จากนักเสพ สู่ นักปั้น คาแรคเตอร์ “การ์ตูนไทย”
จากการ์ตูนในตำนานโดราเอมอน ชวนเด็กไทยเสพติดเสียดุลการค้า กว่าปีละ 3 พันล้าน ได้เวลานักเสพแผลงฤทธิ์ คิดสร้างสรรค์ แซะตลาดแดนปลาดิบ
การ์ตูนในตำนานรุ่นเดอะ โดราเอมอน ที่ทำเงินมายาวนานกว่า 40-50 ปี ยังตามมาด้วยขบวนพาเหรดจากมหาอำนาจการ์ตูนจากแดนปลาดิบ อาทิ ชินจัง ซานริโอ คิตตี้ (Sanrio Kitty) กบน้อยสีเขียว เคโระ (Kerero), ริลัคคุมะ (Rilakkuma) ส่วนหนึ่งในอีกหลายร้อยคาแรคเตอร์การ์ตูนที่ถูกปั้นส่งมาขายในไทย ครองใจแฟนการ์ตูนไทยหลายเจเนอเรชั่นได้อย่างเหนียวแน่น
ไม่เพียงแค่ซีรีย์ผ่านตัวหนังสือ แต่ยังแพร่กระจายไปอยู่ในสินค้าที่ระลึก (Merchandising) ตัวการ์ตูนลายน่ารัก สีสันสดใส ในรูปของสะสมทั้ง โมเดล สแตมป์ กระเป๋า แก้ว นาฬิกา หมวก และตุ๊กตาน่ารักฯลฯ พาเหรดเข้ามาต่อยอดทำเงินนับพันล้าน
ใครจะเชื่อว่า การ์ตูนไปไกลถึงขั้นพัฒนาไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย อาทิ โรงแรมคิตตี้ คาเฟ่ต์ หรือ สวนน้ำ Amazon การ์ตูน เน็ตเวิร์ค สวนน้ำ โพโรโระ (Pororo)
เด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยทำงานจำนวนไม่น้อย ต่างเป็นสาวกที่ยอมควักเงินจ่ายให้เหล่าการ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา
ที่ผ่านมาคนไทยยังตกอยู่ในสถานะผู้บริโภคการ์ตูน ไม่ว่าจากมหาอำนาจทางการ์ตูนอย่างญี่ปุ่น รวมถึงการ์ตูนในเทพนิยายจากรูปแบบอนิเมชั่น จากฮอลิวูด
มนต์ชัย ศรีเจริญศักดิ์ ผู้จัดการโครงการ “คาแรคเตอร์ ดีไซน์ เวิร์คชอป” (Character Design Workshop) และผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมการตลาด2 สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เล่าถึงมูลค่าตลาดคาแรคเตอร์การ์ตูน ว่าปีๆหนึ่งไทยต้องเสียค่าลิขสิทธิ์นำเข้าการ์ตูนเหล่านี้ เป็นเงินกว่าปีละกว่า 3,000 ล้านบาท
มูลค่าการค้าที่เกิดขึ้น บวกกับการต่อยอดการ์ตูนไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะ “ภาคบริการ” รวมถึงการพัฒนาดิจิทัล คอนเทนท์ ประเมินว่า มีมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านต่อปี จึงถือเป็นตลาดที่ไทยทิ้งไม่ได้ !
จึงเป็นเหตุผลให้ไทยวางโรดแมฟสร้างตัวคาแรคเตอร์การ์ตูน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ เคลื่อนประเทศสู่ “ไทยแลนด์4.0” หนึ่งในการสร้างดิจิทัลคอนเทนท์ลุยตลาดโลก
เมื่อสร้างสรรค์คาแรคเตอร์การ์ตูนได้โดนใจผู้คน ก็จะถูกนำมาใช้ในหลากหลายธุรกิจ !
