คนไทยกินเค็มกระฉูด! สธ.ดัน 'ภาษีโซเดียม' เป้าลดบริโภคลง 30 %

คนไทยกินเค็มกระฉูด! สธ.ดัน 'ภาษีโซเดียม' เป้าลดบริโภคลง 30 %

คนไทยบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ 2 เท่า พบคนใต้สูงสุด สธ.เดินหน้าลดบริโภคเค็มตั้งเป้าลง 30%  หนุน อสม.มี Salt Meter ช่วยคุมโซเดียมครัวเรือนปรุงอาหาร - ดันภาษีโซเดียม ย้ำสร้างรายได้อาจไม่มาก แต่ช่วยทำให้ประชาชนไม่ป่วย ประหยัดงบฯอย่างมหาศาล

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ครั้งที่ 1/2568ว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคเกลือและโซเดียมมากเกินไป

จากการสำรวจการบริโภคเกลือแกงในประเทศไทย พ.ศ. 2552 พบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารมากถึง 4,351.69 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน มากกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันถึง 2 เท่า ขณะที่คนไทยมากกว่า 22 ล้านคนป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง

สธ.จะผลักดันนโยบายยุทธศาสตร์และมาตรการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในอาหารให้คนไทยลดบริโภคเค็ม 30% ขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนให้ อสม.มี Salt meter เป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักและควบคุมปริมาณโซเดียมในการปรุงอาหารของครัวเรือนที่รับผิดชอบ กำหนดเพดานปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และผลักดันมาตรการทางการเงิน เช่น ภาษีโซเดียม เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงการขับเคลื่อนเรื่องภาษีโซเดียมจะเห็นผลหรือไม่ เนื่องจากมีการผลักดันมานาน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  เรื่องของภาษี มีคณะกรรมการร่วมกับกรมสรรพสามิตในการพิจารณากำหนดเกณฑ์การจัดเก็บอีกครั้ง ซึ่งรายได้จากภาษีนี้ต่อปีอาจจะไม่มาก แต่สิ่งที่ได้มา คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย เป็นการประหยัดอย่างมหาศาล ซึ่งที่ผ่านมาการผลักดันเรื่องนี้ ไม่มีแก่นแกน แต่ปัจจุบันสธ.มีนโยบายเรื่องลดการป่วยด้วยโรคNCDs เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ คิดเป็น 52 % ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะฉะนั้น ต้องช่วยให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ 

ด้านนพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักจัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมฯ พ.ศ. 2559-2568  เพื่อสร้างความเข้มแข็งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย (SALTS) ปีงบประมาณ 2560-2567 มี 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1.การสร้าง พัฒนา และขยายเครือข่ายความร่วมมือ (S: Stakeholder network) โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายขยายพื้นที่มาตรการเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึง กทม. 

2.การเพิ่มความรู้ ความตระหนักและเสริมทักษะประชาชน ชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ บุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและผู้กำหนดนโยบาย (A: Awareness) โดยประชาสัมพันธ์นโยบายสุขภาพ เช่น นโยบายการจัดหาอาหารเพื่อการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ นโยบายภาษีโซเดียม และกำหนดเพดานปริมาณโซเดียม สร้างกระแสสังคมลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

3.การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการผลิต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องว่างทางการเข้าถึงอาหารปริมาณโซเดียมต่ำ (L: Legislation and environmental reform) โดยบังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบ GDA กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ การใช้สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ หรือ “Healthier Logo” และส่งเสริมการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นลดโซเดียม (OTOP) 

4.การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้และการนำไปสู่การปฏิบัติ (T: Technology and Innovation) โดยวิจัยปรับสูตรอาหาร

และ 5.การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามและประเมินผล เน้นตลอดกระบวนการผลิตและผลลัพธ์ (S: Surveillance, monitoring and evaluation) โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน ThAI Salt Survey และสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยเครื่องวัดความเค็ม (Salt meter) ทุกจังหวัด รวมถึงกทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์ยบริโภคเกลือและโซเดียมรายภูมิภาคของประเทศไทย พบว่า 

  • ภาคเหนือ บริโภคเฉลี่ย 3,562.7 มิลลิกรัม
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริโภคเฉลี่ย 3,315.8 มิลลิกรัม
  • ภาคกลาง บริโภคเฉลี่ย 3,759.7 มิลลิกรัม 
  • กรุงเทพมหานคร บริโภคเฉลี่ย  3,495.9 มิลลิกรัม 
  • ภาคใต้ บริโภคเฉลี่ย 4,107.8 มิลลิกรัม