รีวิว“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ไม่ปังแต่พัง รื้อกม.เอาผิดอินฟลูฯ-คนเขียนสคริปต์

รีวิว“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ไม่ปังแต่พัง รื้อกม.เอาผิดอินฟลูฯ-คนเขียนสคริปต์

ตลาดออนไลน์บูม ผลิตภัณฑ์สุขภาพเกลื่อน โฆษณา-รีวิวฉ่ำ พบรูปแบบเข้าข่ายผิดกฎหมายเพียบ! สภาผู้บริโภคจี้กสทช.จัดการโฆษณาแฝงในรายการทีวี -รื้อกฎหมายอาหารเอาผิดถึงอินฟลูเอนเซอร์-คนเขียนสคริปต์ 

KEY

POINTS

  • มีความเข้าใจผิดอยู่มากว่าหาก “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”ขึ้นทะเบียนอย.แล้ว สามารถโฆษณาได้อย่างเสรี จึงพบรูปแบบรีวิวที่ใช้ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายเพียบ
  • สภาของผู้บริโภคจี้กสทช.จัดการ “โฆษณาแฝงผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ในรายการดังผ่านโทรทัศน์ -แก้กฎหมายอาหารที่ใช้มา 47 ปี  เอาผิดถึงดารา อินฟลูเอนเซอร์  คนเขียนสคริปต์
  • ก่อนรับรีวิว โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ดารา อินฟลูเอนเซอร์ สำนักข่าวต้องรู้จักกลั่นกรองก่อน ยกตัวอย่าง 5 กลุ่มเครื่องสำอาง การโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ข้อความที่ห้ามใช้

"ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”ตามกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ควบคุมกำกับ คือ ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์  ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ซึ่งทั้งหมดจะต้องขึ้นทะเบียนหรือจดแจ้งก่อนการวางจำหน่าย 
ในยุคที่“ตลาดออนไลน์”เฟื่องฟู จะเห็นได้ว่า “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”เหล่านี้ เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการผลิต วางจำหน่าย และมีแบรนด์ใหม่ๆทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์น้อย หรือแบรนด์ใหญ่เกิดขึ้นอย่างมาก และมีการ “ทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์” จึงเห็นเจ้าของแบรนด์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ รีวิวผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างมากมาย  ซึ่งบ่อยครั้งจะพบการรีวิวแบบผิดกฎหมายทั้งที่รู้และไม่รู้ เจตนาและไม่เจตนา 

รูปแบบรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เจอบ่อย

การใช้ดารา พรีเซ็นเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์รีวิว หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และออนไลน์ที่พบเห็นบ่อย อาทิ

  • การอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือสื่อความหมายเป็นเท็จ ถือเป็นการหลอกลวงและเอาเปรียบผู้บริโภค เป็นกระทำที่ผิดกฎหมาย
  • การใช้ข้อความที่สื่อความหมายที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ
  • การใช้ข้อความที่แสดงสรรพคุณที่เป็นการรักษาโรคทั้งที่ไม่ใช่ยา
  • การโฆษณาแฝงในรายการต่างๆ อย่างกรณี บริษัทดิไอคอนกรุ๊ป ที่มีหลายรายการที่เผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์หลายรายการ ที่มีการเชิญพรีเซ็นเตอร์ หรือเจ้าของแบรนด์สินค้ามานั่งสัมภาษณ์ในรายการ การนำเสนอเนื้อหาที่เสมือนเป็นคอนเทนต์จริง แต่แท้จริงแล้วเป็นการแฝงโฆษณาผลิตภัณฑ์
  • นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคและเด็กผ่านสื่อโฆษณาต่าง ๆ โดยนำเด็กมาใช้ในการโฆษณาเกินความเหมาะสม ถือว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิของเด็กอย่างชัดเจน

จี้กสทช.ตรวจสอบเชิงรุก

การกระทำเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ผิดกฎหมายเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ภายในการควบคุมกำกับของอย.เท่านั้น  สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่ายังถือว่าผิด ตามกฎหมายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.ศ. 2558 เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

