‘วิกฤติเด็กไทย’ ปัญหาทับซ้อนอนาคตชาติ ที่(อาจ)ส่งผล GDP โตไม่ถึง 2 %
เด็กเป็นอนาคตชาติ แต่ประเทศไทยกำลังเผชิญ “วิกฤติเด็ก” ที่ไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว แต่เป็นปัญหาทับซ้อนในหลายมิติทั้งปริมาณและคุณภาพ ไม่เพียงส่งผลแง่ลบต่อตัวเด็ก แต่ยังเชื่อมสู่ปัญหาเศรษฐกิจ อาจได้เห็น GDP ไทยโตไม่ถึง 2 %
KEY
POINTS
- “วิกฤติเด็กไทย” ที่ไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว แต่เป็นปัญหาทับซ้อนในหลายมิติทั้งปริมาณและคุณภาพ และจะเชื่อมสู่ปัญหาเศรษฐกิจ
- พัฒนาการเด็กไทย อย่างด้านภาษามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งการใช้ภาษาและการเข้าใจภาษา ขณะที่สุขภาพจิตก็มีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ 5 โรคที่พบมากในเด็กอายุ 6-12 ปี จากข้อมูลของรพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ ปี 2566
- “การเล่น” หรือการมีกิจกรรมทางการของเด็ก ช่วยเสริมพัฒนาการ 5 มิติ ร่างกาย อารมณ์/สังคม การสื่อสาร/ทักษะชีวิต การคิดวิเคราะห์ และวิชาการ แต่กลับพบว่าเด็กไทย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 20% เท่ากับ 4 ใน 5 คน มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ
ณ ปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องรับมือกับการเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” แต่ในประชากรกลุ่มเด็ก ก็มีหลากหลายปัญหาที่กำลังต้องเผชิญเช่นกัน ประการแรกจำนวนประชากรเด็กน้อยจากการที่อัตราการเกิดใหม่แต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปีละราว 1 ล้าน เหลือเพียง 5 แสนคน
อาจได้เห็น GDPไทยโตไม่ถึง 2 %
5 ทศวรรษที่ผ่านมา ระดับเจริญพันธุ์ หรือการเกิดลดลงอย่างรวดเร็ว โดยอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate :TFR) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิง 1 คนจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์
- ปี 2503 - 2507 อยู่ที่ 6 คนต่อสตรี 1 คน
- ปี 2527 - 2530 อยู่ที่ 2.23 คนต่อสตรี 1 คน
- ปี 2539 อยู่ที่ 2 คนต่อสตรี 1 คน
- ปี 2542 - 2544 อยู่ที่ 1.80 คนต่อสตรี 1 คน
- ปี 2557 - 2559 อยู่ที่ 1.64 คนต่อสตรี 1 คน
- ปี 2565 อยู่ที่ 1 คนต่อสตรี 1 คน
ผลกระทบจากที่มี “อัตราเด็กเกิดใหม่น้อย” ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ: TDRI) ให้ข้อมูลไว้ว่า ประเทศไทยจะมีแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง ไม่สามารถสร้างรายได้ หรือ GDP ได้ เศรษฐกิจไทยจะโตน้อย-โตช้า
จากในอดีต 20 กว่าปีก่อนที่เศรษฐกิจเติบโต 5 -7 % ต่อมาเติบโต 3-4% เป็นการเติบโตที่น้อย และอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าอาจได้เห็น GDP ไทย โตไม่ถึง 2 % หากยังไม่สามารถเพิ่มคุณภาพหรือผลิตภาพ (productivity) ของคนที่มีอยู่หรือจะมีในอนาคต
แนวโน้มพัฒนาการภาษาล่าช้าสูงขึ้น
แต่หากมามองถึงสถานการณ์เด็กไทยที่จะเป็นอนาคตของชาติ ที่สำคัญในเรื่องของพัฒนาการเด็ก จากการที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัย เพื่อติดตามเฝ้าระวังพัฒนาการเด็กปฐมวัยโดยใช้เครื่องมือ Denver II ซึ่งเป็นเครื่องมือคัดกรองพัฒนาการเด็กมาตรฐานสากล
