บัตรทอง 30 บาท งบฯกลาง ให้ 30บาทรักษาทุกที่ก่อน ค่าผู้ป่วยใน 8,350 รอคงเหลือ

บัตรทอง 30 บาท งบฯกลาง ให้ 30บาทรักษาทุกที่ก่อน ค่าผู้ป่วยใน 8,350 รอคงเหลือ

บอร์ดสปสช.วาระพิเศษเห็นชอบแนวทางใช้งบฯกลาง  5,924 ล้านบาท ให้ 30บาท รักษาทุกที่เป็นลำดับแรก ส่วนค่าผู้ป่วยในจ่ายให้รพ.อัตรา 8,350 บาทต่อหน่วยรอเงินเหลือ เบิกจ่ายให้เสร็จภายใน 30 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 (3) 2567 วาระพิเศษ “การปิดงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2567 และการใช้งบกลางคงเหลือ” ว่า ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 5,924.31 ล้านบาท เพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้นำรวมกับงบรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมของปีงบประมาณ 2566 และรายรับอื่นระหว่างปีรอปิดบัญชีปี 2567 ที่ไม่มีภาระผูกพัน

งบฯกลางใช้กับ 30 บาทรักษาทุกที่ก่อน

ที่ประชุม บอร์ด สปสช. เห็นชอบให้นำมาจ่ายชดเชยสำหรับค่าบริการ โดยเรียงตามรายการ ดังนี้

  • ค่าบริการตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่
  • ค่าบริการกรณีที่จำเป็นในการเข้ารับบริการยังหน่วยบริการอื่นนอกเครือข่ายกรณีเหตุสมควร
  • กรณีรายการค่าบริการที่งบประมาณไม่เพียงพอ
  • และกรณีที่มีงบประมาณคงเหลือให้นำมาใช้จ่ายเพิ่มเติมกับค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ Adj.RWหรือต่อหน่วย

ทั้งนี้ หากยังมีงบประมาณคงเหลือก็ให้ยกยอดไปในปีถัดไป ยกเว้นในส่วนของงบกลางฯ ให้เบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2567
บัตรทอง 30 บาท งบฯกลาง ให้ 30บาทรักษาทุกที่ก่อน ค่าผู้ป่วยใน 8,350 รอคงเหลือ

ในส่วนงบปกติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ปิดงบประมาณจากข้อมูลการเบิกจ่ายที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15ก.ย. 2567 สำหรับข้อมูลการส่งเบิกจ่ายหลังจากวันที่ 15 ก.ย.2567 ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไป

ส่วนค่าบริการผู้ป่วยนอกพื้นที่ กทม. ให้กันเงินไว้ภายใต้วงเงิน Capitation ตามประชากรที่ลงทะเบียน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 ไว้จ่ายค่าใช้จ่ายค่าบริการที่ค้างจ่ายของปีงบประมาณ 2567

"ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้ปิดงบประมาณรายจ่ายจากข้อมูลที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15 ก.ย.ของทุกปี เพื่อให้การดำเนินการโอนเงินให้หน่วยบริการมีประสิทธิภาพและเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย.ของทุกปี ส่วนข้อมูลเบิกจ่ายหลังวันที่ 15 ก.ย.2567 ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไป รวมถึง การนำงบประมาณคงเหลือจากการเบิกจ่ายให้นำไปรวมกับงบประมาณในปีถัดไป โดยให้ สปสช. ดำเนินการโดยทันที ”นายสมศักดิ์กล่าว       

สภาพัฒน์ห่วงจัดงบฯซ้ำซ้อน

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า  บอร์ด สปสช. ยังให้ สปสช. รับข้อสังเกตของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่อาจเกิดความซ้ำซ้อนของการสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ กรณีที่ผู้มีสิทธิไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการสาธารณสุขพื้นฐานใกล้บ้าน ขณะที่หน่วยบริการเดิมที่ได้ลงทะเบียนไว้ไม่ต้องจัดบริการแก่ผู้มีสิทธิรายนั้น
แต่ยังได้รับงบประมาณในการดำเนินงานตามค่าเหมาจ่ายรายหัว  จึงควรพิจารณาหาแนวทาง ในการจัดสรรงบประมาณรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการจัดบริการร่วมกันระหว่างหน่วยบริการที่ประชาชนได้ลงทะเบียน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการอื่นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานในระยะต่อไป

ข้อห่วงใยของสำนักงานสภาพัฒน์  ที่ได้พูดถึงงบประมาณที่ใช้ในผู้ป่วยนอก ที่มีการส่งตัวไปยังรพ.ใหญ่ขึ้น อาจมีการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนกันหรือไม่ จึงต้องระมัดระวังในเรื่องของการเบิกจ่ายซ้ำซ้อน โดยปัญหานี้ทำให้คลินิกชุมชนอบอุ่นต่างๆ ออกมาบอกว่าตัวเองขาดทุน อย่างเวลามีผู้ป่วยไปรักษาที่คลินิกชุมชนอบอุ่นก็เบิกจ่ายได้เพียง 500 บาท แต่ถ้าส่งตัวไปรักษาที่รพ.ใหญ่ในโรคเดียวกันได้ 1,500 บาท คลินิกชุมชนอบอุ่นก็อยากจะปรับให้เท่ากันหรือมากขึ้น แต่เราดูว่าถ้าปรับ รพ. ใหญ่ลงมาให้เท่ากับคลินิกฯ ได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน และไม่สามารถพูดคุยให้จบลงได้