อะไรก็เกิดขึ้น หากคาแรคเตอร์การ์ตูนบุคลิกถูกใจคน น่าคบหา พัฒนาไปเชื่อมโยงกับ “สินค้าประจำจังหวัด” เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ไม่มีแบรนด์
เช่น หมีสีดำ ตาโต คุมามง หมีน้อยประจำจังหวัดคุมาโมโตะ จังหวัดที่ไม่คุ้นหูนัก แต่ดังเป็นพลุแตกเมื่อถูกนำไปเชื่อมโยงกับคาแรคเตอร์การ์ตูน ทำให้คนอยากไปเที่ยวเมืองนี้ เพราะอิทธิพลความน่ารักของหมีที่หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดพัฒนาขึ้น
จึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริง หาก“สินค้าโอทอป”ของไทยจะมีคาแรคเตอร์การ์ตูนน่ารัก มีเรื่องราว ชวนติดตามประจำแต่ละจังหวัดของไทย
สิ่งสำคัญ ยังเป็นการเปิดมุมมอง ประสบการณ์ของผู้ประกอบการไทย สร้างวิธีคิดวัฒนธรรมที่เป็นสากล เชื่อมโยงท้องถิ่น สู่ โลก
ไม่ใช่นึกถึงความเป็นไทย มีแค่ลายกนก หนุมาน แต่ยังมีอีกหลากหลายสิ่งให้นึกถึง !
“เด็กไทยที่ชอบวาด แต่หาที่ปล่อยของไม่ได้ หนักกว่านั้นไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำเป็นธุรกิจได้ ช่องทางพัฒนาต่อยอดธุรกิจไม่มีวันตาย เมื่อตัวการ์ตูนเกิดแล้วก็เป็นอมตะ พัฒนาต่อยอดได้ระยะยาว เห็นชัดๆ เฮลโหล คิตตี้ โดราเอมอน ไม่เคยหายไปจากใจเด็กทุกยุค”
SIPA จึงวางกลยุทธ์สร้างสภาพแวดล้อม ให้ผู้ประกอบการไทย เด็กไทยเป็นนักคิด และนักสร้างสรรค์ นักเล่าเรื่องราว ผ่านการ์ตูนที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัว ในวัฒนธรรรมร่วมสมัย โดยทำโครงการนำร่อง “คาแรคเตอร์ ดีไซน์ เวิร์คชอป” จัดเวทีคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าแข่งขัน 20 ราย เข้าเวิร์คช็อปวิธีการพัฒนาคาแรคเตอร์การ์ตูนประจำจังหวัด
ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย 5 ราย พัฒนาการ์ตูนประจำจังหวัดได้โดนใจกรรมการ จะได้รับโอกาสไปฝึกงานในสตูดิโอเกล (Gale) ผู้สร้างตัวการ์ตูน โพโรโระในเกาหลี เป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจะนำผลงานของ 20 รายที่ผ่านเข้ารอบไปจัดแสดงในงาน “ไทยแลนด์ คอมมิค” ในเดือนมี.ค.นี้
วันเฉลิม ชูตระกูล ผู้อำนวยการ บริษัทกันตนา แอนนิเมชั่น ผู้พัฒนาการ์ตูนก้านกล้วย และเป็นหนึ่งในกรรมการผู้คัดเลือก เล่าถึงความ 5 ผลงานที่แสดงเรื่องราว 5 คาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนจาก 5 จังหวัด ทีได้รับคัดเลือกในรอบสุดท้าย
เริ่มต้นที่ผลงาน ที่ชื่อ “โบรากอน” จ.นครสวรรค์ ออกแบบโดย เอกราช วรสมุทรปราการ เป็นคนที่ถ่ายทอดความเป็นภาพเสมือนจริงได้ยอดเยี่ยม และโครงสีน้ำที่มีความสวยงาม มีเรื่องราวที่น่าสนใจ หลอมรวมของดีของนครสวรรค์มาไว้ในภาพเดียว ตั้งแต่ คนเชิดสิงโต และหัวสิงโต เชื่อมโยงกับบึงบอระเพ็ด และปากน้ำโพธิ์ได้อย่างลงตัว
