รีดงบฯค่ารักษาบัตรทอง-ประกันสังคม รพ.เอกชน-รัฐโดนถ้วนหน้า

รีดงบฯค่ารักษาบัตรทอง-ประกันสังคม รพ.เอกชน-รัฐโดนถ้วนหน้า

“สมศักดิ์”มอบสปสช.ปรับ “ค่ารักษาผู้ป่วยนอก”บัตรทอง 30 บาท จ่ายรพ.ใหญ่-คลินิกให้เท่ากัน จากตอนนี้ส่วนต่างเยอะ ขณะที่สมาคมรพ.เอกชนร้องประกันสังคมลดอัตราค่ารักษา หวั่นรพ.ถอนตัวเพิ่มอีกหลัง10ปีออกต่อเนื่อง   

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ที่กรมอนามัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับงบประมาณค่ารักษาพยาบาลว่า  อะไรที่จะลดค่าใช้จ่ายของประเทศได้ก็จะพยายามลด อย่างเช่น รพ.เอกชน คลินิกบ่นว่าได้รับค่ารักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 30 บาทไม่เท่ากับรพ.ใหญ่หรือรพ.โรงเรียนแพทย์ ทำให้เกิดความเหลือมล้ำ ซึ่งเป็นเรื่องจริง  ส่วนที่มองว่าเกิดการขาดทุน หากพิจารณาค่าใช้จ่ายจริงๆ ดูแล้วไม่ได้ขาดทุน  

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นบวกกับทุกฝ่าย ได้มอบหมายให้สปสช.ไปพูดคุยว่าจะปรับลดอย่างไร ที่ราคาไม่เท่ากันก็ทำให้เท่ากันหรือให้ใกล้เคียงกัน คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ดูแลปฐมภูมิเบิกจ่ายได้เพียง 500 บาท แต่ถ้าไปรักษาที่รพ.ใหญ่ในโรคเดียวกันได้ 1,500 บาท คลินิกชุมชนอบอุ่นก็อยากจะปรับให้เท่ากันหรือมากขึ้น

“รพ.ใหญ่อาจจะขอให้ลดหย่อนลงมา หรือให้รพ.ใหญ่เน้นการรักษาระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ หรือปรับระดับปฐมภูมิให้อยู่ระดับเดียวกัน จะได้ไม่เกิดความรู้สึกกินแหนงแคลงใจ อยากให้แก้ไขในข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ไม่อยากให้ทุกรพ.ซึ่งดูแลรักษาพยาบาลประชาชนเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน”นายสมศักดิ์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในส่วนของงบค่ารักษาผู้ป่วยในสิทธิบัตรทอง 30 บาท เดิมกำหนดอัตราค่าผู้ป่วยในกำหนดไว้ที่ 8,350 บาทต่อหน่วย(ต่อAdjusted RW)  แต่เนื่องจากมีผู้เข้ารับบริการเกินกว่าที่มีการประมาณการไว้ในการจัดทำงบประมาณ ระหว่างปีงบประมาณบอร์ดสปสช.จึงมีมติให้จ่ายที่อัตรา 7,000 บาทต่อหน่วยตั้งแต่มิ.ย.-ก.ย.2567

ต่อมามีการร้องเรียนจากรพ.เกี่ยวกับการถูกลดงบประมาณดังกล่าว สุ่มเสี่ยงจะทำให้รพ.เผชิญวิกฤติทางการเงิน เนื่องจากอัตรา 8,350บาทนั้นก็ต่ำกว่าต้นทุนจริงของรพ.อยู่แล้ว เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)วาระพิเศษ ได้เห็นชอบแนวทางการจัดสรรงบกลาง 5,924 ล้านบาท โดยให้นำไปใช้ดำเนินโครงการ30บาทรักษาทุกที่ก่อน  รวมถึงกรณีอื่นๆ และหากเงินคงเหลือให้จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในอัตรา 8,350 บาทต่อหน่วย
รีดงบฯค่ารักษาบัตรทอง-ประกันสังคม รพ.เอกชน-รัฐโดนถ้วนหน้า

ประกันสังคมปรับลดค่ารักษา

ขณะที่นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566  สำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทั้งสองปี ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว รวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายตามประมาณการรายได้ ทำให้การปรับลดงบประมาณนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจึงเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาทบทวนอัตราค่าตอบแทนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และปรับระบบการจ่ายค่ารักษาสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเสนอให้กำหนดอัตราขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน และลดภาระทางการเงิน

รพ.เอกชนออกจากประกันสังคมต่อเนื่อง

แม้ในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมจะปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายจาก 1,640 บาท เป็น 1,808 บาท แต่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังกลับไม่มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับระบบประกันสังคมลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมลดลงจาก 120 แห่ง เหลือเพียง 93 แห่งในปัจจุบัน แม้จะมีโรงพยาบาลใหม่เข้าร่วมบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้มากพอ

 "ถ้าสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป จะส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมหลายแห่งอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม ส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนลดลง ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลเอกชนลดลง จะสร้างภาระให้กับโรงพยาบาลรัฐที่ต้องรองรับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น”นพ.ไพบูลย์กล่าว