จุดบรรจบ“ทุน-เอ็นจีโอ” โมเดลปั้น นักธุรกิจเพื่อสังคม
ทุนนิยมสุดโต่ง ประสังคมสุดขั้ว อาจไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ได้เท่ากับการปรับโหมดที่ทุนและเอ็นจีโอต้องหันหน้าเข้าหากัน
ที่ผ่านมาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังบ่อยคือ “นายทุน” กับ “ภาคประชาสังคม” หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO – Non Government Organization) มักอยู่กันคนละฝั่ง เป็นเส้นขนานที่ไม่อาจบรรจบ
นั่นเพราะทุน จะดีดลูกคิดรางแก้ว ยึดผลกำไรเป็นที่ตั้ง ขณะที่ภาคประชาสังคม คือผู้กดดันต่อต้านเรียกร้อง มองนายทุนคือ “ตัวร้าย” ผู้สร้างความเสียหายต่อคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผลที่ตามมา จากความคิดสุดขั้ว คือ การ “เสียสมดุล” จากช่องห่างของความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนคนรวยที่กว้างมากขึ้น เกิดความขัดแย้งทางความคิดหนัก ขณะที่ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่ถูกเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม
ทว่า ยังมีนักธุรกิจ ที่อยู่ “ระหว่างกลาง” ระหว่างทุนกับประชาสังคม พวกเขาเรียกตัวเองว่า "เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” (Social Venture Network Asia Thailand) โดยมี ปรีดา เตียสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแพรนด้า จิวเวลรี่ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจดังกล่าว
เมื่อครั้งที่เขามาแบ่งปันประสบการณ์ เรื่องราว การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ในงาน “ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นไปได้จริงหรือ?” ซึ่งจัดโดย เสมสิกขาลัย เจ้าตัวตอกย้ำความคิดว่า
เป็นหน้าที่ของธุรกิจที่ต้องมีส่วนร่วมดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิต สิทธิมนุษยชน และรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีระบบการบริหารจัดการโปร่งใส มีคุณธรรม
อย่างไรก็ตาม ความคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเริ่มเคลื่อนเข้าหาจุดสมดุลมากขึ้น หลังสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า ความรับผิดชอบทางสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวโน้มใหญ่ของโลก โดย “โคฟี่ อันนัน” เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้ประกาศปฏิญญาในปี 2000 ให้ธุรกิจทั่วโลกทำสัญญาประชาคม (Social Compact) 10 ประการ
กลายเป็น “แรงกระเพื่อม” ไปให้ภาคธุรกิจร่วมลงนามในปฏิญญาดังกล่าว เพราะหากไม่ยอมลงนามจะเป็นจุดบอดให้คู่แข่งในสินค้าเดียวกันที่ลงนามไปแล้ว ใช้เป็นข้ออ้างโจมตีแบรนด์คู่แข่งจนเสียภาพลักษณ์
“มีหลายบริษัทต่างวิ่งไปลงนามอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวพลาดรถไฟขบวน ไม่เช่นนั้นหากคู่แข่งลงนามขึ้นมา เราก็จะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาคนอื่น”
นับจากนั้น “จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม” เริ่มเกิดเป็นกระแสแรงขึ้นๆ แม้แต่ปรีดา ก็ถือเป็นธุรกิจไทยคนแรกๆที่เข้าไปร่วมลานามในปฏิญญาดังกล่าว โดยเพิ่มพันธกรณี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม
ขณะที่ปฏิญญาดังกล่าว ได้เพิ่มความตกลงจาก 10 ข้อ เป็น 17 ข้อใน 10 ปีต่อมา ประกอบด้วย 1. ขจัดความยากจน 2.ขจัดความอดยาก 3. การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4. การศึกษาที่มีคุณภาพ 5. ความเท่าเทียมทางเพศ 6. สุขาภิบาลและน้ำสะอาด 7. การมีพลังงานสะอาดใช้อย่างเพียงพอ 8. งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9. การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม 10. ลดความเหลื่อมล้ำ 11.สร้างชุมชนเมืองที่ยั่งยืน 12. การบริโภคและผลิตอย่างรับผิดชอบ 13. การดูแลเรื่องสภาพภูมิอากาศ 14. ดูแลทรัพยากรทางน้ำ 15.ชีวิตบนพื้นดิน 16. สร้างความสงบสุข ยุติธรรม และ 17.ต้องมีภาคีความร่วมมือผลักดันให้ถึงเป้าหมาย