คาแรคเตอร์ จ.เลย ชื่อว่า ภูหมอก ออกแบบโดย ศรณ์ ศรไพศาล มีการเล่นคำ “รักแล้วรักเลย” และมีความน่ารัก มุ้งมิ้ง ของภูเขาและหมอกมาอยู่ด้วยกัน
ขณะที่ จ.อุบลราชธานี ชื่อผลงานตัวการ์ตูน บัวแต้ม ออกแบบโดย นวรรณ ชุณหสิริ เป็นการสะท้อนสัญลักษณ์ ของผาแต้มบนหินทรายได้อย่างน่ารัก ในรูปดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ที่สำคัญยังมีลายผ้าขาวม้ามาพาดไว้บนตัวการ์ตูน
ชื่อไข่นุ้ย เป็นที่รู้กันว่าเป็น ลิง จากเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แต่สิ่งที่พิเศษคือคนออกแบบ คือ วริศรา รัตนโสภณ ได้สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างลงตัวก็คือการใช้สี ทะเล ไข่แดง หอย และมะพร้าว รวมอยู่ในตัวไข่นุ้ยได้อย่างน่ารัก มีเรื่องราวของไข่นุ้ยซึ่งเป็นลิงตัวขาว เพราะลงไปล้างตัวในทะเล
และสุดท้ายคือ ไดโนเสาร์จาก จ.ขอนแก่น ชื่อผลงาน ขอน ซึ่งเป็นผลงานของ พิมพ์อัปสร ไชยศิริ คิดไดโนเสาร์อารมณ์ดี ร่าเริง อยู่ในเมืองดอกคูณ เสียงแคน
เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ญี่ปุ่นพัฒนาการ์ตูนจนสร้างมูลค่า เพราะวางรากฐานไว้อย่างแข็งแกร่งจนทำให้การ์ตูนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม จนนำไปสู่การต่อยอดมูลค่าผ่านสินค้า ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เช่น สติกเกอร์ไลน์ หรือการ์ตูนต่างๆ ล้วนแฝงด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่เป็นมิตรน่าคบ มีความเป็นสากล ทำให้คนเปิดใจรรับง่ายกว่าการบริโภคสื่อชนิดอื่น
“จุดเด่นของการใช้การ์ตูนในการสื่อสารเข้าถึงผู้บริโภค เพราะบุคลิกเป็นมิตร เข้าถึงคนง่าย เพราะร่วมสมัย ไม่มีวันตาย ที่ทำให้แทรกซึมเข้าถึงคนง่าย แต่บ้านเรายึดติดดารา พรีเซนเตอร์ที่ไม่ถาวร มีช่วงระยะเวลาหนึ่ง”
สำหรับ อุตสาหกรรมการ์ตูนบ้านเรายังไม่เติบโต เพราะผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งในเมืองไทยยังมีทัศคติเชิงลบ มองการ์ตูนเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่สร้างมูลค่า ทั้งที่การ์ตูนต่างประเทศล้วนสอดแทรกโลกของการทำความดีให้เด็กเป็นต้นแบบ และเป็นการทำรายได้และสร้างมูลค่าจากทรัพย์สินทางปัญญา
