คาด 'ฝุ่น PM 2.5' ปีนี้ ไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567 'คลินิกมลพิษ'เตรียมรับมือ

คาด 'ฝุ่น PM 2.5' ปีนี้ ไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567  'คลินิกมลพิษ'เตรียมรับมือ

คาดฝุ่นPM 2.5 ปีนี้ แนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567  เตรียมคลินิกมลพิษ จำนวน 81 แห่ง และคลินิกมลพิษออนไลน์ จำนวน 158 แห่งรับมือ เผยปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่เข้าปรึกษาด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ คิดเป็น 58%

KEY

POINTS

  • ฝุ่นPM 2.5 กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้ว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567
  • ฝุ่นPM 2.5กรมการแพทย์ สธ.พร้อมคลินิกมลพิษ จำนวน 81 แห่ง และคลินิกมลพิษออนไลน์ จำนวน 158 แห่งครอบคลุม 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ
  • ช่วงฝุ่นPM 2.5 คำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพ ปี 2567 พบผู้ป่วยที่เข้าปรึกษาในคลินิกมลพิษออนไลน์ ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ คิดเป็น 58% รองลงมา คือ โรคตา 42% และโรคผิวหนัง 17%

เป็นที่รับรู้กันดีว่า “ฝุ่น PM2.5” มาพร้อม ฤดูหนาว ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทยปี 2567 จะเริ่มต้นในวันที่ 29 ต.ค. 2567 และจะสิ้นสุดฤดูหนาวในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2568 เท่ากับความเสี่ยงของการจะต้องเผชิญกับค่าฝุ่นPM2.5ที่สูงก็จะเริ่มต้นขึ้นด้วย

คาดฝุ่นPM2.5 ฤดูนี้ไม่รุนแรงเท่าปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม  กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยถึงการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กระยะไกลล่วงหน้า องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration/NOAA) ประเมินว่าช่วงระหว่างเดือนกันยายนไปจนถึงพฤศจิกายน 2567 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” (La Nina) ซึ่งจะส่งผลให้ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมประเทศไทย มีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติปรากฎการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2568

 ผลที่ตามมาจะทำให้การลุกลามจากการเผาไหม้เศษวัสดุชีวมวลไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์ภายใต้ปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” (สภาวะแห้งแล้ง) ประกอบกับการดำเนินการภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ที่จะสามารถควบคุมแหล่งกำเนิดที่มีนัยสำคัญได้ครบทุกมิติ จึงคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้ว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567

ในสถานการณ์อันใกล้นี้ ผลการประเมินจากกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มที่ค่าฝุ่นละอองจะสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2567 ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่จะมีสภาวะที่อากาศปิดส่งผลให้ฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้ ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง สามารถติดตามสภานการณ์ได้จากแอปพลิเคชัน Air4Thai และแฟนเพจ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เพื่อรับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้อง และนำไปใช้ประกอบการวางแผนการทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างเหมาะสม

คลินิกมลพิษ รับมือฝุ่นPM2.5

นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมได้ความพร้อมสถานพยาบาล และคลินิกโรคทางเดินหายใจ และคลินิกมลพิษ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จึงได้จัดตั้งคลินิกมลพิษเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนและตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เป็นคลินิกเฉพาะทางที่เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประเมินสถานการณ์มลพิษ ประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลพิษทางอากาศ ใช้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์

ในการออกมาตรการต่างๆ  เพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน ควบคู่กับการรักษาและดูแลผู้ป่วย ที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการรักษาและกลับไปใช้ชีวิตปกติ คลินิกมลพิษมีการให้ข้อมูลและประเมินสภาวะสุขภาพ รวมถึงติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ เช่น ระยะเวลาในการได้รับมลพิษ การใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ความรู้เรื่องโรคที่เกี่ยวข้องที่สามารถเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเครือข่ายคลินิกมลพิษที่ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ และได้จัดทำคู่มือปฏิบัติงานของคลินิกมลพิษ การให้คำแนะนำ รวมทั้งจัดตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์ www.pollutionclinic.com เพื่อให้ประชาชนได้ประเมินอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเองผ่านระบบออนไลน์ และการสร้างความรอบรู้สุขภาพด้านฝุ่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และหากพบว่ามีอาการความรุนแรงสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ในคลินิกออนไลน์หรือส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในคลินิกมลพิษใกล้บ้านได้

ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ 58 %

นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกมลพิษ จำนวน 81 แห่ง และคลินิกมลพิษออนไลน์ จำนวน 158 แห่งครอบคลุม 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ในปี 2567 พบผู้ป่วยที่เข้าปรึกษาในคลินิกมลพิษออนไลน์ ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ คิดเป็น 58% รองลงมา คือ โรคตา 42% และโรคผิวหนัง 17% (ผู้ป่วย 1 ราย มีอาการหลายระบบ ทั้งนี้ กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้ทำคลินิกมลพิษออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ประเมินอาการป่วย ปรึกษาแพทย์ได้

คำแนะนำดูแลสุขภาพ ช่วงฝุ่นPM 2.5

สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพ ช่วง ฝุ่นPM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็ก และประชาชนที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่

 1. สวมหน้ากาก N95 หากไม่มีให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น ซึ่งสามารถกรองฝุ่นละอองได้บางส่วน

 2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านเมื่อมลพิษอากาศสูง และงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น

3. ควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองพัดเข้ามาในบ้าน

 4. ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน แต่ไม่แนะนำให้กวาด เพราะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

 5. แนะนำติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ จะช่วยกรองฝุ่นละอองภายในบ้านได้ โดยก่อนที่จะทำการติดตั้ง จะต้องมั่นใจก่อนว่าเครื่องฟอกอากาศนั้นมีขนาดเหมาะสมกับห้องภายในบ้าน

6. กรณีออกไปทำธุระนอกบ้านควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่แว่นตาหรือแว่นครอบตา และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีเมื่อกลับมาถึงบ้าน

 7. ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อลดควันดำจากการเผาไหม้เครื่องยนต์

8. หมั่นดื่มน้ำสะอาด

 9. หากพบอาการผิดปกติของร่างกายให้รีบมาพบแพทย์ทันที