ประสานแรงงานเออีซี ด้วย “องค์กรแห่งความสุข”
ประเทศไทยมีแรงงานเออีซีหลายล้านราย ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ หากเราสามารถทำให้เขามีความสุข ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจได้มากขึ้น
ตัวเลขจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่มาจาก ประเทศเมียนมาร์, สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ถูกกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 2,388,782 คน โดยเป็นชาว เมียนมาร์ 1,499,679 คน สปป.ลาว 204,335 คน และกัมพูชา 684,768 คน กระจายตัวทำงานอยู่ในกิจการต่างๆ เช่น ก่อสร้าง การให้บริการต่างๆ เช่น การซักอบรีด โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค
ไล่เรียงดูตามจังหวัด พบว่า ทำงานอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการมากที่สุดถึง จำนวน 112,895 คน รองลงมาคือ สมุทรสาคร 145,004 คน ปทุมธานี 134,593 คน กรุงเทพมหานคร 109,701 คน และเชียงใหม่อีก 81,625 คน ซึ่งในส่วนของตัวเลขเหล่านี้ ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ มีความสำคัญต่อภาคการผลิตในระบบเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าต่อจากนี้ เออีซีจะมีบทบาทด้านความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มากแค่ไหน และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันก็คือ การปฏิบัติต่อเขาเหล่านี้ ในฐานะเจ้าบ้านที่ดี เป็นหน้าที่สำคัญ เพราะหากพวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ผลบวกย่อมเกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่หากความเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ด้านลบที่จะเกิดขึ้นซึ่งยากจะคาดเดา ก็อาจจะหมายถึงปัญหาที่ตามมาอีกมาก
แต่การจะทำให้องค์กรที่มีคนหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน แตกต่างกันทั้ง เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความคิด และความเชื่อ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ปราศจากความขัดแย้งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
หนึ่งในหน่วยงานที่ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการเรื่องนี้ คือ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนแนวคิด “องค์กรสุขภาวะ” (Happy Workplace) เพื่อรองรับความหลากหลายในองค์กร
และได้ริเริ่ม ผ่านต้นแบบการจัดการของ 6 องค์กร ประกอบด้วย บริษัท คาสเซ่อ พีคโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด, บริษัท วู้ดเวอร์ค ยูไนเต็ด จำกัด, สลันดา ออแกนิค ฟาร์ม, บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อาร์แอนด์ดี ฟู๊ดส์ โปรดักส์ จำกัด
“นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. พูดถึงเป้าหมายขององค์กรสุขภาวะที่เข้ามาทำในเรื่องนี้ว่า ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.พัฒนาพนักงานให้เป็นคนทำงานที่มีความสุข (Happy People) โดยการใช้แนวคิดความสุข 8 ประการ เช่น เป็นผู้มีสุขภาพดี มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น รักการเรียนรู้และเป็นมืออาชีพในงานของตัวเอง ใช้เงินเป็น รักและดูแลครอบครัวของตนเองได้ ฯลฯ และ 2.พัฒนาองค์กรให้เป็นที่ทำงานน่าอยู่ (Happy Home) โดยมีคีย์เวิร์ด คือ ทำงานเป็นทีม สุขในการทำงานร่วมกัน และมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนางานไปด้วยกัน
แม้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก และดูท้าทายอยู่มากสำหรับการดำเนินการขององค์กรแห่งความหลากหลาย แต่ก็มีตัวอย่าง ที่หลายองค์กรซึ่งเข้าร่วมโครงการนี้ ได้นำมาปฏิบัติและประสบผลสำเร็จมาแล้ว