เป็นเรื่องดีที่หน่วยงานภาครัฐเริ่มเห็นมองการ์ตูนเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ซึ่งควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมทั้งครบวงจร ตั้งแต่ ภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน ที่กล้าพัฒนาธุรกิจ สร้างสรรค์ ฉีกจากตลาดเดิม เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักมองรูปแบบธุรกิจที่ตลาดยอมรับ และประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ไม่กล้าพัฒนาโมเดล คอนเทนต์แนวใหม่ คอนเทนท์จึงยังวนในรูปแบบเดิม เพราะตลาดผู้บริโภคยังไม่เปิดกว้าง จะเห็นได้จากภาพยนตร์อนิเมชั่น มูลค่าสูงสุดที่ทำเงินเป็นบ็อกซ์ออฟฟิสในเมืองไทยเพียง 40 ล้านบาทเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีเวทีให้ผู้ประกอบการ นักคิดคอนเทนท์ได้ศึกษาและพัฒนาตัวเองสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในโลกดิจิทัล คอนเทนท์ควรพัฒนาให้ตอบสนองแพลตฟอร์มในยุคดิจิทัลมากกว่าในรูปแบบเดิม เช่น ก้านกล้วย ภาพยนตร์ อนิเมชั่นสัญชาติไทย ที่เข้าถึงใจผู้บริโภคคนไทย แต่ยังไม่สามารถต่อยอดรายได้ได้ดีนัก
การวางกลยุทธ์ให้ก้านกล้วย คืนชีพกลับมาโลดแล่นในใจคนอีกรอบ จึงต้องใช้รูปแบบ “ป่าล้อมเมือง” พัฒนาคอนเทนท์ขยายในแพลตฟอร์มเล็กๆ เช่น ในมือถือ ทำอีบุ๊ค ไลน์ทีวี และโซเชียลมีเดีย เป็นต้น ก่อนจะได้รับความนิยมอีกครั้งแล้วนำกลับมาฉายใหม่ในรูปแบบภาพยนตร์อนิเมชั่น
“คนดูทีวีช่องที่เคยนิยมอย่าง3 5 7 9ก็ลดลง ผันเปลี่ยนให้เหมาะกับแพลตฟอร์มของคนในยุคนี้ เช่น พัฒนาเนื้อหาให้เป็นคอนเทนท์สำหรับมือถือ เรื่องสั้นๆ”
ไม่ใช่เพียงแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป รูปแบบการนำเสนอจะจงใจนำเสนอแบบบอกตรงๆจะไม่เกิดผล ทำให้คนดูเบื่อหน่าย เช่น การต้องการให้เด็กรักและภูมิใจในความเป็นไทย ก็ต้องมีวิธีพูดทางอ้อม
“จุดแข็งของคอนเทนท์จากไทยคือตัวตน ความเป็นไทย แต่ต้องเลือกวิธีการนำเสนอเด็กในปัจจุบันภูมิใจในความเป็นไทยน้อยกว่ายุคก่อน จึงไปบอกตรงๆ ในแบบเดิมไม่ได้ เพราะจะถูกต่อต้าน ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับรสนิยม รวมถึงการสื่อถึงความเป็นไทยไม่ใช่มีแค่เพียง ยักษ์ หรือต้มยำกุ้ง แต่ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบที่สะท้อนคนไทยในรูปแบบร่วมสมัย”
----------------------------------
คาแรคเตอร์ พันธุ์ไทยเฉิดฉายโลก
หลังจากจัดเวทีส่งเสริมให้คนไทยหันไปพัฒนาคาแรคเตอร์การ์ตูนที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการไทยหลายรายก้าวไกล ต่อยอดจากเริ่มต้นคาแรคเตอร์การ์ตูนที่มีบุคลิกน่าสนใจ น่าคบหาไปสู่ธุรกิจได้ เช่น
ทูสปอท คอมมิวนิเคชั่น เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนบลัดดี้ บันนี่ (Bloody Bunny) กระต่ายหน้าโหด ที่ไปเปิดคาเฟ่ จำหน่ายของที่ระลึก ชื่อ ทูสปอท สตูดิโอ (2spot studio) ในเซ็นทรัล
