ปั้นแพลตฟอร์มออนไลน์‘จองดนตรีสด’

ปั้นแพลตฟอร์มออนไลน์‘จองดนตรีสด’

ปัจจุบันวงการดนตรีบนโลกออนไลน์ มุ่งไปที่บริการฟังเพลงดาวน์โหลดและรับชมคอนเทนท์เป็นหลัก

แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเชื่อมโยงผู้ใช้และผู้รับบริการอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน จึงเป็นโอกาสการพัฒนา “บริการ”เกี่ยวกับโลกดนตรี ที่ยังมีช่องว่างจากไอเดียสร้างสรรค์ 

วสุพล สุทัศนานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ“เล่นสด” ธุรกิจบริการจองวงดนตรีแสดงสดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ กล่าวว่าความเป็นมาในการก่อตั้ง “เล่นสด” เริ่มต้นจากความชอบเล่นดนตรีกับเพื่อนๆสมัยเรียน ผนวกกับความสนใจที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ ที่จะช่วยสร้างคุณค่าในผลงานดนตรี และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างกับวงการดนตรีไทยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย  

จึงเกิดไอเดียกับเพื่อน คือ สรวิชญ์ วงศ์ปิยะ ร่วมกันก่อตั้งแพลตฟอร์มออนไลน์“เล่นสด” เพื่อเป็นพื้นที่ให้วงดนตรีและคนที่ต้องการจ้างงานวงดนตรีได้มีโอกาสมาพบปะกัน เกิดการจ้างงานและหางาน “การแสดงดนตรี สด” ผ่าน www.lensod.com ซึ่งยังเป็นช่องว่างที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อนในตลาด จึงได้เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ต.ค.ปีก่อน

“เล่นสด” เป็นโมเดลธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับวงดนตรีเล่นสดสำหรับผู้ว่าจ้างวงดนตรีทั่วไป และผู้หางานที่เป็นกลุ่มวงดนตรี โดยมีรูปแบบหารายได้จากการเก็บค่าคอมมิชชั่นผ่านทุกๆการจ้างงาน หรือทุก Transaction บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการพื้นที่เสมือนจริง (Virtual space) ซึ่งได้พัฒนามาจากการจับจุดความต้องการและการตอบสนอง หรือทำให้ดีมานด์ทั้ง2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคนหาวงดนตรีสดประเภทต่างๆไปเล่นตามงานเลี้ยง งานแต่ง งานวันเกิด อีเวนท์ ฯลฯ และฝ่ายนักดนตรีหรือวงดนตรีที่ต้องการหางาน หารายได้ ได้มาพบความต้องการที่สอดคล้องกัน ปัจจุบันมีนักร้องและวงดนตรีลงทะเบียนกับเว็บไซต์แล้ว 300 ราย

ฟังดนตรีสด”ดีมานด์สูง

แพลตฟอร์มออนไลน์ “เล่นสด” ชูจุดเด่นด้านการให้บริการดนตรีในรูปแบบการแสดงสด ที่ยังคงมีเสน่ห์ ไม่ว่าอุตสาหกรรมดนตรี จะเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างไร แต่ความต้องการฟังและรับชมความบันเทิงจากการเล่นวงดนตรีสดยังมีอย่างต่อเนื่อง 

รูปแบบที่ต้องมีคนมาร้องเพลง แสดงดนตรีให้ชมกันสดๆ จะให้อารมณ์หรือสร้างบรรยากาศที่แตกต่างจากการฟังเพลงทั่วไป

“จุดแข็งของ เล่นสด คือ เป็นการให้บริการที่มีไอเดีย จากคนที่มีความรู้และเข้าใจด้านดนตรี มีข้อมูลอินไซท์ มีองค์ความรู้เข้ามาลงมือทำ มาให้บริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สามารถแก้ pain point ของลูกค้าได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร และจะตอบโจทย์ได้อย่างไร"

โดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาความยุ่งยากที่ไม่สามารถเข้าถึงวงดนตรีเล่นสด หรือไม่รู้จะเริ่มหาวงดนตรีมาเล่นในงานได้ยังไง จากที่ไหน