ดูตัวอย่าง บริษัท คาสเซ่อ พีคโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งมีพนักงาน เป็นคนไทย 556 คน เมียนมาร์ 464 คน กัมพูชา 9 คน และลาว 3 คน นับเป็นอีกองค์กรที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน
วิธีการพัฒนาองค์กรแห่งความหลากหลายให้เป็นองค์กรแห่งความสุขที่พวกเขาใช้ เริ่มจากการทลายกำแพงด้านการสื่อสาร โดยใช้วิธีจัดหาล่ามมาสร้างความเข้าใจระหว่างกัน จากนั้นก็คัดเลือกพนักงานต่างชาติที่สามารถพูดไทยได้ให้มาช่วยสื่อสารเนื้อหาจากฝ่ายบุคคลอีกทอดหนึ่ง
โดยตระหนักถึง “หัวใจสำคัญ” คือ ยอมรับการมีอยู่ของพนักงานต่างชาติ ยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่สร้างความแตกต่างระหว่างพนักงานแต่ละชาติ โดยการยอมรับตัวตนของพนักงาน ต้องใช้ ความจริงใจ บริษัทต้องสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่โกหก และไม่แสวงหาผลประโยชน์อย่างเอาเปรียบพนักงาน
“สขวัฏ กำแพงสิน” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ของ คาสเซ่อ พีคโฮลดิ้งส์ บอกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสานความสัมพันธ์กับหลากหลายของพนักงานว่า ต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดี เพราะหากพนักงานรู้ว่า บริษัทไม่มีความจริงใจ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น คือ ขอความร่วมมือต่างๆ จะทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้การดำเนินนโยบายของบริษัทยังต้องคำนึงถึง “ความเสมอภาคเท่าเทียม” โดยต้องระวังไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น และต้องดูแลพนักงานในปัจจัยที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม ทั้ง สวัสดิการ และการรักษาพยาบาล ที่ต้องทั่วถึง ด้วย
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังการปรับองค์กรแห่งความหลากหลาย ให้กลายเป็นองค์กรแห่งความสุข พวกเขาพบว่า บรรยากาศการทำงานในองค์กร ไม่พบปัญหาเรื่องการแบ่งพรรคแบ่งพวกของพนักงานต่างชาติอีกต่อไป ต่างคนต่างก็สมัครใจที่จะทำงาน “เป็นทีม” และทำงานอย่าง “เป็นสุข” ทั้งยังมีอัตราการลาออกของพนักงานลดลงอีกด้วย
ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลลัพธ์ที่องค์กรยุคนี้ต้องการทั้งสิ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับการทำธุรกิจที่ยากลำบากในวันนี้
ข้อหวั่นเกรงหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อย่างเป็นทางการในปี 2558 ที่ว่าจะส่งผลให้ แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะ เมียนมาร์, สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (UNSKILLED LABOUR) หลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทย และจะเข้ามาแย่งงานคนไทยทำ หลายคนห่วงไปถึงปัญหา อาชญากรรม การค้ามนุษย์ การแบ่งแยก กับอีกสารพัดปัญหา
แต่ประเด็นดังกล่าว เริ่มคลี่คลายลง เพราะเป้าหมายข้อตกลงของเออีซี คือการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในกลุ่มแรงงานฝีมือ (SKILLED LABOUR) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นหมายความว่า จุดโฟกัสปัญหาแรงงานต่างด้าวในปัจจุบันจึงยังอยู่ที่เป็นแรงงานระดับล่างหรือแรงงานไร้ฝีมือเป็นหลัก
แต่อย่างไรในทุกปัญหาที่หวั่นเกรง ไม่ว่าจะวันนี้หรือในอนาคต ก็สามารถบรรเทาเบาบางลงได้ ถ้าเราสามารถสร้าง “ต้นแบบองค์กรแห่งความสุข” เช่นเดียวกับ 6 องค์กร ผลผลิตจากโครงการนี้ แล้วส่งต่อความรู้ ความคิดดีๆ ไปยังองค์กรอื่นๆ ต่อไป
สิ่งเหล่านี้ ก็น่าจะคลายความหวาดหวั่นในปัญหาที่คาดกันว่า จะมาพร้อมการเข้าสู่เออีซีลงได้