เปิดอาณาจักรหุ่นยนต์ของ ‘Unitree’ ผู้ที่เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนโลก
Unitree Robotics สตาร์ตอัปพัฒนาหุ่นยนต์จากประเทศจีน กำลังปฏิวัติวงการหุ่นยนต์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ภายใต้การนำของ “Wang Xingxing” วิศวกรหนุ่มผู้มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกด้วยปัญญาประดิษฐ์
จาก Elder Care Assistive Robots Market Growth & Trends รายงานว่า “ภายในปี 2573 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านหยวน หรือกว่า 10 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์ว่า จีนจะครองส่วนแบ่งการตลาด 20% ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของโลก”
สอดคล้องกับแนวคิดของ ยูนิทรี (Unitree Robotics) สตาร์ตอัปพัฒนาหุ่นยนต์จากประเทศจีน ภายใต้การนำของ “Wang Xingxing” วิศวกรหนุ่มผู้มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกด้วยหุ่นยนต์ เขามีความเชื่อว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย และมันจะช่วยงานมนุษย์อย่างไร้ขีดจำกัด”
เส้นทางของยูนิทรีเริ่มต้นจากงานวิจัยของ Xingxing เมื่อครั้งเขากำลังศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ในช่วงนั้นเขาสังเกตเห็นข้อจำกัดของหุ่นยนต์ที่มีอยู่เดิม ซึ่งมักใช้ระบบไฮดรอลิกที่มีขนาดใหญ่และราคาแพง จึงเกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้นแนวทางใหม่ โดยมุ่งเน้นการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวให้กับหุ่นยนต์
ในปี 2559 หุ่นยนต์ เอ็กซ์ด็อก (XDog) ตัวแรกของเขาได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จนกระตุ้นให้เขาตัดสินใจลาออกจากบริษัทโดรนดีเจไอ และก่อตั้งยูนิทรีในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน แม้ว่าจะประสบปัญหาการเงินในช่วงเริ่มแรก แต่ด้วยความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม Unitree Robotics มี อัศวรรณ์ เรืองชู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสทรอนิกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำด้านอากาศยานไร้คนขับในประเทศไทย (โดรน) เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
H1
“เอชวัน (H1)” กลายเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกภายใต้บริษัทยูนิทรี ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันให้เป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ตัวแรกของโลกที่สามารถตีลังกากลับหลังโดยไม่ใช้ระบบไฮดรอลิก
จุดเด่นของเอชวันคือ การใช้เทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้าแบบข้อต่อ M107 ที่สร้างแรงบิดสูงถึง 360 นิวตันเมตร หุ่นยนต์รุ่นนี้มีขนาดที่น่าประทับใจ ด้วยความสูง 1.8 เมตร น้ำหนัก 47 กิโลกรัม และมีความสามารถพิเศษในการยกของหนักได้ 30 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นที่ความเร็วในการเคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.3 เมตรต่อวินาที และมีแผนพัฒนาให้เพิ่มความเร็วสูงสุดถึง 5 เมตรต่อวินาที
บริษัทยังได้พัฒนาระบบการจำลองการเคลื่อนไหวที่ล้ำสมัย เพื่อให้สามารถจำลองการเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริง และสามารถปรับแต่งรูปแบบโครงสร้างก่อนนำไปใช้พัฒนาหุ่นยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ
G1
ต่อมา ยูนิทรีได้เปิดเผยถึงการพัฒนา “จีวัน (G1)” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์รุ่นที่สอง โดยมีคุณสมบัติมีความสูง 1.27 เมตร น้ำหนัก 47 กิโลกรัม และสามารถเคลื่อนไหวด้วยข้อต่อ 23-43 จุด ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่นสูง
ระบบปัญญาประดิษฐ์ของจีวันถือว่าล้ำหน้ากว่ารุ่นก่อนมาก เนื่องจากสามารถเรียนรู้และจดจำการเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง แม้ในสถานการณ์ที่ถูกผลัก กระแทก หุ่นยนต์ยังคงสามารถทรงตัวและกลับมายืนได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ก็ยังมีเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวางรอบทิศทาง และยังสามารถสื่อสารผ่านระบบ Wi-Fi และบลูทูธ รองรับการทำงานแบบไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างระบบอัตโนมัติและการควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จากระยะไกลโดยมนุษย์
อย่างไรก็ตาม จีวันได้ถูกเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านงาน Secutech Thailand เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
Go1
Xingxing ไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เท่านั้น แต่เขายังมองการณ์ไกลไปถึงหุ่นยนต์ในรูปแบบอื่นๆ โดยได้ออกแบบ “จีโอวัน (Go1)” เป็นหุ่นยนต์สุนัขที่มีราคาเริ่มต้นเพียง 2,700 ดอลลาร์ ราว 91,984 บาทไทย หุ่นยนต์สุนัขรุ่นนี้มีความพิเศษตรงที่สามารถวิ่งตามเจ้าของได้ด้วยความเร็วสูงสุด 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
บริษัทได้พัฒนาหุ่นยนต์สี่ขาทั้งหมด 5 รุ่น ประกอบด้วย Go1, Laikago, AlienGo, A1 และ BenBen ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการระดมทุนรอบ Series A โดยได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนชั้นนำ อาทิ Sequoia Capital China, Shunwei Capital และ Decent Capital
ปัจจุบัน ยูนิทรีเป็นบริษัทที่มีพนักงานกว่า 100 คน และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการระดมทุนรอบ Series B ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2567 พร้อมกับเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นถึง 10 เท่า โดยรายได้หลักของบริษัทมาจากการขายหุ่นยนต์ และมีรายได้เสริมเล็กน้อยจากการแสดงในงานเอกชนต่างๆ
ซีอีโอยูนิทรียังคงเชื่อว่าในอีกสองปีข้างหน้า หุ่นยนต์จะกลายเป็นสิ่งปกติเช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน บริษัทวางเป้าหมายในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยเหลือในภารกิจต่างๆ เช่น สนับสนุนนักดับเพลิง สำรวจสภาพแวดล้อม และช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา
อ้างอิง: KrASIA