70 รพ.เอกชนลงชื่อจ่อถอนตัวประกันสังคม

70 รพ.เอกชนลงชื่อจ่อถอนตัวประกันสังคม

70 รพ.เอกชนลงชื่อเตรียมออกจากประกันสังคม หากไม่มีการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการผู้ประกันตน ขณะที่ สปส.- สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตั้งอนุกรรมการร่วมศึกษา ขีดเส้นได้ข้อสรุปก่อนเซ็นสัญญารอบใหม่ปลายปี

จากกรณีที่ นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกมาเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566  สำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทั้งสองปี ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน และถ้าสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป อาจทำให้โรงพยาบาลเอกชนตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม และขณะนี้มี 2 รพ.ที่แจ้งถอนตัวภายในสิ้นปี 2567 ได้แก่ รพ.กรุงเทพสุราษฎร์ธานี และรพ.ซีจีเอช สายไหม 

ล่าสุด นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ว่า จากการหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการมาศึกษาเรื่องอัตราการจ่ายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือดีอาร์จี  (Diagnosis Related Group : DRG) มากกว่า 2 และปรับอัตราค่าบริการรายการในแต่ละหมวดให้มีความเป็นปัจจุบัน เพราะบางรายการไม่ได้มีการปรับเพิ่มมานานแล้ว โดยต้องมีการพิจารณาตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้น ต้นทุนการให้บริการการแพทย์ต่อหน่วย เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เห็นหนังสือคำสั่งแต่งตั้งออกมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

“ต้องมีการตั้งอนุกรรมการฯ และทำให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพราะในหนังสือของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งถึง สปส.ก็ย้ำว่า ต้องมีข้อสรุปก่อนจะมีการเซ็นสัญญาเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาปี 2568 ซึ่งปกติจะมีการทำสัญญากันประมาณปลายปี  คิดว่าสัปดาห์หน้าก็น่าจะมีหนังสือแต่งตั้ง และใช้เวลาในการทำงานไม่นาน เพราะมีข้อมูลครบอยู่แล้ว”นพ.เฉลิม กล่าว   

นพ.เฉลิม กล่าวอีกว่า  ปัญหาอยู่ที่โรคที่ดีอาร์จีมากกว่า 2 ปกติในอดีตจ่ายในอัตราประมาณ 12,800 บาท แต่พอมาถึงปี 2565 เดือนสุดท้ายจ่ายเหลือแค่หมื่นเดียว พอมาปี 2566 จ่ายแค่ 7,200 บาท ตรงนี้เหตุผลเพราะเขาไม่ได้ปรับอัตราการรักษาโรคซับซ้อนดีอาร์จีมากกว่า 2 มา 5 ปี แล้ว แต่อัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเท่าเดิม ทำให้อัตราต่อหน่วยลดลง จึงต้องมีการแก้ไข

สำหรับอัตราค่าดีอาร์จี สมาคมโรงพยาบาลเอกชนต้องการค้ำประกันพื้นฐานอยู่ที่ 15,000 บาท และมีรายการอื่นที่ไม่มีการปรับมานานแล้วราวๆ 3-4 รายการ เพราะที่ผ่านมา มีเพียงรายการเดียวที่ปรับเพิ่มคือ ค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ปรับเพิ่มมาเป็น 1,808 บาท นอกนั้นไม่ได้ปรับเลย จากที่มีอยู่ 5 หมวด คือ ค่าหัว และ 21 โรคเรื้อรัง โรคค่าใช้จ่ายสูง และกลุ่มโรคร่วมดีอาร์จีมากกว่า 2 ส่วนกลุ่มทันตกรรมนั้นไม่ได้มีประเด็นปัญหา เพราะ สปส.ค้ำประกันราคาอยู่แล้วที่ 900 บาท ต่อปี 

“โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับ สปส. มีการคุยกันหาก สปส.ไม่มีการปรับอัตราการจ่ายค่าบริการเหล่านี้ก็จะออกจากการเป็นคู่สัญญา และขณะนี้มีโรงพยาบาลที่ร่วมลงชื่อแล้ว 70 กว่าแห่ง เพราะเห็นว่าถ้ายังทำต่อไปก็มีแต่ลำบาก จากที่อัตราการจ่ายไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง  ตอนนี้ก็ยังรอบทสรุปอยู่” นพ.เฉลิม กล่าว   

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์