“ไม่ว่ายุคสมัยดนตรี จะเปลี่ยนแปลงไปจากเทคโนโลยีขนาดไหน ดนตรีสดก็ยังคงอยู่ในทุกยุคทุกสมัย เพราะประสบการณ์ดนตรีสด ไม่สามารถดาวน์โหลดได้”

เจาะB2Bขยับสัดส่วนรายได้

วสุพล เล่าว่ายังมีแผนเจาะกลุ่มลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ประเภทออร์กาไนเซอร์มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้จากรูปแบบ B2B มากขึ้น นอกจากการหารายได้ในผู้ใช้บริการทั่วไป หรือ B2C เพราะมองว่าลูกค้าออร์กาไนเซอร์มีดีมานด์การจ้างงานต่อเนื่อง โดยจะรุกตลาด B2B ในเดือน มี.ค.นี้ 

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้รูปแบบ B2B จากเดิมมีสัดส่วนรายได้ 20% เพิ่มขึ้นเป็น 60% และรายได้ B2C จาก 80% เป็น 40% ในปีนี้

ที่ผ่านมาได้ศึกษาความต้องการของบรรดาออร์กาไนเซอร์ในเชิงลึก พบว่ามีความต้องการหาวงดนตรีที่มีรายละเอียดการเล่นดนตรีหลากหลาย ทั้งเชิงจำนวนวงผู้เล่น สไตล์การเล่นที่จะเหมาะสมกับงานที่จะจ้างวงดนตรี ซึ่งผู้จัดงานเหล่านี้ต้องการให้ทีมงาน“เล่นสด” เข้าไปช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำวงดนตรี ซึ่งก็มีความพร้อมการให้บริการ โดยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีมาช่วยคัดเลือกวงดนตรีเข้าสู่ระบบเว็บไซต์ ซึ่งถือเป็นการช่วยคัดกรองคุณภาพวงดนตรีที่จะเข้ามาในระบบได้มาก ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าที่ต้องการหาวงดนตรีไปแสดงในงานว่าจะได้มืออาชีพ

เพิ่มโอกาสหางานวงการดนตรี

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดรูปแบบการให้บริการของ “เล่นสด” ให้เป็น Virtual space ที่ทำให้คนในวงการดนตรีทุกรูปแบบ ทั้ง นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ช่างเทคนิควงการเพลง ฯลฯ ได้มีโอกาสมาติดต่อกัน เพื่อเพิ่มโอกาสหางานกับผู้ว่าจ้างมากขึ้น ด้วยการวางระบบให้ผู้ใช้บริการสามารถสร้างโปรไฟล์ ระบุความสามารถ ประเภทการรับงานในแพลตฟอร์มออนไลน์“เล่นสด” ได้มาปล่อยของ แผนพัฒนาการบริการเกี่ยวกับวงดนตรีทุกรูปแบบนี้ จะเปิดให้บริการในปีนี้

หลังเปิดให้บริการมาราว 4 เดือน มีผู้เข้าใช้บริการและเกิด Transaction งานแล้วกว่า 100 งาน เฉลี่ยการจองงานวงดนตรีไปเล่นกว่า 10 งานต่อวัน คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ใช้งานในระบบมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการจ้างงานวงดนตรีเพิ่มขึ้น 5 เท่าภายในปีนี้ หรืออยู่ที่ 50 งานต่อวัน

สำหรับอัตราจ้างงานแสดงวงดนตรีแต่ละงานขึ้นอยู่วงดนตรีเป็นผู้เสนอราคาผ่านหน้าเว็บไซต์ ในอนาคตมีแผนจะปรับแนวทางการเสนอราคาให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างงานให้กับวงดนตรี

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม“เล่นสด” มีนักลงทุนสนใจเข้ามาเจรจาเพื่อร่วมสนับสนุนเงินทุน ล่าสุดก็ได้รับเงินทุนพัฒนาธุรกิจจาก “ฟังใจ”ผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่ง ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจในเครือ OokBee U