3.งานวิจัยจาก 75 ประเทศ พบว่า ประเทศที่แบนจะมีอัตราการระบาดของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ไม่แบน

4.บุหรี่มวนที่ถูกกฎหมาย ก็ยังควบคุมไม่ได้ มีบุหรี่เถื่อนหนีภาษีถึงร้อยละ 25 (1.3–2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี)

5.ข้อกล่าวอ้างที่ว่าการยกเลิกแบน จะสามารถจัดเก็บภาษีให้แก่รัฐ ซึ่งมีงานวิจัยที่ได้รับทุนจากธุรกิจบุหรี่ ประเมินว่าจะมีรายได้จากบุหรี่ไฟฟ้า 5.7-6.4 พันล้านบาทต่อปี และจะเก็บภาษีได้ 567-913 ล้านบาทต่อปี อีกงานวิจัยเสนอให้เก็บภาษีตามอังกฤษจะได้ร้อยละ 5-20 ของมูลค่า

ทั้ง 2 งานวิจัยนี้มีข้อท้วงติงเรี่องความถูกต้องทางระเบียบวิธีวิจัย ส่วนทางการยาสูบแห่งประเทศไทยประเมินมูลค่าทางตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งมีข้อท้วงติงว่าอาจจะจัดเก็บภาษีไม่ได้สูงดังประเมิน

SAVE หรือ แบน “บุหรี่ไฟฟ้า”  เจาะลึกทิศทางประเทศไทยในมืออนุกรรมาธิการฯ

เนื่องจากผู้สูบหน้าเก่าไม่ได้ซื้อเพิ่ม เป็นแต่เปลี่ยนจากซื้อบุหรี่มวนมาซื้อบุหรี่ไฟฟ้า โดยหากรัฐต้องการรายได้เพิ่ม ต้องเพิ่มผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอนาคตของชาติ และอาจกระทบกับชาวไร่ยาสูบ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าใช้นิโคตินสังเคราะห์ ไม่ใช่จากใบยาสูบ รวมทั้งต้องเผชิญกับบุหรี่ไฟฟ้าหนีภาษีเหมือนเดิม

ทั้งนี้ยิ่งขายมากก็ยิ่งต้องเจ็บป่วยจากบุหรี่มากขึ้น ดังงานวิจัยจาก UCSF ที่พบว่าค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่สูงเป็น 1,666 เท่าของภาษีที่จัดเก็บได้

6.ข้อกล่าวอ้างว่าเป็นการให้สิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค ข้อกล่าวอ้างนี้อาจใช้ได้กับสินค้าทั่วไป ที่ไม่ใช่สินค้าทำลายสุขภาพ 4 อย่างรวมบุหรี่ที่สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่รัฐต้องปกป้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ไม่สูบซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบ และสิ่งสำคัญยิ่งคือ เด็กที่ต้องได้รับการปกป้อง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นอกจากนี้สิทธิเสรีภาพนี้ยังรอนสิทธิ์ค่ารักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่จากภาษีของคนไทยทั้งประเทศ และรอนสิทธิ์ทำลายสิ่งแวดล้อมของคนทั้งโลก

 “สรุป3 แนวทาง ของกรรมาธิการฯนั้น  แนวทางที่ 1 การคงกฎหมายห้ามนำเข้าและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จะสามาถลดอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทยลงได้ แนวทางที่ 2 และ 3 ข้อดีไม่ชัดเจน แต่จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนระบาดมากขึ้น”ศ.พญ.สุวรรณากล่าว

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนไทยควรต้องออกมาแสดงจุดยืนว่า จะเลือก #SAVEบุหรี่ไฟฟ้า แล้วปลดล็อกกฎหมาย ให้สามารถใช้ได้อย่างเสรีในประเทศไทย หรือจะเลือก #แบนบุหรี่ไฟฟ้า เหมือนอย่างปัจจุบัน เพื่อปกป้องสุขภาพของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นผู้สูบ