กลับพบว่า สถานการณ์ด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ในปี 2566 (ตุลาคม 2565- กันยายน 2566) ซึ่งมีเด็กปฐมวัยได้รับการคัดกรองพัฒนาการ (ความครอบคลุมในการคัดกรอง) เท่ากับ 82.1 % เด็กที่ติดตาม ได้ภายใน 30 วัน เท่ากับ 89.2 %
เด็กมีพัฒนาการสงสัยล่าช้า 22.5 % ส่วนใหญ่เด็กมีพัฒนาการ ทางภาษาล่าช้า ทั้งการใช้ภาษาและการเข้าใจภาษา
สอดรับกับ ผลการคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย ตลอด 5 ปี (2562-2566) พบว่าแนวโน้มพัฒนาการด้านภาษา ล่าช้าสูงขึ้นทุกปี ในปี 2566 พบเด็กมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าด้านการเข้าใจภาษา (Receptive language) สูงถึง 60.9 % และพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าด้านการใช้ภาษา (Expressive language) สูงถึง 74.8 %
สุขภาพจิตเด็กไทยน่าห่วง
ในมิติสุขภาพจิตก็มีความน่าเป็นห่วง จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า เด็กอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีพัฒนาการล่าช้า เป็น โรคสมาธิสั้น (ADHD) มีปัญหาทางเชาวน์ปัญญา (IQ) และมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่นและนำไปสู่การใช้ยาเสพติด
ข้อมูลการรายงานของโรงพยาบาลสวนปรุง ปี 2566 เด็กอายุ 6-12 ปี เข้ารับการรักษา จำนวน 213 คน ปี 2567 ช่วง 9 เดือน จำนวน 164 คน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โรคที่พบมาก 5 อันดับ ได้แก่
- สมาธิสั้น
- ความผิดปกติแบบไม่อยู่นิ่ง
- ภาวะซึมเศร้า
- ความบกพร่องทางการเรียนรู้
- และภาวะวิตกกังวล
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังระบุว่า เด็กวัยเรียนที่มีปัญหาสุขภาวะทางจิตไม่เพียงแต่เกิดจากสภาพแวดล้อมในบ้านหรือสังคม แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเครียดจากการเรียน การแข่งขันในระบบการศึกษา และความคาดหวังจากครอบครัวและคนรอบข้าง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนหลายคนไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดได้
เด็กควรเล่นกลับไม่ได้เล่น
การที่เด็กได้เล่น เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพราะช่วยเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความคิด
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษา โครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น” ด้วยการติดตามนักเรียนตั้งแต่ป.4จนถึง ป.6 พบว่า “กิจกรรมทางกายช่วยเสริมพัฒนาการ 5 มิติ” ได้แก่
1.ร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อและการเคลื่อนไหวที่ดี
2.อารมณ์/สังคม ความสามารถในการปรับตัว การนับถือตนเอง และมีความสุขกับชีวิต
3.การสื่อสาร/ทักษะชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสามารถในการแก้ปัญหา และความมั่นใจในตนเอง
4.การคิดวิเคราะห์ กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และพัฒนาการด้านการรู้คิด
5.วิชาการ ความสามารถทางวิชาการ การเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี
แต่กลับพบข้อมูลกลุ่มเด็กไทย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 20% เท่ากับว่า 4 ใน 5 คน มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ กระทบต่อการเรียนรู้ในระยะยาว ซึ่งโดยทั่วไปนั้นเด็กควรต้องมีกิจกรรมทางกาย 60 นาทีต่อวันจึงจะเรียกว่าเพียงพอ
ปัจจุบันเด็กไทย ระหว่างอยู่ที่โรงเรียนก็ต้องนั่งในห้องเรียนนาน เมื่อกลับถึงบ้านก็มีกิจกรรมอยู่ติดหน้าจอ