หรือ ชิวชีป (Shew sheep) แกะสีเหลืองจอมตะกละ ที่เดิมเป็นผู้ผลิตเกม เป็นแอพหนึ่งที่หายไปในตลาด จึงดึงเอาตัวกระต่ายเหลืองไปพัฒนาบุคลิก ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล เป็นแกะนักกิน นักชิมทั่วราชอาณาจักร ปรากฎว่า คนติดตามเพจนบนเพจ Eat All Day ยอดกดไลค์และคนติดตามขึ้นเกือบ2แสนคน เจ้าของจึงพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้า เป็นพันธมิตรกับคอตโต้ คิวเรียส (COTTO CURIOUS) ที่ชวนร่วมทุนทำคาเฟ่ “Eat All Day” ที่สยาม
สุมิตร สีมากุล ดีไซน์เนอร์และเจ้าของคาแรคเตอร์ Shew Sheep หรือคุณแกะมีชื่อไทยว่า “ชูชีพ” มองว่าคนไทยน่าจะพัฒนาต่อยอดบุคลิกความเป็นไทย ในแบบวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ โดยมีอาหารเป็นความโดดเด่นทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านทางคาแรคเตอร์แกะที่สร้างมูลค่าได้
หัวใจของความสำเร็จของชิวชีปที่เริ่มมีโฆษณาเข้ามาหา มีโอกาสทำสินค้าตั้งแต่ปีแรก ปัจจุบันแกะตัวนี้เกิดขึ้นมา3ปี รักษาจุดยืนของคอนเทนท์ที่พูดแต่เรื่องกิน ไม่อิงการเมือง หรือเรื่องข่าวดารา ที่ทำให้คนจดจำแตกต่างจากเพจทั่วไปที่เกิดขึ้นตามกระแสมีคนไลค์จำนวนมาก แต่ยังไม่มีตัวตนชัดเจน
ความโดดเด่นที่ลูกค้าญี่ปุ่นเข้ามาคอมเมนต์แกะตัวนี้อยู่ที่ความมีบุคลิกเฉพาะตัวที่เห็นการ์ตูนแล้วร้องอ๋อว่า แกะตัวนี้ช่างยียวน กวนเล็กๆ และช่างกิน แตกต่างจากผลงานทั่วไปที่ดูไม่ออกหากไม่ได้อ่านประวัติและเรืองราวตัวการ์ตูน
ตลาดญี่ปุ่นสนใจคาแรคเตอร์อย่างไทย เพราะแปลกใหม่ แตกต่าง น่าสนใจ เช่น ควายตัวดำนุ่งผ้าขาวม้า หรือแกะเหลืองตัวนี้ ก็มีความโดดเด่นชัดเจนในบุคลิก
สิ่งที่ทำให้คาแรคเตอร์ประสบความสำเร็จมาจากความคิดที่ต้องครบ ตั้งแต่ ดีไซน์ แบ็คกราวน์ สร้างเรื่องราวเนื่อหาที่สื่อสารกับคน การตลาด และการออกแบบสินค้า
“ดีไซน์และเรื่องราว คือความโดดเด่นที่เรารักษาจุดยืนเรื่องกินอย่างเดียวเพจนของเราคนไม่เยอะ แต่ค่อนข้างจะเป็นกลุ่มที่เหนียวแน่น ดังนั้นสิ่งสำคัญในการปั้นคาแรคเตอร์อยู่ที่การยึดถือแก่นของตัวการ์ตูน จุดเด่นให้ชัดเจน”
รวมถึงลา ฟลอร่า การ์ตูนสายพันธุ์ไทย ที่พัฒนาเจ้าหญิง ฉีกขนบเจ้าหญิงกระโปรงฟู สง่างาม แต่เจ้าหญิงของการ์ตูนไทยเป็น เจ้าหญิงจอมแก่น ขี้เล่น เป็นมิตร จริงใจเข้าถึงง่าย ลา ฟลอร่า เติบโตจากหนังสือการ์ตูน จนขยับไปสู่ แพลตฟอร์มแอนนิเมชั่น การ์ตูนสั้น ในยูทู้บ และสินค้าที่ระลึก รวมภาพวาดระบายสี รวมถึงขายลิขสิทธิ์การ์ตูนไปแล้วจนคนติดงอมแงมในต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย เกาหลี และใต้หวัน เพราะรสชาติแซ่บๆ แบบไทย
ปัจจุบันลา ฟลอร่า ผลิตหนังสือการ์ตูนราว20-30ชุด ยังไม่นับรวม จำหน่ายสินค้าที่ระลึกอีกเยอะแยะมากมาย
เทม สุธารส เนินปลอด ผู้อำนวยการสร้างสรรค์ (Creative Director) บริษัทจินจิน บริษัทลูกของ บริษัท อี คิว พลัส กรุ๊ป จำกัด เป็นหนึ่งในทีมงานผู้สร้างคาแรคเตอร์ ลา ฟลอร่า หรือชื่อไทยว่า แก๊งป่วนโรงเรียนเจ้าหญิง ที่เริ่มต้นจากไอเดีย การ์ตูนรสชาติไทย เล่าว่า สาเหตุที่ต่างชาติโดนใจการ์ตูนพันธุ์ไทย จนซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในประเทศตัวเอง เพราะประเทศเหล่านี้มีคอนเทนท์มากมาย จนเรื่องซ้ำวนไปมา ขณะที่คอนเทนท์จากไทยมีความเฉพาะตัว ในแบบฉบับไทยที่สนุกมีครบรส และมีความแซ่บแบบไทย
“เขามองหาคอนเทนท์รสชาติใหม่ๆจากประเทศอื่น และเมื่อลา ฟลอร่า มีแนวการนำเสนอแปลกใหม่ ที่ไม่เคยมีในต่างประเทศ เด็กๆ ในประเทศที่ซื้อไปจึงให้การต้อนรับดีมาก”
หนึ่งในไอเดีย คนสร้างคาแรคเตอร์ ลา ฟลอร่า เล่าว่า ทิวา ตัวเอกของเรื่องเป็นคนไทยที่ไม่ได้มีความเป็นคนไทยจ๋า ไม่คร่ำครึ ในวัฒนธรรมไทยโบราณ แต่ในแต่ละเรื่องราวก็สอดแทรกความเป็นไทยในสไตล์อยู่บ่อยครั้ง เช่น การที่ทิวา ต้องแต่งตัวชุดไทย บุคลิกของทิวายังจับต้องได้ เป็นเด็กร่าเริง แก่นแก้ว แต่ก็มีมุมอ่อนแอ เช่น แคร์เพื่อนเกินไปจนไปนั่งร้องไห้ หรือบางมุมที่ตัวละครมีปม เพราะไม่มีแม่ ทำให้เธอเป็นเด็กที่น่าสงสารและน่าค้นหา
ลา ฟลอร่า จึงเป็นการ์ตูนพันธุ์ไทยที่ได้รับการต้อนรับจากเด็กไทยโดยง่าย เพราะไม่นำเสนอแบบยัดเยียด ที่สำคัญเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวกว่าวิถีชีวิตการ์ตูนญี่ปุน เช่น คนญี่ปุ่นกินข้าวปั้น แต่ทิวา กินส้มตำปูปลาร้า
แผนการต่อยอดจากคอนเทนท์ของลา ฟลอร่า กำลังมองหาพันธมิตรร่วมธุรกิจเพื่อพัฒนาคอนเทนท์ร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะอุตสาหกรรมยังแคบ และเติบโตมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ขาดการเรียนรู้เป็นเครือข่าย จึงยากที่จะคุยกับนักลงทุนได้เข้าใจ
ที่สำคัญการพัฒนาคนในองค์กรที่เติบโตมาจากสำนักพิมพ์การ์ตูน ต้องปรับตัวให้เป็นรูปแบบ ดิจิทัลคอนเทนท์ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และที่น่าเสียดายคือ วิธีการนำเสนอ บอกเล่าเรื่องราว คอนเทนท์ทางธุรกิจ ยังอาจจะเข้าใจยาก
นั่นทำให้วิถีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลของ ลา ฟลอร่า เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ พัฒนาและหาประสบการณ์ และรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะผู้ที่เติบโตมาในอุตสาหกรรมนี้ยังไม่เข้าใจวิธีการพัฒนาโมเดลธุรกิจ ไม่ถนัดในการหาพันธมิตร นำเสนอผลงาน จึงหาผู้ร่วมวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจค่อนข้างยาก
