ปตท.สผ.ดึง ‘โททาล’ ลงทุนก๊าซเมียนมา
"ปตท.สผ." ดึง "โททาล" ร่วมถือหุ้นในแหล่งก๊าซฯเมียนมา หวังสร้างความเชี่ยวชาญในการขุดเจาะแหล่งน้ำลึกและกระจายความเสี่ยง
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้เจรจากับบริษัท โททาล ผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่จากประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ร่วมถือหุ้นในแหล่งสำรวจนำ้ลึก MD7 ในประเทศเมียนมา โดยจะเปิดทางให้โททาลเข้าเป็นผู้ดำเนินการ ( Operator ) ระยะหนึ่ง ก่อนส่งมอบให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ
โมเดลนี้เหมือนการพัฒนาแหล่งบงกชในอ่าวไทยเมื่อปี 2533 โดยขณะนั้น ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% ยังไม่เชี่ยวชาญในการผลิตปิโตรเลียม จึงให้โททาลผู้ถือหุ้นใหญ่อันดัน 2 เป็นผู้ดำเนินการในระยะแรกเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และเมื่อโครงการผลิตไปได้ 5 ปี โททาลก็ส่งมอบให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ
“การลงทุนโครงการน้ำลึก ถ้ามีผู้ดำเนินการที่เก่งๆ ก็จะเป็นเรื่องดี ซึ่งโททาลก็มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มานานและเป็นบริษัทที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดี เราจึงพิจารณาว่า ถ้าถึงขั้นการพัฒนาก็อาจจะให้โททาลก่อนแล้วค่อยส่งมอบให้เราเป็นผู้ดำเนินการต่อ ซึ่งตอนนี้แหล่ง MD7 เราถือหุ้น 100% ถ้าโททาลเข้ามาถือหุ้นด้วยก็คงมีสัดส่วนมากพอสมควร” นายสมพรกล่าว
บริษัทฯ มองว่าการมีผู้ร่วมทุนจะช่วยลดความเสี่ยงและทำให้การลงทุนสำรวจรวดเร็วขึ้น ปตท.สผ. จึงได้หารือกับพันธมิตรหลายรายรวมถึงโททาล และเมื่อสำรวจจนรู้ปริมาณสำรองหรือเริ่มผลิต ก็คาดว่าจะมีพันธมิตรจากเมียนมาเข้ามาถือหุ้นในโครงการด้วย
สำหรับแหล่ง MD7 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการสำรวจและกำลังรอการอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า MD7 มีปริมาณปิโตรเลียมคุ้มค่าต่อการสำรวจและปิโตรเลียมส่วนใหญ่น่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ในระดับความลึกมากกว่า 80 เมตร
เลื่อนลงทุนโมซัมบิกปลายปีหน้า
นายสมพร กล่าวถึงโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ในประเทศโมซัมบิก ที่ ปตท.สผ. ถือหุ้นอยู่ 8.5% ว่า โครงการได้เลื่อนการตัดสินลงทุนขั้นสุดท้าย (FDI) จากปีนี้เป็นปลายปี 2560 เนื่องจากมีรายละเอียดหลายอย่างที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เช่น การเจรจากับธนาคารเพื่อหาแหล่งเงินทุน การเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตกต่ำ รวมถึงการหาข้อตกลงกับรัฐบาลโมซัมบิกเรื่องสัญญาต่างๆ เพราะโครงการนี้มีขนาดใหญ่และมีข้อตกลงจำนวนมากที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลโมซัมบิกให้การสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่
“แม้เลื่อนการตัดสินใจออกไป แต่เรายังคงเป้าจะเริ่มผลิตก๊าซฯ ได้ในปี 2564-2565 เพราะมันมีกิจกรรมบางอย่างที่เราสามารถลงทุนก่อนเพื่อเตรียมการไว้และทำให้เกิดผลกระทบต่อกรอบเวลาน้อยที่สุด” นายสมพรกล่าว
หาแหล่งลงทุนต่างประเทศเพิ่ม
สำหรับงบประมาณลงทุนระยะ 5 ปี (2560-2564) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและจะมีข้อสรุปภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ โดยเบื้องต้นต้องใช้ประมาณมากกว่า 1,700 พันล้านดอลลาร์ เพื่อรักษากำลังการผลิตในปี 2560 ให้อยู่ที่ 3.23 แสนบาร์เรลต่อวันเท่ากับปีนี้ ขณะเดียวกัน ปตท.สผ. มีกระแสเงินสดในมือกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญสำหรับการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A)