นั่นคือโอกาสของการพัฒนาร่วมกันระหว่างทุน และภาคประชาสังคม เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีข้อจำกัดของตัวเอง ภาคธุรกิจก็ต้องมีส่วนพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืน
จุดแข็งของภาคธุรกิจ คือมี "เงินทุน” ขาดแต่องค์ความรู้ และประสบการณ์ เพราะธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Core Business) ที่คำนึงถึงกำไรสูงสุดจึงมองหาพันธมิตรที่เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานเพื่อสังคม ขณะที่ภาคประชาสังคม หรือ เอ็นจีโอ รวมถึงผู้ประกอบการสังคม มีองค์ความรู้การจัดการ ประสบการณ์ แต่ขาดเงินทุน ไม่มีรายได้ ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม
ที่สำคัญทั้งสองกลุ่มมีโจทย์ความต้องการทางการตลาดเหมือนกันคือ “ผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ”
นั่นจึงถึงเวลาที่องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงนักธุรกิจเพื่อสังคม ต้องปรับทัศนคติ เดินเข้าไปหาเงินทุน อ้างอิงถึงโจทย์ใหญ่ 17 ประการที่ทำปฏิญญาไว้
หากธุรกิจเพื่อสังคมที่สนับสนุนแล้วสำเร็จก็คุ้ม บริษัทก็มีชื่อเสียง มีการรายงานเข้าถึงคณะกรรมการบริหารก็มีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องทุกปี
“โอกาสเปิดแล้ว แต่วันนี้ต้องร่วมกันทำงานทั้งกับภาครัฐ และภาคธุรกิจ เข้าไปขอสนับสนุนงบประมาณแบบมีโปรแกรมรองรับ ดีกว่าขอไปเรื่อยๆ แล้วจบอย่างไม่มีศักดิ์ศรี”
โลกของทุนเริ่มเคลื่อนมาหาสังคมและธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นเดียวกันกัน เอ็นจีโอ ก็ต้องเปิดกว้างยอมรับ
ปรีดา มองว่า หมดยุคที่จะรังเกียจเดียดฉันท์ทุนนิยม เพราะทุนก็มีโจทย์ทำเพื่อสังคมเช่นกัน
ตามทฤษฎีที่ว่าโลกมี 5 สี เริ่มต้นจาก 3,000 ปีที่ผ่านมา เริ่มจาก “ไม่มีสี” มนุษย์มองกันเองเป็นอาหาร
มาสู่ยุคเริ่มต้น “สีขาว” ที่คนเริ่มมองเห็นแสงสว่าง ถูกต้อง เชื่อหมอสอนศาสนา ไม่ว่าพระเจ้า หรือ พระสันตะปาปา
และเปลี่ยนเป็น "สีแดง” ในยุคที่กาลิเลโอค้นพบว่าโลกแยกตัวออกจากมาจากเป็นสุริยะจักรวาล สู่ยุคล่าเมืองขึ้นควบคุมฝูงชนที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเรืองอำนาจ
ต่อมาเปลี่ยนเป็น “สีน้ำเงิน” ในยุคที่กษัตริย์ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจเหนือชีวิตมนุษย์
และยุค “สีเขียว” คือ ยุคประชาชนลุกขึ้นมาต้องการความเท่าเทียมและประชาธิปไตย
ขณะที่โลกที่กำลังเคลื่อนไปสู่อีกยุค “สีส้ม” คือการเปลี่ยนผ่านมนุษย์เริ่มมีจิตสำนึก และกลมกลืนกับธรรมชาติ สู่อารยธรรมที่ดีงาม
“อนาคตธุรกิจถูกกระแสสังคมสร้างข้อบังคับ สอดรับทฤษฎีสี เพราะธุรกิจไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทำงานกับภาคประชาสังคม เช่น ร่วมงานแบบรับบริหารโครงการ ธุรกิจพร้อมส่งพนักงานเข้ามาช่วยทำงาน แม้ต่างวัฒนธรรม แต่มีแนวโน้มเข้าหากันมากขึ้น จึงไม่ควรเกลียดชังธุรกิจ เพราะแนวโน้มจะเคลื่อนมาหากันมากขึ้น”
ภาคประชาสังคม จึงไม่ต้องเป็นกังวลว่า ธุรกิจจะไม่ปลื้มอย่างในอดีต เพราะพฤติกรรมของภาคธุรกิจเปลี่ยนไปจากกดขี่เป็นยอมรับ และต้องการมือพันธมิตรทำงาน ปรีดาเชื่อเช่นนั้น
“พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา หากความต้องการตรงกัน ไม่ใช่หาสตางค์แบบเดิมที่ไปขอคนนั้น 5 หมื่น คนนี้อีก 5 หมื่น แล้วปีต่อไปขอใคร จึงต้องดึงให้ธุรกิจสายหลักเดินตามสหประชาชาติ และให้อำนาจการบริหารจัดการกับภาคประชาสังคม ในตำแหน่งกรรมการ ผู้มีอำนาจบริหาร เพราะนอกจากศักดิ์ศรีที่ทำงานช่วยเหลือองค์กรธุรกิจในด้านที่ถนัดตามอุดมการณ์แล้ว ยังมีโอกาสได้ค่าตอบแทนที่สูง และได้ทำงานที่รัก"