อธิปไตยด้าน AI : โอกาส ความท้าทาย ของไทยในการพึ่งพาตนเอง

อธิปไตยด้าน AI : โอกาส ความท้าทาย ของไทยในการพึ่งพาตนเอง

สัปดาห์ที่แล้ว “เจนเซน หวง” ผู้ก่อตั้งบริษัท NVIDIA ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต GPU สำหรับประมวลผลเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) มาบรรยายในงาน “AI Vision for Thailand: The First Step for Thailand Sovereign AI” นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ Sovereign AI หรืออธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์

สัปดาห์ที่แล้ว “เจนเซน หวง” ผู้ก่อตั้งบริษัท NVIDIA ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต GPU สำหรับประมวลผลเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) มาบรรยายในงาน “AI Vision for Thailand: The First Step for Thailand Sovereign AI” จัดโดยบริษัท สยาม เอไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ Sovereign AI หรืออธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพัฒนาเอไอระดับประเทศทั่วโลก

เจนเซน หวง เน้นย้ำว่า ข้อมูลคือทรัพยากรสำคัญของชาติที่ควรได้รับการจัดการโดยคนไทย เพื่อสร้างคุณค่าและความมั่นคงให้กับประเทศ การพัฒนาเอไอที่อาศัยข้อมูลของคนไทยจะช่วยให้เทคโนโลยีเข้าใจบริบทวัฒนธรรมและพฤติกรรมของประชาชนได้ดีกว่า ลดช่องว่างทางเทคโนโลยี และช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงเอไอได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทยสื่อสารกับเอไอโดยไม่ต้องพึ่งพาการเขียนโปรแกรม

อธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์ คือ แนวคิดที่มุ่งให้ประเทศสามารถพัฒนาเอไอได้ด้วยตนเองในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การจัดการข้อมูลไปจนถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโมเดลเอไอที่ตอบสนองบริบทของประเทศ แนวคิดนี้ไม่เพียงเพิ่มความมั่นคงทางเทคโนโลยี แต่ยังสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลและเอไอเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

การจะพัฒนาเอไอให้ก้าวหน้าต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ปัจจัยแรกคือ ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใช้สอนเอไอ ปัจจัยที่สองคือ อัลกอริทึมหรือโมเดลเอไอที่ซับซ้อนซึ่งต้องการนักวิจัยที่มีความสามารถ และปัจจัยสุดท้ายคือโครงสร้างพื้นฐานการมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีชิปประมวลผลหรือ GPU จำนวนมหาศาล

โดยปัจจุบันโมเดลเอไอขนาดใหญ่เกือบ 90% ถูกสอนด้วย GPU ของ NVIDIA ซึ่งการสอนโมเดลแต่ละครั้งมีมูลค่านับพันล้านบาท

ดังนั้นจะเห็นว่าการพัฒนาอธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์ของแต่ละประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะไม่เพียงแต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มี GPU ในการประมวลผลจำนวนมากเป็นของตัวเองแล้ว ยังต้องมีข้อมูลจำนวนมหาศาลของตัวเองที่อยู่ในประเทศ และที่สำคัญยิ่งคือ ต้องมีโมเดลเอไอเป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความท้าทายสำคัญของประเทศไทยคือ การขาดแคลนบุคลากรด้าน Deep Tech โดยเฉพาะนักวิจัยและนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโมเดลเอไอ ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

สภาพการณ์นี้ส่งผลให้โอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาโมเดลเอไอขนาดใหญ่เป็นของตัวเองมีค่อนข้างจำกัด การพึ่งพาโมเดลเอไอจากต่างประเทศจึงยังคงเป็นความจำเป็นในระยะสั้นถึงระยะกลาง

นอกจากนี้ ไทยยังต้องเผชิญความท้าทายด้านการพึ่งพาฮาร์ดแวร์จากต่างชาติ ทั้งชิปประมวลผลและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีต้นทุนสูงและต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว การพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติในลักษณะนี้ทำให้ไทยสูญเสียความเป็นอิสระในการพัฒนานวัตกรรม และยังต้องรับภาระต้นทุนสูงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ เรายังมีปัญหาการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะในด้านต่างๆ ที่เรามีข้อมูลขนาดใหญ่ไม่มากนัก และยังมีปริมาณข้อมูลสาธารณะหรือ Open Data ที่เปิดเผยให้ประชาชนนำไปใช้งานได้น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมเอไอ แต่การจัดการและรวบรวมข้อมูลหากมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ก็อาจจะเป็นเรื่องง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับอีกสองปัจจัยข้างต้น เพราะเราสามารถดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติมากนัก

เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดต่างๆ โอกาสที่แท้จริงของประเทศไทยในการสร้างอธิปไตยด้านเอไอ น่าจะอยู่ที่การมุ่งเน้นการพัฒนา 2 ด้านหลัก ได้แก่ การเร่งสร้างและจัดการฐานข้อมูลของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยด้านเอไออย่างต่อเนื่อง มากกว่าการพยายามสร้างอธิปไตยผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งอาจไม่ใช่การสร้างอธิปไตยที่แท้จริงในระยะยาว

ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนากรอบกำกับดูแลเพื่อให้การใช้งานเอไอ โปร่งใสและปลอดภัย การมีธรรมาภิบาลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance) จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีนี้ในวงกว้าง ขณะเดียวกันควรมุ่งเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์และโมเดลเอไอที่ตอบโจทย์บริบทในประเทศ เช่น โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่เข้าใจภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง หรือโมเดลเฉพาะทางที่เราพอจะมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

การสร้างอธิปไตยด้านเอไอของไทยควรเน้นการพัฒนาจุดแข็งที่เป็นไปได้ คือการจัดการข้อมูลและการพัฒนาบุคลากร แทนที่จะมุ่งแข่งขันในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องพึ่งพาต่างชาติ การลงทุนในการพัฒนาคนและระบบนิเวศด้านข้อมูลจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถพัฒนาความสามารถด้าน AI อย่างยั่งยืนในระยะยาว แม้อาจไม่ใช่อธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลและเหมาะสมกับบริบทและข้อจำกัดของประเทศ