สภาผู้บริโภค จึงเรียกร้องให้ กสทช. มีบทบาทที่เข้มแข็งขึ้นในการเฝ้าระวังเชิงรุก ตรวจสอบและกำกับดูแลการออกอากาศ โดยเฉพาะรายการโทรทัศน์และวิทยุที่อาจมีการโฆษณาแฝง (Tie-in) อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงปรับปรุงแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนในการตัดสินใจว่าเนื้อหารายการใดเป็นโฆษณา และเนื้อหารายการใดเป็นเนื้อหาจริง รวมถึงการแจ้งแนวปฏิบัติเหล่านี้ให้กับช่องโทรทัศน์หรือรายการต่าง ๆ นำไปปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดการระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาที่อาจจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภค ยังเสนอให้ กสทช. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย เพื่อป้องกันการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

ต้องมีแนวปฏิบัติโฆษณาในสื่อออนไลน์

ในส่วนของการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์และบุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อโน้มน้าวผู้บริโภค ซึ่งมักมีการโฆษณาเกินจริง เสนอให้มีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณา และให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในวงการโฆษณา เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคในทุกช่องทาง

ขณะที่ สมาคมโฆษณาและสมาคมผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยดาราและอินฟลูเอนเซอร์ที่รับงานโฆษณาควรตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพื่อป้องกันผลกระทบทางกฎหมายและสังคม

รื้อกฎหมายเอาผิดอินฟลูเอนเซอร์-คนเขียนสคริปต์

ในส่วนผลิตอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ภก.ภาณุโชติ ทองยัง  กรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะประธานอนุกรรมการ ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ  กล่าวว่า การที่หน่วยงานรัฐตามไม่ทันทำงานไม่รวดเร็วในการเข้าไประงับ หรือเตือนภัยผู้บริโภค กลายเป็นช่องทางให้ธุรกิจอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้โอกาสนี้ขยายธุรกิจจนใหญ่โตอย่างที่เห็น

สภาผู้บริโภคได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อเสนอฝ่ายนิติบัญญัตินั้น จะเป็นการยกเครื่องกฎหมายอาหารที่ล้าสมัย  โดยเป็นการเติมบางส่วนเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพขึ้น  ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองจากการโฆษณาอาหารที่ไม่เป็นธรรม

รีวิว“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ไม่ปังแต่พัง รื้อกม.เอาผิดอินฟลูฯ-คนเขียนสคริปต์

โดยเฉพาะนิยามที่เขียนไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มพวกดารา อินฟลูเอนเซอร์ และการโฆษณา เขียนตั้งแต่ยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีแพลตฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์ จึงเสนอให้มีการแก้ไข ‘เพิ่มคำนิยาม’ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองที่เป็นธรรม เช่น เพิ่มคำนิยามคำว่า “สื่อโฆษณา” เพื่อให้ครอบคลุมถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล และให้การปฏิบัติสามารถบังคับได้จริง

เพิ่มบทนิยาม คำว่า ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร หมายความว่า ผู้รับอนุญาตผลิตอาหาร ผู้รับอนุญาตนำเข้าอาหาร ผู้ผลิตอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ผลิตภาชนะบรรจุหรือวัตถุสัมผัสอาหารเพื่อจำหน่าย ผู้นำเข้าภาชนะบรรจุหรือวัตถุสัมผัสอาหารเพื่อจำหน่าย ผู้จำหน่ายภาชนะบรรจุหรือสัมผัสอาหาร และหมายความ รวมถึง ผู้รับอนุญาตโฆษณาอาหารและผู้ทำการโฆษณาอาหาร

“การเสนอรื้อกฎหมายอาหาร  ใครที่ทําอะไรที่เกี่ยวกับอาหารอนาคตจะครอบคลุมหมด ซึ่งก็รวมถึงดารา อินฟลูเอนเซอร์โฆษณาอาหาร จะถือว่า เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้วย เมื่อมีการกระทำผิดก็จะมองทุกองคาพยพ ตั้งแต่บริษัทรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ปล่อยให้โฆษณาอาหารเกินจริง ใครเขียนสคริปต์ให้ดารา อินฟลูเอนเซอร์พูด ก็ต้องรับผิดชอบ มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ”ภก.ภาณุโชติกล่าว 

ดารา อินฟลูฯ สำนักข่าว ต้องกลั่นกรองก่อนรับงาน

สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนรับรีวิว จะต้องไม่ดูเพียงแค่ว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย.เท่านั้น  เพราะแม้มีอย. แต่เมื่อมีการรีวิว หรือโฆษณาที่เป็นการ “อวดอ้างเกินจริง”ก็ผิดกฎหมาย!

“ดาราหรือผู้มีชื่อเสียงจะต้องมีการกลั่นกรองก่อนจะรับรีวิวหรือเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า รวมไปถึงสื่อโทรทัศน์ รายการทีวี สำนักข่าวออนไลน์ต่างๆด้วย การรับรีวิวผลิตภัณฑ์อาหาร แต่กลับไปโยงรักษาโรค คุณต้องเอ๊ะ หรือไม่ก็ต้องถาม อย. ก่อน ทำอย่างนี้เป็นการปกป้องตัวเอง และมีส่วนร่วมปกป้องผู้บริโภคด้วย ถ้าก่อนรับงานไม่ตรวจสอบพอเกิดเรื่องขึ้น ประชาชนจะมองคุณไม่เหมือนเดิม เท่ากับคุณทําลายวงการ ทำลายอาชีพของคุณเอง”ภก.ภาณุโชติกล่าว

ตัวอย่างโฆษณาเครื่องสำอางผิดกฎหมาย

เครื่องสำอาง นับเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการผุดขึ้นมามากราวกับดอกเห็ด ทั้งนี้ อย. ได้ปรับคู่มือโฆษณาเครื่องสำอางฉบับใหม่ให้ทันสมัย เน้นความถูกต้อง เป็นจริง ห้ามโฆษณาเกินจริง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคปลอดภัย แนะผู้ประกอบการและอินฟลูเอนเซอร์ศึกษาคู่มือฉบับใหม่ ปี 2567 เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ตัวอย่างข้อความโฆษณาเครื่องสำอางในกลุ่มต่างๆที่ห้ามใช้เข้าข่ายผิดกฎหมาย อาทิ

1.กลุ่มเครื่องสำอางบำรุงผิวที่มีสารไวท์เทนนิ่ง  ห้ามใช้ข้อความที่สื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำให้สีผิวขาวขึ้นมากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติ

2.กลุ่มเครื่องสำอางลดริ้วรอย  ห้ามใช้ข้อความเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกัน หรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกระบวนการเสื่อมสภาพอันเนื่องจากอายุที่มากขึ้น

3.กลุ่มเครื่องสำอางสำหรับผิวที่เป็นสิว ห้ามใช้ข้อความ ภาพสื่อในการป้องกัน รักษาสิว ลดการอักเสบของสิว หรือลดสิว

4.กลุ่มเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด/ผสมสารป้องกันแสงแดด  ห้ามใช้ข้อความหรือภาพ เช่น ป้องกันแสงแดดได้ยาวนาน โดยไม่ต้องทาซ้ำ,ป้องกันอันตรายจากรังสียูวีได้ 100 % เป็นต้น

5.กลุ่มเครื่องสำอางบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ  ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อถึงการบำรุงลึกถึงรากผม , บำรุงเส้นผม/ช่วยให้ผมแข็งแรงตั้งแต่รากจรดปลาย ,ลดผมร่วง/ผมหลุดร่วง เนื่องจากผมร่วงเกิดจากการหลุดร่วงบริเวณรากผมที่อยู่ชั้นผิวหนังแท้ เป็นต้น

สามารถอ่านคู่มือฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2567 และสื่ออินโฟกราฟิกการโฆษณาเครื่องสำอาง ได้ที่คิวอาร์โค้ด และสามารถอ่านบทความเกี่ยวข้องอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ กองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อย. เว็บไซต์   https://cosmetic.fda.moph.go.th