ไฟเขียว แผนขับเคลื่อนอุตฯสมุนไพร SMEs ชู 'ขมิ้นชัน' Herb of the Year ปี 68-70
คกก.นโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ไฟเขียวแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรของ SMEs ชู “ขมิ้นชัน” "Herb of the Year" ปี 68-70 เป็นสมุนไพรเด่น เน้นการเพิ่มมูลค่าด้านยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม ส่งเสริมการส่งออก คาดมูลค่าตลาดทั่วโลกปี 77 กว่า 2.8 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 ว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและบริการทางการแพทย์ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยสู่ระดับสากล ซึ่งวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานบูรณาการนำสมุนไพรสู่การสร้างเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือของ 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
มีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่าในทุกมิติ ตั้งแต่การปลูกและจัดการสมุนไพร การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการส่งเสริมการตลาดและการสร้างแบรนด์สมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดสากล
การดำเนินงานที่ผ่านมาแม้จะมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดการขับเคลื่อนและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ แผนงานบูรณาการนี้จึงได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันขับเคลื่อนให้สมุนไพรเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อันจะนำมาสู่ความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยต่อไป
คณะกรรมการฯได้เห็นชอบต่อแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรของ SMEs ไทย ในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1.การอบรมให้ความรู้ด้านมาตรฐาน ครอบคลุมการจัดวางระบบการผลิต การจัดการด้านสุขอนามัย และการขอรับรองมาตรฐาน เช่น GMP (Good Manufacturing Practice) และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point)
2.การให้คำปรึกษาเชิงลึกในการปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ และจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง
3.การส่งเสริมการตลาด สนับสนุนผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายผ่าน E-Commerce
และ 4.การเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสมุนไพร
“ส่วนแผนการขับเคลื่อนสมุนไพร Herb of the Year ปี 2568-2570 ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนสมุนไพรเป้าหมาย คือ ขมิ้นชัน ให้เป็นสมุนไพรเด่น โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม และส่งเสริมการส่งออก เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน”นายประเสริฐกล่าว
ด้าน นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขมิ้นชันได้รับเลือกเป็นสมุนไพรเด่น เนื่องจากมีศักยภาพสูงในตลาดโลก โดยรายงานจาก Transparency Market Research คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดขมิ้นชันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7,830.82 ล้านบาท ในปี 2567 เป็น 28,846.89 ล้านบาท ในปี 2577 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 13.9 %
ขณะที่ประเทศไทย มูลค่าตลาดขมิ้นชัน ปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 262.24 ล้านบาท คิดเป็น 3.3 % ของมูลค่าตลาดโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 770.14 ล้านบาท ในปี 2577 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แนวทางขับเคลื่อนสมุนไพรขมิ้นชัน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาสายพันธุ์และการผลิตปลอดภัย โดยพัฒนาสายพันธุ์ขมิ้นชันเฉพาะของไทย และส่งเสริมการปลูกแบบปลอดภัย
2.การใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย โดยส่งเสริมการใช้ขมิ้นชันในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยา อาหาร และอาหารเสริม และผลักดันการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เพื่อขยายตลาด
3. การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยวางทิศทางและเป้าหมายงานวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างเครือข่ายนักวิจัย
และ 4. การสร้างภาพลักษณ์ทางบวก สื่อสารประโยชน์และสรรพคุณของขมิ้นชันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและตลาด โดยภายในปีแรกของแผนงาน จะเร่งผลักดันการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชัน พร้อมพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพรท้องถิ่น และสนับสนุนการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร