แม้ศาลปกครองรับฟ้อง!  ยัน'บัตรทอง 30 บาท ป่วย 32 อาการ' ยังใช้สิทธิร้านยาได้

แม้ศาลปกครองรับฟ้อง!  ยัน'บัตรทอง 30 บาท ป่วย 32 อาการ' ยังใช้สิทธิร้านยาได้

เลขาธิการ สปสช. ระบุ ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ประชาชนยังใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการ “เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ รับยาที่ร้านยาคุณภาพ” ได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของแพทยสภาต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม กรณีการดำเนินการให้บริการ “เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ รับยาที่ร้านยาคุณภาพ” ซึ่งเป็นบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาทนั้น ขอเรียนประชาชนว่า ณ วันนี้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ ยังคงเข้ารับบริการที่ร้านยาคุณภาพได้ จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอื่นออกมา 

ที่มาของการให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการฯ นี้ เกิดจากความร่วมมือ สปสช. และสภาเภสัชกรรม เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาเบื้องต้น ซึ่งสืบเนื่องจากเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบบัตรทองฯ ปี 2560 ที่ได้มีข้อเสนอให้ขึ้นทะเบียนร้านยาคุณภาพ เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิเข้ารับบริการ ประกอบกับผลสำรวจสถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน พบว่ามีประชาชนซื้อยากินเองในระหว่าง 1 เดือน เมื่อมีการเจ็บป่วย คิดเป็น17.6 %

ข้อมูลข้างต้นนี้ยังสอดคล้องกับผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชน ปี 2561 ถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่ใช้สิทธิบัตรทอง คือการรอรับบริการนานสูงถึงร้อยละ 51.9 ประกอบกับก่อนหน้านี้ ปี 2555 มีข้อมูลผลสำรวจปัญหายาเหลือใช้ในบ้านผู้ป่วย โดยมีผู้ป่วยที่ครอบครองยาเกินจำเป็นที่มีมูลค่าความสูญเสียทางการคลังคิดเป็น 2,350 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อดูจำนวนร้านยาทั่วประเทศ ยังมีจำนวนถึงหลักหมื่นแห่ง  ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีประกาศเกณฑ์ GPP (Good Pharmacy Practice) ที่กำหนดให้ปี 2563 ร้านขายยา (ขย.1) ทุกแห่งต้องมีเภสัชกรปฏิบัติงานประจำตลอดเวลาทำการ และผ่านการรับรอง GPP 

อย่างไรก็ดี บริการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาคุณภาพ แม้ว่าดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มให้บริการ แต่ข้อเท็จจริงได้มีการนำร่องมาก่อนหน้านี้แล้วในระบบบบัตรทอง มาตั้งแต่ปี 2547 -2559 เป็นบริการในรูปแบบ “การจัดบริการร้านยาคุณภาพ” ประมาณ 300 แห่ง โดยให้บริการ เช่น คัดกรอง ความเสี่ยงโรคเรื้อรัง การให้ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การให้ความรู้ด้านการใช้ยาอย่าง สมเหตุผลเป็นต้น โดยพบว่าร้านยาคุณภาพนี้ ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านยาที่มีคุณภาพได้มากขึ้นด้วย

ต่อมาในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 มีมติเห็นชอบกำหนดร้านยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มดำเนินการในเขต 13 กรุงเทพมหานคร ในการให้บริการด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชาชนไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ ทำให้ต้องมีการกระจายการดูแลประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ทีมีอาการไม่รุนแรง โดยร้านยาก็เป็นหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้การดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการคัดกรองผู้ติดเชื้อ การจ่ายยารักษา และการติดตามอาการหลังได้รับยา เป็นต้น และเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การจัดบริการเจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาที่ร้านยานี้ด้วย

จากที่กล่าวมาแล้วนำมาสู่บริการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาคุณภาพ เริ่มต้นที่ 16 อาการ และขยายเป็น 32 อาการ ซึ่งการบริการต้องมีการติดตามอาการโดยเภสัชกร หากอาการไม่ดีขึ้นจะแนะนำให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาล โดยเป็นบริการทางเลือกให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ ขณะเดียวกันยังเพิ่มการเข้าถึงสิทธิบัตรทองโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิบัตรทองรับบริการที่โรงพยาบาลด้วย และที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนในการเข้ารับบริการ

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ปกติแล้วหากเจ็บป่วยเล็กน้อย ร้านยาก็สามารถขายยาให้ผู้ป่วยได้อยู่แล้ว ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ. สภาวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง สปสช. นำจุดเด่นนี้มาสร้างเครือข่ายบริการ โดยร้านยาที่เข้าร่วมจะต้องขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานบริการว่า ร้านขายยาต้องติดตามอาการประชาชนที่ไปรับบริการ หากไม่ดีขึ้นใน 3 วัน ต้องส่งต่อไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิต่อไป ดังนั้นทำให้ร้านยาในระบบ สปสช. ต่างจากร้านขายยาทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ลดภาระของแพทย์ในโรงพยาบาล และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยให้สามารถไปรับยาที่ร้านยาได้

ส่วนวันที่ 13 พฤศจิกายน นี้ ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเรื่องนี้ ทาง สปสช. ก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วม อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นประเด็นในส่วนของวิชาชีพ คงให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสิ้นสุด โดยระหว่างนี้ สปสช. ให้ประชาชนไปใช้สิทธิบัตรทองที่ร้านยาไปก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย