'โรคระบาด' เขตร้อนเจอเขตหนาวเพิ่ม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมืองหนาวเจอโรคระบาดเขตร้อนมากขึ้น อาการอาจรุนแรงเพราะคนไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน ผลจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทบสุขภาพทั้งโรคไร้เชื้อ-โรคติดเชื้อ คุกคามอย่างน้อย 5 เรื่องใหญ่
KEY
POINTS
- ผลจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทบสุขภาพทั้งโรคไร้เชื้อ-โรคติดเชื้อ โรคระบาด คุกคามอย่างน้อย 5 เรื่องใหญ่
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อโรคระบาด เมืองหนาวเจอโรคระบาดเขตร้อนมากขึ้น อาการอาจรุนแรงเพราะคนไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน
- ไข้เลือดออกระบาดในยุโรปมากขึ้นเป็นกรณีตัวอย่าง ของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของโรคระบาด ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เป็นเวลา 12 วันระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 จะมีการการประชุมประเทศภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 29 หรือ COP29 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
โดยมีประเทศภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) กว่า 200 ประเทศเข้าร่วมรวมถึงประเทศไทย
เวทีนี้จะเป็นการร่วมหาวิธีแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลกด้วยความเร่งด่วน โดยปีนี้วางกรอบการอภิปรายที่เข้มข้นเกี่ยวกับการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ ข้อผูกพันในการลดคาร์บอน และโซลูชันนวัตกรรมสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน
วิกฤติสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) โลกร้อน ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภัยพิบัติทางสภาพแวดล้อม อย่างอุทกภัย วาตภัย หรือภัยแล้งรุนแรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างยากจะคาดต่อเรื่องของสุขภาพและสาธารณสุข ด้วย ผ่านมาทางผลกระทบที่ เกิดต่อภาคการเกษตร การเข้าถึงน้ำสะอาด และการกระจายตัวของโรคติดเชื้อ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุกคามสุขภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุ 5 เรื่องที่คุกคามสุขภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่
1. อากาศร้อนจัด สภาพอากาศร้อนจัดจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง ซึ่งจะเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคจากความร้อน และอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้ง กลุ่มคนไร้บ้าน คนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง) และ ผู้สูงอายุ เป็นต้น
2. โรคติดต่อ ส่งผลทำให้สภาพอากาศอบอุ่นขึ้น เชื้อมีความทนทาน มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มของการเกิดและการกระจายตัวและอุบัติการณ์ของโรคติดต่อจากแมลงและน้ำเป็นสื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งโรคติดต่อจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ตามแหล่งของการติดเชื้อ คือ โรคที่ติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน,โรคที่ติดต่อจากสิ่งแวดล้อมไปสู่คน และโรคที่ติดต่อจากคนไปสู่คน กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน
3. น้ำ ทั้งกรณีน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำส่งกลกระทบต่อสุขภาพทั้งสิ้น น้ำท่วมอาจจมน้ำ เกิดโรคระบาดที่น้ำเป็นสื่อ และการปนเปื้อนของสารเคมี หากแห้งแล้ง น้ำลดลงหรือน้ำนิ่งนั้น จะเกิดการเพิ่มจำนวนของ แมลงที่อาจจะนำโรคต่าง ๆ มาสู่คนได้ รวมถึง ขาดแคลนน้ำที่กระทบต่อการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร
4. คุณภาพอากาศ ในส่วนของโอโซนในระดับพื้นดิน จะเป็นอันตรายหากมีการหายใจเข้าไป เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไอ หายใจได้สั้น ๆ ระคายเคืองตา ,ฝุ่นและควันจากไฟไหม้ป่าอาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรค ระบบทางเดินหายใจทั้งเรื้อรังและเฉียบพลัน ,ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และอนุภาค) หากหายใจเข้าสู่ร่างกาย จะสามารถทำลายเนื้อเยื่อปอด นำไปสู่การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด
5. สภาพอากาศแบบรุนแรง เช่น ไฟป่า น้ำท่วม แห้งแล้ง พายุ คลื่นความร้อน ส่งผลต่อการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ และผลกระทบต่อสุขภาพจิต กลุ่มประชาชนที่มีความเปราะบางต่อสภาพอากาศแบบรุนแรง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ที่อยู่โดดเดี่ยว และกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทบโรคไร้เชื้อ
นอกจากนี้ “สมชัย บวรกิตติ” ระบุไว้ในวารสารวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) เรื่อง “เมื่อโลกเปลี่ยน โรคเปลี่ยน” เกี่ยวกับ “โรคไร้เชื้อ”ที่กระทบจากภาวะโลกร้อน ยกตัวอย่างเช่น
- โรคลมแดด เป็นภาวะป่วยรุนแรง สมองและไตบางส่วนถูกทำลาย เกิดอาการสับสน ชัก หมดสติและสมองตาย
- อารมณ์แปรปรวน มีอาการหงุดหงิกอารมณ์เสียง่าย อัตราการทำร้ายกันสูงขึ้น อาการโรคจิดกำเริบ
- ภาวะชราเหตุรังสี ผิวหนังที่สัมผัสยูวี-บี จะมีความยืดหยุ่นลดลง หยาบกร้านเหี่ยวย่น ตกกระ พบบริเวณนอกร่มผ้า ใบหน้า แขน ขา
- มะเร็งผิวหนัง รังสียูวี-บี ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ เกิดมะเร็งผิวหนัง
- โรคนิ่วในไต อุบัติการณ์อาจสูงขึ้น จากภาวะขาดน้ำ เสียเหงื่อมากและอาจได้รับน้ำชดเชยไม่เพียงพอ ทำให้ปัสสาวะข้น เป็นกรด มีความเข้มของสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงขึ้น เกิดการตกผลึกสารก่อนิ่วในไต รวมถึง การมีรังสียูวีสูงขึ้นช่วยเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนังไปช่วยการดูดซึมแคลเซียมออกซาเลตในลำไส้และขับออกทางปัสสาวะ
- โรคสาหร่ายพิษ เมื่อมีน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น สาหร่ายพิษจะงอกงาม เมื่อคนบริโภคอาหารทะเลที่กินสาหร่ายพิษ ก็จะทำให้อาหารเป็นพิษ
โรคติดเชื้อ อุบัติการอาจสูงขึ้น
ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดความแห้งแล้ง พายุขนาดใหญ่ น้ำท่วมครั้งใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงไปในบางพื้นที่ ทำให้เกิดโรคติดเชื้อกับคน โดยเฉพาะโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ ที่มีการเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นเมื่ออากาศอุ่นขึ้น รวมถึง เชื้อโรคอื่นก็อาจจะเจริญเติบโตได้มากขึ้น มีโอกาสก่อโรคในคนได้สูงขึ้น บวกกับ การเดินทางระหว่างประเทศที่มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้การแพร่กระจายเชื้อโรคไปในแต่ละประเทศหรือต่างทวีปเกิดขึ้นได้เร็วด้วย
ชาญวิทย์ ตรีพุทธรัตน์ และจันทพงษ์ วะสี ระบุเรื่อง “ภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อจุลชีพก่อโรคในคน”ในวารสารวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ปีที่ 5 ว่า เชื้อจุลชีพก่อโรคในมนุษย์มีมากกว่า 1,400 ชนิดพันธุ์ ซึ่งโรคที่หลักฐานชัดเจนว่ามีอุบัติการสูงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อาทิ กาฬโรค อหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วง โรคสัลโมเนลลาที่ก่อปัญหากับระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก
- มาลาเรีย ยุงเป็นพาหะและยุงต้องอาศัยน้ำในการแพร่พันธุ์ ภูมิอากาศแปรปรวนทำให้บางประเทศเกิดมีความอบอุ่นและปริมาณน้ำฝนมากขึ้น เช่น ประเทศแถบแอฟริกาตะวันออก ที่อากาศค่อนข้างเย็น ไม่เคยมีโรคมาลาเรียมาก่อน กลับเกิดโรคมาลาเรียระบาด และมีความรุนแรงของโรคในประชากรในพื้นที่นี้ เพราะยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน
- ไข้เลือดออก การเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้มีการแพร่กระจายของยุงไปในบริเวณของโลกที่มีอากาศเย็น หรืออาจมียุงสายพันธุ์อื่นที่อาจเป็นพาหะแทน
โรคระบาดเขตร้อน ระบาดเขตหนาวมากขึ้น
ในแง่ของโรคระบาดนั้น ไม่เพียงแต่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำเท่านั้น ลักษณะของพื้นที่ระบาดอาจเกิดขึ้นได้กว้างขวาง ยาวนาน และในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดรุนแรงมาก่อนได้ ดังที่ปรากฎให้เห็นแล้ว กรณีของไข้เด็งกี่ (Dengue) หรือไข้เลือดออก ซึ่งจัดว่าเป็นโรคในเขตร้อน พบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น 70 `%ของผู้ป่วยทั้งหมดมาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ทว่า โรคที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรคนี้ ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่า 2,500 ล้านคน คิดเป็น 40 %
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป รายงานเมื่อมิถุนายน 2567 ว่า ในปี 2566มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ติดเชื้อภายในประเทศในสหภาพยุโรป/เขตเศรษฐกิจยุโรป 130 ราย และในปี 2565มีรายงานผู้ป่วย 71 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีระหว่างปี2543-2564 จำนวนผู้ป่วยภายในประเทศทั้งหมดอยู่ที่ 73 รายมาตลอด
นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่นำเข้ายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานผู้ป่วย 1,572 รายในปี 2565และมากกว่า 4,900 รายในปี 2566 ซึ่งถือเป็นจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่นำเข้าสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเฝ้าระวังในระดับสหภาพยุโรปในปี 2551
และในช่วงหลายเดือนแรกของปี 2567ประเทศต่างๆ หลายประเทศรายงานว่าจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่นำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในปี2567 อาจสูงขึ้นอีก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่มีการบันทึกการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งแรกในสหภาพยุโรป/เขตเศรษฐกิจยุโรป มีการระบาดของ โรคไข้เลือดออก 48 ครั้ง ระหว่างปี 2553-2560 มีการระบาดสูงสุด 3 ครั้งต่อปี โดยในปี2561 มีการระบาด 5 ครั้ง ในปี 2563มีการระบาด 7 ครั้ง ในปี2565 มีการระบาด 10 ครั้ง และพบการระบาดสูงสุดเมื่อปีที่แล้วในปี 2566 โดยมีการระบาด 8 ครั้งในฝรั่งเศส 4 ครั้งในอิตาลี และ 2 ครั้งในสเปน