ปตท.สผ. ยังหาโอกาสลงทุนในแหล่งต่างๆ ที่มีต้นทุนต่ำ เช่น โครงการแหล่งน้ำมันอุบลในอ่าวไทย ที่มีบริษัท เชฟรอนฯ เป็นผู้ดำเนินการและ ปตท.สผ. ร่วมถือหุ้น โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างหาแนวทางลดต้นทุน ถ้าคุ้มค่าก็จะตัดสินใจพัฒนาโครงการต่อไป แต่ปัจจัยสำคัญก็คงขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย
นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสลงทุนในตะวันออกกลางรวมถึงภูมิภาคอาเซียน อย่างประเทศเมเลซียที่ ปตท.สผ. เข้าไปแล้วและกำลังมองโอกาสลงทุนในโครงการสำรวจเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศอินโดนีเซีย กำลังหาโอกาสซื้อโครงการที่ผลิตแล้ว และโอกาสเข้าประมูลแหล่งปิโตรเลียม
เดินหน้าลดต้นทุนต่อเนื่อง
นายสมพร กล่าวว่าปตท.สผ. ยังคงนโยบายจะลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่แน่นอนในปีหน้า
สำหรับปีนี้ตั้งเป้าลดต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการและต้นทุนการพัฒนา (Unit cost) จากปีก่อนลง 10% เหลือ 33-34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยครึ่งแรกของปีนี้ประสบความสำเร็จลดลงเหลือ 29-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ต้องจับตาช่วงครึ่งปีหลังเพราะมีกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงคาดว่า Unit cost เฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 31-32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำหรับรายได้ในปี 2560 คาดว่าจะคงที่เมื่อเทียบกับปีนี้เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำและเป้าหมายกำลังการผลิตของ ปตท.สผ. คงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อย่างไรก็ตามต้องรอให้การตั้งงบประมาณแล้วเสร็จก่อนจึงระบุเป้าหมายกำลังการผลิตในปีหน้าได้
หวั่นเปิดประมูลก๊าซอ่าวไทยช้ากระทบผลิต
นายสมพร ยังกล่าวถึงการประมูลแหล่งก๊าซฯ บงกชและเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 ว่า ปตท.สผ. พร้อมเข้าประมูลด้วยกฎเกณฑ์ใดๆ ที่ภาครัฐกำหนด แต่การประมูลควรแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ปีหน้า เพราะยิ่งล่าช้าจะยิ่งกระทบกับการวางแผนการผลิต
“ในปีหน้า เราคงผลักดันให้กำลังการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยอยู่ในระดับประมาณนี้ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีแผนจะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุให้แล้วเสร็จประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 เราคิดว่าถ้าอยู่ภายใต้แผนดังกล่าว บริษัทฯ จะสามารถวางแผนให้การผลิตก๊าซฯ ต่อเนื่องได้” นายสมพรกล่าว
รายงานข่าวจาก ปตท.สผ. ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงและความไม่แน่นอนเรื่องการประมูลแหล่งก๊าซฯ ที่กำลังจะหมดสัมปทาน ทำให้กิจกรรมของ ปตท.สผ. และเชฟรอนลดลงในอ่าวไทยลดลง
ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียมสงขลาของ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นฐานสนับสนุนฯ หลักของอ่าวไทยจึงต้องหาแนวทางเพื่อรักษารายได้ให้คงที่ โดยปีนี้ได้ดึงลูกค้าใหม่มาใช้บริการหลายราย เช่น บริษัท ซีอีซี, บริษัท มูบาดาล่า, บริษัท คริส เอนเนอร์จี้ เป็นต้น ซึ่งจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ฐานสนับสนุนฯ สงขลามีรายได้ 700 ล้านบาทเท่ากับช่วงก่อน แต่ก็คาดว่าปีหน้ารายได้จะลดลง 10% เพราะกิจกรรมในอ่าวไทยจะลดลงอีก