"ต้นทุนการรักษาโรคของ รพ. ใหญ่ กับของคลินิกฯ มีความแตกต่างกัน ทำให้มีปัญหา ก็จะมีเสียงพูดว่าเขาอยู่ไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เพราะมาตรฐานการรักษาต่างกัน เครื่องมือ ค่าใช้จ่ายต่างกัน เหมือนเราไปห้างสรรพสินค้ากับการซื้อของร้านค้าชุมชนใกล้บ้าน ราคาก็จะต่างกัน" นายสมศักดิ์ กล่าว

จ่ายค่าผู้ป่วยในต่ำสุด 8,154 บาท

ผู้สื่อข่าวถามว่าค่ารักษาผู้ป่วยในมีปัญหาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ตัวเลขการเบิกจ่าย 8,350 บาทต่อหน่วย ถ้าไม่ได้งบประมาณเพิ่มมาเลยก็จะอยู่ที่ 8,154 บาท ตัวเลขก็จะแตกต่างกันเล็กน้อย ห่างกันแค่ 190 กว่าบาท มื่อมีเงินมาเติมให้มันก็มากขึ้น แต่ก็ไม่ให้เกิน 8,350 บาทต่อหน่วย ตามเพดานที่กำหนดไว้

ถามย้ำถึงอัตราจ่ายค่าผู้ป่วยในเป็นตัวเลขที่เท่าไหร่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 8,154 บาทอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มก็ไม่เกิน 8,350 บาท และโดยเฉลี่ยก็ไม่ใช่ 7,000 บาท เพราะตัวเลขนี้เป็นการประมาณการในช่วงนั้น เนื่องจากเป็นงบประมาณปลายปิด สปสช. ก็กลัวว่าจะไม่พอ แต่ตามที่ตนคำนวณแล้วอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 8,154 บาท ขั้นสูงสุดก็คือ 8,350 บาท เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันไป

ลดคนป่วย ช่วยลดงบประมาณ

ถามต่อว่าในการจัดสรรงบประมาณสำหรับกองทุนบัตรทองในปีงบประมาณ 2568 จะต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าไม่ทำอะไรในการหยุดยั้งคนป่วย ทำให้คนป่วยน้อยลง งบประมาณที่ใช้ในการรักษาต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน และอาจจะเหนื่อยกับการที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

"เราต้องเกรงใจรัฐบาลด้วย ไม่ใช่จะขอเอาๆ  ก็ต้องบริหารให้พอ ผมเรียนแล้วว่าในปีใหม่นี้ จะทำเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมทุกกองทุนการรักษาปีละกว่า 130,000 ล้านบาท ถ้าสามารถหยุดยั้งคนป่วยที่มีอัตราการใช้จ่ายสูงขึ้นได้ รางวัลตรงนี้ก็ควรนำมาตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรืออย่างไรก็กำลังทำกฎหมายกันอยู่ ระดมความเห็นกันอยู่ ปีงบประมาณใหม่นี้ก็ต้องพูดเรื่องนี้เป็นหลัก" นายสมศักดิ์กล่าว 

 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมบอร์ด สปสช. ในวันนี้ท่าน รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้มีการจัดขึ้นเป็นวาระพิเศษ เพื่อเร่งแก้ปัญหางบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องด้วยบริการในปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการปรากฏว่า มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวนมาก ทำให้มีผลงานบริการมากกว่างบประมาณที่จัดสรรไว้

จึงจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมในการปิดงบประมาณรายจ่าย รวมถึงการขอเพิ่มเติมจากงบกลางฯ ที่ทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 หลังจากนี้ สปสช. จะเร่งดำเนินการโอนค่าบริการให้กับหน่วยบริการโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมทีอัตราค่าผู้ป่วยในกำหนดไว้ที่ 8,350 บาทต่อหน่วย แต่เนื่องจากมีผู้เข้ารับบริการเกินกว่าที่มีการประมาณการไว้ในการจัดทำงบประมาณ ระหว่างปีงบประมาณบอร์ดสปสช.จึงมีมติให้จ่ายที่อัตรา 7,000 บาทต่อหน่วยตั้งแต่มิ.ย.-ก.ย.2567 ต่อมามีการร้องเรียนจากรพ.เกี่ยวกับการถูกลดงบประมาณดังกล่าว สุ่มเสี่ยงจะทำให้รพ.เผชิญวิกฤติทางการเงิน เนื่องจากอัตรา 8,350บาทนั้นก็ต่ำกว่าต้นทุนจริงของรพ.อยู่แล้ว