บอร์ดสปสช. เห็นชอบกลไก 'อสม.ช่วยลดปัญหาโรคNCDs' กำหนด 5 ตัวชี้วัดจ่ายเงิน

บอร์ดสปสช. เห็นชอบกลไก 'อสม.ช่วยลดปัญหาโรคNCDs' กำหนด 5 ตัวชี้วัดจ่ายเงิน

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “การเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดย อสม.”   จัดแพ็คเกจบริการ- การจ่ายเงินตามผลลัพธ์บริการ 5 ตัวชี้วัด หนุนอสม.ทำงานช่วยลดโรค NCDs ตั้งเป้า ปี68 ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ 75,142 แห่ง

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 - นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า ในวันนี้ บอร์ด สปสช. ได้รับทราบและเห็นชอบในหลักการ “ข้อเสนอการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

รองรับการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ กิจกรรมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในรูปแบบแพ็คเกจบริการ (Service Packages) สำหรับ อสม. เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชน มีเป้าหมายทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ จำนวน 75,142 แห่ง และตัวชี้วัดเพื่อกำกับติดตามผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยไตเรื้อรัง ในการจ่ายตามผลลลัพธ์บริการ 5 ตัวชี้วัด

 “จากข้อเสนอการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดย อสม. ที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบในวันนี้ ยังได้มอบให้ สปสช. ออกแบบกลไกการบริหารงบประมาณ แหล่งงบประมาณ หลักเกณฑ์ วิธีการ และการจ่ายชดเชยค่าบริการ เพื่อรองรับการจัดบริการและตัวชี้วัดดังกล่าว และด้วยความร่วมมือขับเคลื่อนของทุกฝ่ายนี้ รวมทั้ง สปสช. ทำให้นโยบายในการยกระดับการสาธารณสุขไทยฯ บรรลุเป้าหมายได้”นายสมศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนีกงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของ อสม. ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนเชิงรุกห่างไกล NCDs. ที่ได้รับจาก กสธ. ประกอบด้วย 1.คัดกรองสุขภาพ (35ปีขึ้นไป) ได้แก่ เบาหวาน ความดัน BMI เป็นต้น โดยใช้ App.SMART อสม. 2.ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การนับคาร์บ การควบคุมอาหารหวานมันเค็ม การออกกำลังกาย ฯลฯ

3.สร้างอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.)ดูแลการกินยา สุขภาพใจ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ตามแนวทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)  4.เยี่ยมบ้าน ติดตามร่วมกับเจ้าหน้าที่ มีวางแผน ติดตาม ประเมินสุขภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำทุกสัปดาห์/เดือน และ 5.ร่วมกิจกรรมรณรงค์สุขภาพในชุมชน สนับสนุนให้เกิดมาตรการในชุมชน และใช้ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนเป็นฐานบริการประชาชนในชุมชน

จากบทบาท อสม. ข้างต้นนี้ นำมาสู่การจัดชุดเครื่องมือให้บริการ (Service Packages) ของ อสม. เพื่อลด NCDs. ในชุมชน ประกอบด้วย 1.เครื่องชั่งน้ำหนักและสายวัดรอบเอว 2.เครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา 3.เครื่องวัดความเค็ม (Salt Meter) 4.เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้วพร้อมแผ่นตรวจ 5.การลงข้อมูลใน App SMART อสม. โดยให้ความรู้กลุ่มเสี่ยงและติดตามเพื่อควบคุมผู้ป่วยตามแผนการรักษาของแพทย์ 6.แนะนำผู้ป่วยและประชาชนใช้ Food4Health App. ในการควบคุมอาหาร

นอกจากนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบาย ได้กำหนดตัวชี้วัดกำกับติดตามผู้ป่วยสำหรับการจ่ายตามผลลัพธ์บริการ ดังนี้ 1.ลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรายใหม่

2.จำนวนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงอยู่ตามเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้ยาในการตรวจ 2 ครั้งติดกัน ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน

3.จำนวนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายในการตรวจ 2 ครั้งติดกัน ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน

4.จำนวนผู้ป่วยความต้นโลหิตสง ที่ควบคมความดันโลหิตสงได้ตามเป้าหมายในการตรวจ 2 ครั้งติดกัน ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน

และ 5.จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ระยะที่ 1 - 3 ลดโอกาสการดำเนินโรค ชะลอความเสี่ยงของไตไปเป็นระยะที่ 3 หรือมากกว่าในการตรวจ 2 ครั้งติดกัน ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน

 “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานไม่พึ่งอินซูลิน เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศ ซึ่งจากข้อมูล 10 อันดับโรคบริการผู้ป่วยนอกในระบบบัตรทอง ปี 2566 พบว่ามีอัตราการรับบริการสูงเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 โดยมีจำนวนรับบริการ 19,898,178 ครั้ง และ 11,309,503 ครั้งต่อปี ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายนี้เชื่อว่าจะช่วยลดผู้ป่วยลงได้ โดย สปสช. จะเร่งดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช. ที่เห็นชอบโดยเร็ว”นพ.จเด็จกล่าว