ดีมานด์“หุ่นยนต์อุตสาหกรรม”ไทย โต5-10%รับโมเมนตัมคลื่นการลงทุนโลก

ดีมานด์“หุ่นยนต์อุตสาหกรรม”ไทย    โต5-10%รับโมเมนตัมคลื่นการลงทุนโลก

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ระบุว่า หุ่นยนต์ (Robot) หมายถึง เครื่องจักรกลอัตโนมัติทุกชนิดที่ออกแบบให้สามารถทำงานแทนมนุษย์ในงานบางประเภท โดยทำงานด้วยคำสั่งเดิมซ้ำๆ ในรูปแบบที่มีความซับซ้อนและยืดหยุ่นได้ดี

สามารถถูกปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้ทำงานได้หลากหลายกว่า และอาจถูกติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทำให้สามารถตัดสินใจเองได้ 

ระบบอัตโนมัติ (Automation System) หมายถึง ระบบหรือกลไกที่สามารถเริ่มทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยทำงานตามโปรแกรมที่วางไว้

ประเภทของหุ่นยนต์ตามเทคโนโลยีหลักในตัวหุ่นยนต์ จำแนกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้ในระบบผลิต ซึ่งสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติตามโปรแกรมที่ถูกเขียนไว้ เช่น แขนกลในดรงงานผลิตสินค้า และหุ่นยนต์บริการ (Service Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้ในงานอื่นๆ ในโรงงานหรือคลังสินค้านอกเหนือจากงานผลิตแบบอัตโนมัติ หรือใช้ในงานที่ไม่ใช่งานในอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ทางการศึกษา หุ่นยนต์ที่ใช้ทางการแพทย์ หุ่นยนต์สำรวจอวกาศ โดยเคลื่อนไหวได้มากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และทำงานร่วมกับมนุษย์ได้มากกว่า

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ประเมินว่า ความต้องการและจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เป็นตัวแปรสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ด้วยความต้องการในการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยที่สำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วโลก

โดยประเทศไทยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาและศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรมากมาย เช่น สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) สมาคมหุ่นยนต์ไทย (TRS) และสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย ให้ก้าวหน้าและเติบโตไปในอนาคต

 ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ระดมความคิดเห็นในการจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมใช้งานในประเทศสูงสุดในอาเซียน อยู่ที่ 39,406 ตัว และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสูงสุดในอาเซียน

ด้านแนวโน้มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศไทยปี 2024 คาดว่าความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศไทยจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 5 -10 %ต่อปี จากการที่หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติถูกนำมาใช้ในการยกระดับศักยภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับแรงหนุนจากการลงทุนภาคเอกชนและการย้ายฐานการผลิตออกมาจากประเทศจีน

ที่ประชุมได้หารือประเด็นต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อาทิ การสนับสนุนให้มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การส่งเสริมการผลิตหุ่นยนต์ฯ จากมาตรการต่าง ๆของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กรมสรรพากร และกรมศุลกากร การพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัลในทุกระดับทั้งแรงงานและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม( SMEs) ในการลงทุนในระบบอัตโนมัติ

“สศอ. จะรวบรวมความเห็นจากการประชุมครั้งนี้ เพื่อกำหนดเป็นกรอบแนวทางในงานสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ภายใต้งาน Thailand Industrial Conference 2024: Find Industry Vision 2025ต่อไป”