“การเติบโตของอุตสาหกรรมไทยเป็นแบบต่างคนต่างโตจากวงการเล็กๆ ด้วยใจรักในการอ่านการ์ตูนจากคนเสพสื่อก็อยากพัฒนาคอนเทนท์สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นบ้าง แต่ยังขาดการเติมเต็มมุมมองทางธุรกิจ และส่วนใหญ่คนไทยยังเติบโตในเส้นทางด้านเทคนิคการทำการ์ตูน การวาดการ์ตูน มากกว่าการเป็นผู้คิด สร้างสรรค์และเล่าเรื่อง ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการสร้างคนให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม เพื่อเติบโตอย่างก้าวกระโดด คนไทยจึงต้องพัฒนาวิธีคิด(mindset)ให้เป็นนักสร้างสรรค์มากกว่าเป็นแรงงานมีฝีมือ”
จู้จี้ เวิร์ลก็เป็นหนึ่งคาแรคเตอร์การ์ตูนพันธุ์ไทย ที่คิดจากอดีตนักศึกษานำเสนอผลงานอาจารย์ แต่ไม่ผ่าน
ทว่า มาย ชุติกาญจน์ นาวาล่อง คนออกแบบ เกิดความหลงไหลในตัวการ์ตูนที่ตัวเองคิดขึ้นมา จึงไม่หยุดแค่เพียงความเห็นอาจารย์ ลองพิสูจน์สร้างความน่ารักของกระต่ายน้อย นามจู้จี้ ให้คนรัก และเอ็นดูกระต่ายเหมือนเธอ จึงร่วมกับบริษัท วิชเบอร์รี่ (wishberry)ปั้นกระต่ายน้อยในรูปแบบเพจ ชื่อ จู้จี้เวิลด์ (Joojee world) กระต่ายนักเที่ยว ที่พาไปชมที่เที่ยว และแนะนำเทศกาลวันสำคัญต่างๆและประเพณีแปลกในวันต่างๆ ของแต่ละประเทศ โดยให้จู้จี้เป็นกระต่ายเล่าเรื่อง
ศศพิชญ์ รุจิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิชเบอร์รี่ บริษัทผู้พัฒนาอนินิเมชั่น ที่เลือก จู้จี้ มาพัฒนาธุรกิจต่อยอด โดย1-2ปีแรกเป็นรูปแบบสื่อสารกับคนแบบให้อ่านฟรี และบริโภคฟรี เพื่อวัดกระแสตอบรับและวางรากฐานผู้บริโภค
เมื่อขึ้นปีที่3ในปีนี้ (2560)กำลังเดินไปสู่การพัฒนาธุรกิจโดยการบุกตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มต้นไปนำเสนอแนวคิดให้ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะเป็นตลาดเล็กๆ แต่ก็ยังถือว่าใหญ่กว่าไทย และคนญี่ปุ่นก็ต้องการคอนเทนท์ที่หลากลหาย
เสน่ห์ของ จู้จี้อยู่ตรงที่มีคาแรคเตอร์7ตัวที่มีบุคลิกหลากหลายแตกต่างกันมาอยู่ด้วยกัน จึงน่าสนใจ และที่น่าติดตามขึ้นไปอีก เมื่อเรื่องราวตัวการ์ตูน ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่อย่างเต็มๆ มีปล่อยลงในแฟนเพจแต่บางเสี้ยวบางตอน นั่นทำให้แฟนเพจเมืองไทยอยากติดตาม
เบนจี้(Benji) เป็ดมีหนวนเฟิ้ม จอมยียวน กวนประสาท ที่คิดและถอดแบบมาจาก นักแสดงหนุ่มบอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ จากการชักนำของเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนจากฮ่องกง และ เพลเฮาส์ ทำให้บอยที่วาดรูปไม่เป็นแต่ออกแนวคิดได้เข้าสู่ถนนคนปั้นคาแรคเตอร์ดีไซน์การ์ตูน ที่ผลิตโมเดลการ์ตูนออกมา 2 คอลเล็คชั่น ในราคาที่สูงถึง 8,900 บาท ในแบบลิมิเต็ด อิดิชั่น เพียงล็อตละ100ตัว ก็ขายหมดเกลี้ยง